SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 9 มกราคม 2564 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5398)

สายน้ำ 09-01-2021 03:43

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 9 มกราคม 2564
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-6 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลสุขภาพจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรงโดยอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 13 ม.ค. 64


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศเย็นกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-29 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 9 - 12 ม.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลงต่อเนื่อง 5-8 องศาเซลเซียส กับมีอากาศหนาวเย็นลงและมีลมแรงโดยเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในวันถัดไป

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-4 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 13 - 14 ม.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลง ทำให้ฝนลดลงและคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 9 - 12 ม.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออกขอให้ประชาชนบริเวณที่อาศัยอยู่ตามบริเวณชางฝั่งระมัดระวังอัตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง และชาวเรือบริเวณอ่าวไทยขอให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่ง



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "อากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทยตอนบนและคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2564)" ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 09 มกราคม 2564

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวเย็นลง กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-6 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภู มีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณชายฝั่งภาคใต้ ฝั่งตะวันออก ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 13 ม.ค. 64



https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

สายน้ำ 09-01-2021 05:48

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ผลวิจัยชี้มลพิษทางอากาศ ทำหญิงเอเชียใต้มีอัตราแท้งสูง

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

จากการศึกษาครั้งใหม่ในวารสาร The Lancet Planetary Health นักวิจัยพบว่า มลพิษจากฝุ่นละอองในอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศอาจอยู่เบื้องหลังทารกตายในครรภ์และการแท้งบุตรหลายแสนคนต่อปี ดร.เทาซู่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลการสำรวจสุขภาพและครัวเรือนตั้งแต่ปี 2541-2559 จากผู้หญิงในอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศที่สูญเสียการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งครั้งและการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง ผู้หญิงในเอเชียใต้มีอัตราการสูญเสียการตั้งครรภ์สูงที่สุด และเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีมลพิษ PM 2.5 มากที่สุดในโลก คุณภาพอากาศที่ไม่ดีอาจเป็นสาเหตุของการสูญเสียการตั้งครรภ์ในภูมิภาคนี้

PM 2.5 ประกอบด้วยอนุภาคขนาดเล็กมากในอากาศที่เป็นพิษ มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ปัญหาระบบทางเดินหายใจ หัวใจ และพัฒนาการทางสมองในเด็ก พัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์มารดา และมลพิษอย่างคาร์บอนมอนอกไซด์ยังมีส่วนเกี่ยวกับทารกตายในครรภ์และการแท้งที่เกิดขึ้นเอง PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรยังเพิ่มโอกาสในการแท้งอีก 3% ผู้หญิงสูงอายุในชนบทหรือหญิงสาวจากเมืองใหญ่มีความเสี่ยงมากที่สุด นักวิจัยยังคาดว่าตั้งแต่ปี 2543-2559 การสูญเสียการตั้งครรภ์ 349,681 ครั้ง เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศที่เกินมาตรฐานของอินเดีย นับเป็น 7% ของการแท้งทั้งหมดในภูมิภาคในช่วงเวลานั้น นอกจากนี้ยังพบว่ามลพิษทางอากาศของอินเดียส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1.67 ล้านคนในปี 2562 ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในโลก.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2008623


สายน้ำ 09-01-2021 05:53

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ทำลายสถิติแม่เต่ามะเฟืองพาเหรดขึ้นวางไข่พังงา-ภูเก็ตแล้ว 14 รัง

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

พังงา - ทำลายสถิติการขึ้นวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง ล่าสุด ในพื้นที่พังงา-ภูเก็ต พบมาวางไข่แล้ว 14 รัง มากกว่าช่วงเดียวกันกับฤดูกาลที่ผ่านมา ขณะที่ลูกเต่ามะเฟืองรังที่ 3 ฟักออกจากไข่อีก 90 ตัว

สำหรับสถานการณ์การขึ้นวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง ที่พาเหรดกันขึ้นมาวางไข่ในช่วงฤดูกาลนี้ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ประมาณเดือน พ.ย.63 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้พบว่าเป็นตัวเลขที่ดีมาก แม่เต่ามะเฟืองทยอยขึ้นมาวางไข่อย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้พบว่ามีแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่แล้ว จำนวน 14 รัง ทั้งในพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต โดยขณะนี้มีไข่เต่ามะเฟืองที่ฟักออกจากไข่แล้วจำนวน 3 รัง

อย่างไรก็ตาม สำหรับการพบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่รังที่ 14 ซึ่งเป็นรังล่าสุด นั้น ทางเจ้าหน้าที่กรม ทช. โดยศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟืองหาดบางขวัญ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา พบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยจุดที่วางไข่อยู่ห่างจากหลุมไข่รังที่ 1 ไปทางทิศใต้ประมาณ 120 เมตร นับเป็นรังที่ 14 ของฤดูกาลนี้ และเป็นรังที่ 9 ของหาดบางขวัญแห่งนี้

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

เจ้าหน้าที่ได้วัดขนาดรอยพบความยาวจากพายซ้ายไปพายขวา 210 ซม. ความกว้างช่วงอก 100 ซม. คาดว่าเป็นแม่เต่ามะเฟืองตัวเดิมที่เคยขึ้นวางไข่ที่หาดบางขวัญแล้วหลายครั้ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ขุดตรวจสอบหลุมวางไข่ พบที่ระดับความลึก 70 ซม. อยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม จึงไม่มีการย้ายรัง จากนั้นจึงติดตั้งเครื่องมือวัดอุณหภูมิ จัดทำคอกไม้ไผ่ และเฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัย รอลูกเต่ามะเฟืองฟักในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2564 ต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าการขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟืองในพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ตพบว่า ฤดูกาลนี้ได้มีการทำลายสถิติการวางไข่เกิดขึ้น เนื่องจากในช่วงฤดูกาลการวางไข่ของเต่ามะเฟืองของปีที่ผ่านมา พบว่ามีเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ จำนวน 13 รัง แต่ปีนี้มีแม่เต่าขึ้นมาวางไข่แล้ว จำนวน 14 รัง และคาดว่าจะยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

นอกจากนั้น ในช่วงวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา มีเรื่องที่น่ายินดีเกิดขึ้น เนื่องจากลูกเต่ามะเฟืองรังที่ 3 ที่แม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่บริเวณหาดบางขวัญ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 63 ที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ขุดหาจุดที่แม่เต่าวางไข่ไม่พบ จึงได้แต่ล้อมรั้วไว้ จนครบ 58 วัน ได้ฟักออกจากไข่แล้วทยอยเดินลงทะเลรวม 90 ตัว ส่วนไข่ที่เหลือในรังเป็นไข่ที่มีจำนวนไม่ได้รับการผสม 19 ฟอง และไข่ลมอีก 25 ฟอง รวมไข่รังนี้ 134 ฟอง


https://mgronline.com/south/detail/9640000001663


*********************************************************************************************************************************************************


งานวิจัยพลาสติกที่น่าสะพรึง! พบไมโครพลาสติกในรกของหญิงตั้งครรภ์

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

เมื่อไม่นานนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบไมโครพลาสติกอยู่ในรกของหญิงตั้งครรภ์ ถึงแม้ยังไม่ทราบผลกระทบที่แน่ชัด แต่ก็เป็นการค้นพบที่น่าวิตกกังวลมาก

เพราะอนุภาคเล็กๆ ของไมโครพลาสติกอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในระยะยาว เช่นอาจไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของทารกในครรภ์ ไม่ว่าคนเป็นแม่บริโภคหรือหายใจเข้าไปก็ตาม

จากการศึกษาพบอนุภาคไมโครพลาสติกในหญิงตั้งครรภ์ทั้ง 4 คนที่ตั้งครรภ์และคลอดลูกตามปกติ โดยพบอนุภาคในรกของทั้งฝั่งเด็ก และคุณแม่ รวมถึงพังผืดที่พัฒนาตัวเด็กตอนยังอยู่ในครรภ์

ด้วยขนาดของไมโครพลาสติกที่เล็กเพียง 10 ไมครอน หรือเท่ากับ 0.01 มิลลิเมตรเท่านั้น ทำให้มันสามารถแทรกซึม และไหลเวียนไปกับกระแสเลือดของมนุษย์เราได้

จากงานวิจัยที่พบไมโครพลาสติกนั้น นักวิจัยทำการศึกษาไปเพียง 4% ของแต่ละรกเท่านั้น แต่คาดว่าจำนวนไมโครพลาสติกทั้งหมดอาจะอยู่ในปริมาณที่สูงกว่านั้น

ข้อสรุปจากงานวิจัยล่าสุด กล่าวว่า "เนื่องจากรกมีความสำคัญต่อการพัฒนาของทารกขณะตั้งครรภ์ และยังทำหน้าที่เชื่อมต่อทารกกับสิ่งเเวดล้อมภายนอก การค้นพบอนุภาคไมโครพลาสติกนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจอย่างมาก แต่ยังจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ว่าไมโครพลาสติกจะส่งผลต่อระบบร่างกาย หรือเป็นอันตรายอย่างไร"

ปีที่ผ่านมา งานวิจัย No Plastic in Nature: Assessing Plastic Ingestion from Nature to People ที่ WWF ร่วมทำกับมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย พบว่า :

"มนุษย์บริโภคพลาสติกขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายประมาณ 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ คิดเป็นปริมาณพลาสติกกว่า 2,000 ชิ้น หรือ 21 กรัมต่อเดือน หรือ 250 กรัมต่อปี"

ปัจจุบัน ชีวิตประจำวันของเรานั้นรายล้อมไปด้วยผลิตภัณฑ์พลาสติก เราบริโภค และหายใจเอาอนุภาคเล็กๆ ของไมโครพลาสติกเข้าร่างกายโดยไม่รู้ตัว นอกจากการช่วยกันลดใช้พลาสติกแล้ว การกำจัดและรีไซเคิลพลาสติกหลังใช้งานอย่างถูกต้องก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน




https://mgronline.com/greeninnovatio.../9640000001912


สายน้ำ 09-01-2021 05:57

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


โควิด-19 : ผลกระทบที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

เมื่อโควิด-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ขึ้นทั่วโลก การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ลดต่ำลงอย่างมาก แต่นี่เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นหรือจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

โควิด-19 เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้นทั่วโลก ผู้คนขับขี่ยวดยานพาหนะลดลง มีการระงับเที่ยวบินจำนวนมาก และอุตสาหกรรมต้องปิดตัวลง

คุณอาจเห็นถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับคุณภาพอากาศในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดบางแห่ง แต่สิ่งที่คุณมองไม่เห็นอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การปล่อย CO2 ลดต่ำลง เพราะการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ปริมาณ CO2 ที่ลดน้อยลงในรอบนี้ลดลงมากกว่าที่เคยเกิดในช่วงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาในอดีตรวมถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟังดูเหมือนจะเป็นข่าวดีสำหรับสภาพภูมิอากาศของเรา แต่มันไม่ง่ายขนาดนั้น

ถ้าลองเปรียบการปล่อยคาร์บอนว่าเป็นการเปิดน้ำจากก๊อกลงอ่างอาบน้ำ ปีนี้ ก๊อกน้ำเปิดไม่ได้เต็มที่ น้ำ หรือว่า CO2 ไหลช้าลง แต่ก็ยังทำให้น้ำเต็มอ่างได้อยู่ดี

ความจริง ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์มากที่สุดการกระจุกตัวของ CO2 ในชั้นบรรยากาศ เพิ่มขึ้นไปถึงระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์มนุษย์

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds
ช่วงที่เศรษฐกิจกลับมาเปิดตัวอีกครั้ง แนวโน้มการปล่อย CO2 ก็กลับมาเพิ่มขึ้นด้วย

พืชและน้ำทะเลช่วยดูดซับ CO2 ไว้ แต่ต้องใช้เวลา เพราะ CO2 ที่ถูกปล่อยออกมาในปัจจุบัน จะยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นเวลาหลายร้อยปี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องลดการปล่อย CO2 ลงในระยะยาว เพื่อแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศให้เกิดผลจริง

เราได้เห็นแล้วว่า ช่วงที่เศรษฐกิจกลับมาเปิดตัวอีกครั้ง แนวโน้มการปล่อย CO2 ก็กลับมาเพิ่มขึ้นด้วย

การเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงาน อุตสาหกรรม และการเดินทางในช่วงโควิด จำเป็นต้องเป็นไปอย่างถาวร เพื่อที่จะทำให้การปล่อย CO2 ลดลงอีกครั้ง เพราะแม้แต่ในช่วงที่โลกให้ความสนใจกับเรื่องไวรัสโคโรนาอยู่นั้น ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปี 2020 ผ่านพ้นไปแล้ว และเป็นหนึ่งในปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติไว้ ดังนั้นปริมาณการปล่อย CO2 ที่ลดลง เพราะระบาดใหญ่ของโควิด-19 จะช่วยให้เราสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน


https://www.bbc.com/thai/international-55573763



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:21

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger