SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2565 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=6047)

สายน้ำ 16-09-2022 02:31

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2565
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 17 - 21 ก.ย. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 15 - 16 ก.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบน ประเทศลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 21 ก.ย. 65 ร่องมรสุมจะมีกำลังแรงขึ้นและเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ตลอดช่วง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับในช่วงวันที่ 17 - 21 ก.ย. 65 ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย(มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 17 ? 21 กันยายน 2565)" ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 16 กันยายน 2565

ในช่วงวันที่ 17 - 21 ก.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีลมกระโชกแรงบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

วันที่ 17 กันยายน 2565

ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด


ในช่วงวันที่ 18 - 19 กันยายน 2565

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี ยโสธร ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ระนอง และพังงา


ในช่วงวันที่ 20 - 21 กันยายน 2565

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด


สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 16-09-2022 02:34

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


วิจัยพบ เต่าทะเล ถูกสังหารมากกว่า 1.1 ล้านตัวในรอบ 30 ปี

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ข้อมูลล่าสุดจากงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Global Change Biology ระบุว่า เต่าทะเล มากกว่า 1.1 ล้านตัวถูกสังหารอย่างผิดกฎหมายในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา โดยนักวิจัยเผยว่าความต้องการนำเต่าไปทำสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นปัจจัยผลักดันที่ทำให้เกิดการซื้อขายเต่ากระ และเต่าตนุทั่วโลก ตอกย้ำความจำเป็นในการยกระดับมาตรการคุ้มครองเต่า

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Arizona State ประมาณการว่า เต่าทะเล ราว 44,000 ตัวใน 65 ประเทศทั่วโลกถูกฆ่าและนำไปใช้ประโยชน์อย่างผิดกฎหมายทุกปีตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองก็ตาม

Jesse Senko อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Arizona State และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยฉบับดังกล่าวระบุว่า แม้ว่าจำนวนเต่าที่ถูกสังหารตามรายงานจะสูงมาก แต่ยังไม่ได้สะท้อนจำนวนของเต่าที่ถูกฆ่าทั้งหมดอย่างแท้จริง เพราะการประเมินว่าเต่าถูกนำไปทำอะไรอย่างผิดกฎหมายนั้นมีขอบเขตที่กว้างมากและยากที่จะประเมินได้อย่างครบถ้วน

ดังนั้นในการวิจัยนี้ นักวิจัยจึงศึกษาวารสารทางวิชาการ รายงานในสื่อแบบสอบถาม และรายงานของสถาบันอนุรักษ์ต่างๆ จำนวนมากกว่า 209 ฉบับเพื่อระบุขอบข่ายการล่าเต่าอย่างผิดกฎหมาย โดยศึกษาการฆ่าเต่าเพื่อหวังเต่าทั้งตัว และเพียงเพื่ออวัยวะบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็น หัว หาง หรือกระดอง รวมถึงการลักลอบและพยายามค้าเต่าข้ามประเทศ

ทั้งนี้ เต่าทะเลมักถูกล่าเพื่อนำมาทำอาหาร ยาในการแพทย์แผนโบราณ และนำมาขายเป็นวัตถุโบราณ เครื่องประดับ หรือแม้กระทั่งอัญมณี องค์การสหประชาชาติระบุว่า การล่าและลักลอบค้าเต่าถือเป็นการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่มีมูลค่าทางตลาดสูงถึง 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

Jesse Senko กล่าวว่า แม้ว่างานวิจัยจะพบหลักฐานยืนยันการลักลอบค้าเต่าจำนวนเกือบ 43,000 ตัวในช่วงระหว่างปี 2533 ถึง 2543 แต่ทั้งหมดนี้ก็น่าจะยังห่างไกลจากจำนวนที่แท้จริงอยู่มาก

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศมาดากัสการ์เป็นแหล่งยอดนิยมของการล่าเต่าทะเล โดยพบว่าส่วนใหญ่เวียดนามเป็นประเทศต้นทางของการลักลอบค้าเต่า มีจีนและญี่ปุ่นเป็นตลาดปลายทางที่นิยมผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเต่า

Jesse Senko เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะยังดำเนินกิจกรรมการลักลอบค้าเต่าต่อไปตราบใดที่ยังมีความต้องการนำเต่ามาทำสินค้าฟุ่มเฟือยจากประเทศที่มีรายได้มากกว่า

ประมาณ 95% ของเต่าที่ถูกล่ามาจากสองสายพันธุ์หลักๆ คือ เต่าตนุและเต่ากระ ทั้งนี้เป็นเพราะเต่าตนุมีเนื้อรสชาติอร่อย และเต่ากระมีกระดองที่สวยงาม โดยเต่าตนุได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ขณะที่เต่ากระขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต

อย่างไรก็ตาม การวิจัยก็ยังพบด้านดีอยู่บ้าง กล่าวคือ พบการนำเต่าไปใช้อย่างผิดกฎหมายลดลง 28% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยเชื่อว่าตัวเลขที่ลดลงนี้เป็นผลมาจากการออกกฎหมายคุ้มครองเต่าที่เข้มงวดมากขึ้น

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังเผยให้เห็นข้อมูลใหม่ที่ระบุถึงชนิดของเต่าที่ตกเป็นเป้าหมายและพื้นที่ของการล่า ซึ่งจะช่วยให้นักอนุรักษ์และนักกฎหมายทำงานเพื่อคุ้มครองประชากรเต่าได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งนักวิจัยย้ำว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นสิ่งที่มีผลต่อการลักลอบค้าเต่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะตราบใดที่ยังมีความต้องการจากประเทศที่ร่ำรวยกว่า การค้าเต่าจากประเทศที่ยากจนกว่าคงจะไม่มีทางหมดไปได้


https://dxc.thaipbs.or.th/news/%e0%b...8%b2%e0%b8%99/



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:43

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger