ดูแบบคำตอบเดียว
  #7  
เก่า 22-02-2011
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default

ดร.อาภายังกล่าวอีกว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะไม่ดำเนินโครงการในตอนนี้ เพียงแค่ให้ไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในช่วง 6 เดือนนั้น ตนคิดว่าเป็นยาหอมที่ท่านนายกฯ หยอดแก่คนปักษ์ใต้ คือพูดไปอย่างนั้น แต่ลับหลังก็ลงมือเร่งทำ เพราะเสียงบประมาณลงทุนไปกับการศึกษา eia ไม่ใช่น้อยแล้ว โดยงบทั้งหมดที่จะใช้สร้างท่าเทียบเรือนี้อยู่ที่ 37,479 ล้านบาท แบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกปี 2553-2557 ใช้งบ 22,563 ล้านบาท และช่วงนี้รัฐก็เร่งโหมประชาสัมพันธ์แต่ด้านดีให้คนสตูลรับทราบ


"น่าเสียดายว่าไทยเรามีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ เราสามารถยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจชุมชน ที่พึ่งพาอาศัยทรัพยากรเหล่านี้ได้ไปจน ตายแถมตกทอดถึงลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นด้านประมงพื้นถิ่น การท่องเที่ยว ฯลฯ แต่ฝ่ายบริหารของประเทศกลับเอาภาษีของคนไทยไปสร้างอุตสาหกรรม ทำลายระบบนิเวศ ชาวบ้านตาย แต่กลุ่มนายทุนกลับได้รับผลประโยชน์ อย่างนี้ถือว่าไม่ยุติธรรม ชาวสตูลควรลุกขึ้นทวงถามสิทธิ์อันชอบธรรมของตัวเอง และรัฐก็ควรให้ข้อมูลครบทั้งสองด้าน ไม่ใช่ให้แต่ด้านดีหลอกชาวบ้าน เพื่อ ให้เขาตัดสินใจว่าเอาหรือไม่ ยอมรับได้กับสิ่งที่บ้านเกิดจะกลายเป็นมาบตาพุดแห่งที่ 3 หรือเปล่า"


ถัดจากเสียงนักวิชาการที่ฉายภาพให้เห็นเสียงของคนพื้นที่อย่าง อารีย์ ติงหวัง วัย 53 ปี และ หมาด ติงหวัง วัย 56 ปี ชาวบ้านบ้านล้อมปืน ต.ละงู ยืนยันว่า พวกเขาไม่เคยอยากได้โรงงาน อุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมารัฐไม่เคยให้ข้อมูลอะไรแก่ชาวบ้าน แม้แต่ข้าราชการท้องถิ่นก็ ยังไม่รู้ บอกแต่เพียงว่าจะสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่จะนำเอาความเจริญมาให้ ไอ้เราก็ดีใจ แต่พอมารู้ทีหลังว่าจะมีอะไรตามมาบ้าง แล้วยิ่งเคยไปเห็นที่มาบตาพุดจริงๆ มาแล้ว ก็ส่ายหน้ายืนยันว่าไม่เอาแล้วท่าเรือน้ำลึกปากบารา


"ลุงไม่เชื่อเด็ดขาดว่าถ้าสร้างท่าเรือแล้วชาวบ้านจะมีกินมีอยู่ เอาแค่ตัวอย่างธุรกิจสายเคเบิลใยแก้วที่เพิ่งมาตั้งอยู่ที่อ่าวละงู คนพื้น ถิ่นได้ไปทำงานแค่ 2 คน ในฐานะเป็นยามเฝ้า ส่วนตำแหน่งบริหารสูงๆ เขาก็ดึงมาจากกรุงเทพฯ แล้วถ้าเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ต้องใช้ทักษะและฝีมือสูง ก็คงดึงเจ้าหน้าที่เฉพาะทางจากกรุงเทพฯ และถ้าเป็นกลุ่มแรงงานก็มีบริษัทรับเหมาแรงงานต่างด้าวอยู่แล้ว จะตกถึงมือคนท้องถิ่นก็คงเป็นพวกแบกหามเท่านั้น"


ลุงอารีย์ชี้ให้เห็นความสูญเสียของชาวบ้านอีกว่า นี่ยังไม่รวมถึงอาชีพประมง พื้นถิ่นกว่า 2,000 ครอบครัวอาจสูญหายไป เพราะแบกรับต้นทุนที่ต้องออกเดินเรือไปหากินในพื้นที่ ไกลออกไปไม่ไหว แถมบางส่วนก็ยังเป็นเรือประมงขนาดเล็กจำนวนมาก ที่ไม่สามารถ ออกไปหากินนอกอ่าวละงูตรงปากบาราได้ อาหารการกินตามธรรมชาติก็ไม่มี ต้องควักเงินซื้อ บ้านเรือนประชาชนก็ถูกเวนคืนในราคาถูกเพราะต้องนำที่ไปสร้างเส้นทาง คมนาคม ส่งผลให้ผู้คนไม่มีที่อยู่ที่ทำกิน เกิดเป็นความเครียดกลายเป็นปัญหาสังคม ฯลฯ ปัญหาที่ส่อเค้าว่าจะเกิดขึ้นตรงนี้ รัฐเคยคิดถึงหรือมีแนวทางแก้ปัญหาหรือไม่


"พวกผมพอใจกับวิถีชีวิตพอเพียงแบบนี้ กับรายได้ขั้นต่ำเพียง 70,000 บาท/ครอบครัว/ปี แต่เรามีอยู่มีกิน อาหารไม่ต้องซื้อเพราะหาจับเองได้ และเอามาแบ่งปันกัน เงินทองก็ไม่ต้องฟุ้งเฟ้อไปกับวัตถุนิยมปลอดอาชญากรรม แถมยังไม่ต้องเสี่ยง กับสุขภาพแย่ๆ ที่เกิดจากมลพิษสารพิษในเมืองอุตสาหกรรม ที่อาจรั่วไหลออกมาเหมือนกับกรณี ที่มาบตาพุด ซึ่งชาวบ้านกลัวมากกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น หลายคนถึงกับออกปากว่าเราจะไม่เป็นอย่างมาบตาพุด" ลุงอารีย์กล่าว


ด้านลุงหมาดกล่าวเสริมว่า ตอนนี้รัฐจะมาหลอกอะไรพวกเราไม่ได้แล้ว เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มรับรู้ข้อมูล จากเมื่อสองปีที่แล้วมีเพียงเครือข่ายประมง 10 หมู่บ้าน ราว 1,000 ครัวเรือนที่ลุกขึ้นมาต่อต้าน มาต้นปีจนถึงตอนนี้ก็ 6 เดือนแล้ว ที่คนสตูลทั้ง 7 อำเภอ ไม่ว่าจะเป็น ละงู มะนัง ควนกาหลง ควนโคน ท่าแพ ทุ่งหว้า และ อ.เมือง ต่างยืนยันว่าเราไม่เอาท่าเรือน้ำลึกปากบาราและนิคมอุตสาหกรรม และเราก็จะรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้คนได้รู้ข้อเท็จจริงต่อไปเรื่อยๆ อีกด้วย


"ถ้ารัฐยังดื้อดึงทำต่อไป พวกเราที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายประชาชนติดตามแผน พัฒนาจังหวัดสตูล ก็จะคัดค้านให้ถึงที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งก็เชื่อว่าแผนดังกล่าวจะยังคงอยู่ พวกเราก็จะไม่โหวตให้กับพรรคการเมืองที่ดำเนินโครงการนี้ หรือไม่ก็ถ้ารัฐจะ สร้างให้ได้ เราก็จะยื่นข้อแลกเปลี่ยนโดยยกโซนทะเลในแถบเกาะตะรุเตา และโซน บกในแถบทะเลบันติดชายแดนมาเลเซียไว้เป็นที่ทำมาหากินและอยู่อาศัย"

ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นยังส่งผลกระทบด้านระบบนิเวศวิทยาด้วย สมบูรณ์ คำแหง หนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล พาลงพื้นที่เพื่อให้เห็นว่าส่วนใดบ้างที่จะได้รับความเสียหาย อันดับแรกคือ การขุดทรายชายฝั่งที่บ้านบ่อ 7 ลูก และบ้านหัวหินแห่งละ 10 ล้านคิว เพื่อไปถมที่สร้างท่าเรือ ซึ่งจุดนี้ถือว่าละเอียดอ่อน หน้าดินชายฝั่งเป็น แหล่งอาหารและอนุบาลลูกสัตว์ทะเล ถ้าหน้าดินถูกขุดไปทั้งระบบนิเวศและภูมิทัศน์ก็เปลี่ยนแปลง ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะเป็นเหมือนเดิม นั่นหมายความว่าจำนวนสัตว์ทะเลก็น้อยลง ไปด้วย แล้วชาวบ้านจะอยู่ยังไง ในที่นี้รวมถึงพื้นที่ที่จะสร้างท่าเรือที่ อยู่ใกล้กับเกาะเขาใหญ่ และเกาะลิดี ที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ ทั้งป่าชายเลน แนวปะการัง เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำเช่นกัน ถ้าสร้างท่าเรือไปแล้วเกิดผลกระทบขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ แล้วระยะเวลากว่าจะทำให้สมบูรณ์เหมือนเดิมอีกครั้ง ที่ชาวบ้านเขาจะใช้พึ่ง พาอาศัยต้องรออีกกี่สิบปี หรือแม้แต่หน้ามรสุมที่ออกเรือไปไกลๆ ไม่ได้ ต้องอาศัยหน้าอ่าวจับปูปลา ถ้ามีท่าเรือแล้วเขาจะไปจับปูปลาหาเลี้ยงชีพได้ที่ไหน


อีกส่วนหนึ่งที่เดือดร้อนไม่แพ้กันก็คือ การถูกเวนคืนที่ดินสำหรับสร้างทางรถไฟที่บ้านแม่มาลัย โดยชาวบ้านบอกว่าเขามาวัดพิกัด gps ตอกหมุดเรียบร้อย เหลือเพียงเดินหน้าเวนคืนที่ดิน ซึ่งชาวบ้านก็ร้องเรียน ว่าแล้วจะให้พวกเขาไปอยู่กันที่ไหน เพราะที่นี่เป็นบ้าน เป็นผืนดินที่ตกทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ทำไร่ ทำเกษตรอยู่ตรงนี้ ไล่ที่ไปแล้วเขาจะไปทำอะไร ยังไม่รวมถึงปัญหาการระเบิดภูเขา ที่อาจทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เนื่องจากภูเขาเป็นที่บังลมบังฝน และนำพา ความชุ่มชื้นให้ควบแน่นกลายเป็นฝนตามฤดูกาล ถ้าภูเขาไม่มี การเกษตรของชาวบ้านก็คงเฉาตาย ฯลฯ ทั้งหมดกลายเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบจากรัฐ เพราะรัฐไม่เคยวางแผนรองรับในเรื่องนี้ไว้


"ผมคิดว่าสำหรับชาวสตูลแล้ว วิถีการทำประมงชายฝั่ง ทำเกษตรกรรม ปลูกยาง ปลูกปาล์ม และการท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนสตูลได้อย่างไม่อด อยาก ไม่เหมือนแผนพัฒนาที่รัฐโยนมาให้เหมือนถูกหวย แต่กลายเป็นหวยที่ชาวบ้านไม่ได้เงิน ไม่ได้อะไรเลย แถมยังถูกกินเรียบอีกต่างหาก แต่ยังโชคดีที่ว่าช่วงนี้การเมืองไม่นิ่ง ทำให้รัฐเดินหน้าโครงการลำบาก เชื่อว่าหากบ้านเมืองสงบ โครงการแลนด์บริดจ์จะไปไกลกว่าที่คิดแน่นอน หนทางรับมือในตอนนี้ชาวบ้านก็ได้แต่เฝ้าระวังเท่านั้น"


ขอบคุณข้อมูลจาก....http://www.thaipost.net/sunday/110710/24691
__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 22-02-2011 เมื่อ 11:43
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม