ดูแบบคำตอบเดียว
  #25  
เก่า 30-05-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,487
Default


Mission Gunship (3) ................... ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์



วันที่ 19 พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” หลังจากที่พระองค์กราบบังคมลาราชการออกไปตากอากาศเพื่อรักษาพระองค์ที่ตำบลหาดทรายรี บริเวณที่พระองค์ทรงจองที่ไว้จะทำสวน แต่พระองค์ประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่จนสิ้นพระชนม์ในพ.ศ.2466 สิริพระชันษา 44 ปี วันนี้จึงกลายเป็น “วันอาภากร” สืบต่อมา

19 พฤษภาคม 2554 งาน “อาภากร” จัดขึ้นที่ศาลบนยอดเนินเหนือหาดทรายรีดังเช่นทุกปี ผิดตรงที่ในทะเลปีนี้มีเรือรบลำหนึ่งกำลังเคลื่อนที่เข้ามาอย่างแช่มช้า แสงแดดเจิดจ้าส่องลงมาอาบเรือที่เพิ่งทาสีใหม่ไร้สารตะกั่ว หัวเรือมีตัวเลข 741 เรียกเสียงฮือฮาจากคนรอบด้าน (ฮือฮาทำไม ? ลองดูหวยวันที่ 16 พฤษภาคมสิครับ)

เรือลำนั้นจอดนิ่งอยู่ห่างจากฝั่งราว 3 กิโลเมตร ช่างภาพหมุนกล้องบนขาตั้งเล็งไปทางนั้นก่อนฉายภาพขึ้นจอใหญ่บนเวที เสียงบรรเลงเพลงจากวงดุริยางค์ทหารเรือดังลั่น “สยามเป็นชาติของเรา ธงทุกเสาชักขึ้นทุกลำ ถึงเรือจะจมในน้ำ ธงไม่ต่ำลงมา” (เพลง “ดอกประดู่” พลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ - แต่งก่อนพ.ศ.2452)

ทุกคนประจำที่เรียบร้อย ท่านผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 นั่งเคียงข้างท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เลยไปนิดคือท่านผู้บริหารจากปตท.สผ. เสียงคุณพิธีกรประกาศ เราจะเริ่มพิธีแล้วครับ ขอเชิญหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ขึ้นกล่าวนำเสนอโครงการ

ผมกลืนน้ำลายเอื๊อก แม้ผมไม่ค่อยมีปัญหากับการขึ้นไปพูดบนเวทีก็จริง แต่หลายวันที่ผ่านมางานเพียบ ผมแทบไม่มีเวลาเตรียมตัว เมื่อขึ้นไปบนเวที ผมยกมือทำความเคารพเสด็จเตี่ยก่อนเกริ่นนำด้วยการเน้นย้ำถึงความสำคัญของเรือที่ลอยลำอยู่ห่างจากเวทีไปไม่กี่มากน้อย นี่ไม่ใช่เป็นแค่เรือลำหนึ่ง แต่เรือหมายเลข LSIL-741 ถือเป็นเรือยกพลขึ้นบกที่ร่วมปฏิบัติงานในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมรภูมิสำคัญในเขตแปซิฟิก แม้เป็นฟันเฟืองตัวเล็กไม่มีชื่อเสียงระบือลือลั่นในครานั้น แต่ฟันเฟืองเช่นนี้แหละที่ทำให้โลกเป็นโลกอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ (ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเรือหลวงปราบและเรือหลวงสัตกูดคงตามมาในไม่ช้า รุ่นพี่ที่เคารพของผมท่านหนึ่งกำลังค้นคว้าอยู่ครับ)



ฟันเฟืองตัวเล็กเปลี่ยนเป็นฟันเฟืองตัวใหญ่ เมื่อเรือถูกส่งมอบให้ราชนาวีไทยเพื่อทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยและเอกราชของชาติ “เรือหลวงปราบ” ขึ้นระวางประจำการในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ก่อนปฏิบัติหน้าที่ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเที่ยว สอนคนให้เป็นทหารเรือไทยนับพันนับหมื่นนาย ก่อนที่ครูเริ่มชราภาพจนปลดประจำการในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 เรือครูจอดทอดสมออยู่ที่ท่ากรมอู่ทหารเรืออย่างเงียบเหงา แทบไม่มีใครทราบว่า เรือเหล็กลำนี้เคยมีประวัติเกริกเกียรติเพียงใด

แต่ครูไม่ได้หมดสภาพไปตามกาลเวลา ภารกิจของครูมาถึงเมื่อจังหวัดชุมพรร่วมมือกับหน่วยงานหลายแห่ง ด้วยความสนับสนุนจากปตท.สผ. ทำให้ครูคืนชีพมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากครูเคยปกป้องสันติภาพของโลก เคยปกป้องอธิปไตยของชาติไทยมาตลอดระยะเวลาร่วม 70 ปี บัดนี้ครูจะลงไปทำหน้าที่ปกป้องแนวปะการังอันเป็นสมบัติล้ำค่าของบ้านเมืองเรา ครูจะทำหน้าที่ดังกล่าวต่อไปอีกอย่างน้อย 60 ปี เมื่อรวมช่วงเวลาทั้งหมดเข้าด้วยกัน ผมยังคิดไม่ออกว่าจะมีเรือลำไหนทำหน้าที่เพื่อชาติและเพื่อโลกยาวนานถึง 130 ปี !

การดำน้ำลงไปดูเรือปราบจึงไม่ใช่เป็นเพียงการลงไปดูเรือจมลำหนึ่ง แต่นั่นคือการลงไปหา “ครู” ผู้ทำคุณประโยชน์เหลือประมาณ โครงการนี้จึงไม่เน้นแค่การท่องเที่ยว จุดประสงค์อันดับแรกคือการลดผลกระทบจากการดำน้ำในแนวปะการังที่กำลังฟื้นตัวจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว อย่างอื่นถือเป็นผลพลอยได้

ผมสรุปคำพูดในวันนั้น บางครั้งคนเราจะประสบเหตุการณ์ละม้ายคล้ายปาฏิหาริย์ การสร้างแหล่งดำน้ำมิใช่เรื่องง่ายไม่ว่าจะเป็นเมืองไทยหรือเมืองนอก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการนำเรือรบหลวงมาเป็นแหล่งดำน้ำ แต่โครงการนี้กลับสำเร็จใน 4 เดือน อย่างไรก็ตาม ปาฏิหาริย์จะไม่มีต่อไปหากคนชุมพรและคนไทยไม่ร่วมใจกันปกป้องครูผู้กำลังปฏิบัติภารกิจพิทักษ์ทะเลไทยให้งดงามชั่วลูกชั่วหลาน

งานในวันที่ 19 จบลงด้วยดี ถึงเวลางานจริงในวันรุ่งขึ้น พิกัดนำเรือลงมีความเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลบางประการ ผมจึงขอทำหน้าที่เฉพาะการศึกษาผลกระทบ ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเลือกจุดและการนำเรือลงสู่พื้นทะเล ผมใช้เวลาในตอนบ่ายและตอนค่ำพูดคุยกับเพื่อนๆที่ขอแรงมาช่วยงานวิจัย อันได้แก่ คุณนัท สุมนเตมีย์ และคุณบารมี เต็มบุญเกียรติ สองช่างภาพใต้น้ำระดับป๋า ยังมีคุณครูสอนดำน้ำที่คุ้นเคยอีกหลายท่านร่วมคณะไปเพื่อช่วยทำงานวิจัยในครั้งนี้ รวมแล้วเรามีทีมงานกว่า 20 ชีวิต



คณะทำงานของเราพากันขึ้นเรือ MV1 ของชุมพรคาบาน่าระหว่างไก่กำลังขัน เราต้องรีบออกเดินทางจากหาดทุ่งวัวแล่นไปเกาะง่ามน้อย เพราะเราจะนำอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บางอย่างขึ้นไปติดตั้งบนเรือ รวมถึงกล้องถ่ายวีดิทัศน์แบบพิเศษที่จะช่วยบันทึกภาพระหว่างเรือลงสู่พื้น เมื่อเราไปถึง เรือหลวงปราบอยู่ประจำพิกัดใหม่เรียบร้อย มีเรือลากจูงจอดเทียบข้าง ผมรีบปีนป่ายขึ้นเรือไปติดตั้งอุปกรณ์ตามที่วางแผนไว้

แปดโมงเช้า เสียงประกาศดังลั่นทั่วท้องทะเล ขอให้ทุกคนออกจากเรือหลวงปราบ ปฏิบัติการจะเริ่มต้น ผมเผ่นออกมาจากห้องใต้ท้องเรือ แวะเรียกลูกศิษย์ผู้กำลังติดกล้องกับป้อมปืน ก่อนปีนป่ายกึ่งกระโจนลงเรือยางที่รอรับอยู่เบื้องล่าง เราต้องนำเรือ MV1 ออกห่างในรัศมี 100 เมตรด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

ต่อจากนั้นคือการรอ เฮลิคอปเตอร์จากกองทัพเรือบินวนอยู่บนฟ้า ขณะที่เรือใหญ่น้อยรายล้อมเรือปราบเป็นรูปวงกลม ทุกคนต่างจรดจ้องรอดูวินาทีสำคัญ เรือปราบเอียงลงทีละน้อย โดยเอากราบขวาลงสู่ท้องทะเล จวบจนเวลาผ่านไปร่วม 2 ชั่วโมง กราบขวาด้านท้ายเอียงจนปริ่มน้ำ ภาพจากกล้องที่ผมติดตั้งไว้ 2 ตัวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ระลอกคลื่นเริ่มซัดเข้ามา เรือเริ่มเอียงมากขึ้น ก่อนส่วนหัวยกขึ้นสูงพ้นน้ำจนเกือบเป็นแนวดิ่ง หอบังคับการเริ่มจมน้ำ หลังจากนั้นเป็นเวลา 45 วินาที หัวเรือจมลงสู่พื้นน้ำ ฟองอากาศจำนวนมหาศาลผุดออกมาจากรอบด้าน เรือปราบลงสู่พื้นทะเลในลักษณะตะแคง ใช้เวลาเพียง 35 วินาที กราบขวาของเรือกระแทกพื้นที่ความลึก 20 เมตร วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ตามกระแสน้ำ กราบซ้ายคือส่วนสูงสุดของเรือ อยู่ที่ระดับความลึก 15 เมตรตลอดทั้งลำ

พี่ๆทหารเรือลงดำน้ำสำรวจเป็นอันดับแรก จนเห็นว่าทุกอย่างปลอดภัย พี่ส่งสัญญาณให้เหล่านักวิจัยลงน้ำได้ครับ เนื่องจากเรืออยู่ในสภาพตะแคง ผมจึงต้องนั่งหัวปั่นวางแผนใหม่เพราะอุปกรณ์เดิมติดไว้อยู่ในสภาพเรือตั้งปรกติ ยังรวมถึงเครื่องมือบางประการที่ถูกเรือทับแบนไปหมดแล้ว เคราะห์ดีที่ผมนำอุปกรณ์เผื่อมา เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิและแสงสว่าง เครื่องมือติดตามการลงเกาะของสัตว์น้ำ เราจึงยังพอทำงานวิจัยต่อไปได้แม้จะขลุกขลักบ้าง

ผมเป็นห่วงเรื่องระยะห่างระหว่างเรือกับแนวปะการัง เราวัดได้ใกล้กว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือการติดตั้งสายวัดจากเรือไปสู่แนวปะการังที่ใกล้ที่สุด (ความลึก 14 เมตร) ก่อนติดตั้งอุปกรณ์เก็บตะกอนไว้เป็นระยะ เรายังต้องสำรวจสภาพแนวปะการังบริเวณหัวเกาะเพื่อวางแผนในการศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาว

กลุ่มสัตว์เกาะติดกับเรืออาจเปลี่ยนไปตามระดับความลึกของน้ำ เราอาจเห็นปะการังขึ้นอยู่บนกราบเรือด้านซ้ายที่หงายขึ้น เพราะปะการังบางชนิดอยู่ได้ที่ความลึก 15 เมตรในเขตน้ำใส ผมค่อนข้างเชื่อว่าจะมีเห็ดทะเลกับดอกไม้ทะเลมาอยู่แถวนี้เพียบ เพราะในบริเวณใกล้เคียงกันมีสัตว์กลุ่มนี้อาศัยอยู่มาก ยังหมายถึงปะการังอ่อนบางสกุล แต่ใครหวังอยากเห็นปะการังดำต้นใหญ่หรือฟองน้ำครกขนาดยักษ์ ผมไม่ค่อยมั่นใจว่าจะมี อย่างเก่งก็คงเป็นแส้ทะเล (ลองไปเรือสัตกูดสิครับ ในไม่ช้าน่าจะมีทั้งปะการังดำทั้งฟองน้ำยักษ์)

สิ่งมีชีวิตอีกกลุ่มที่จะเข้ามาแน่คือปลาทั้งหลาย แค่เรือลงไปในน้ำได้ไม่เท่าไหร่ สลิดทะเลฝูงใหญ่ก็ว่ายเข้ามาแล้วครับ ยังหมายถึงปลามงและปลากลางน้ำอื่นๆ หากลงไปตามลำเรือ เราคงพบปลาไหลมอเรย์ตาขาว ปลาผีเสื้อเหลืองชุมพร (พบเฉพาะอ่าวไทย ที่ชุมพรเยอะสุด) ปลาสินสมุทรลายฟ้า และปลาอื่น ๆ อีกหลายสิบชนิด ข้อมูลที่เราสำรวจเกาะง่ามน้อยระบุว่า แถวนี้มีปลาไม่ต่ำกว่า 100 ชนิดครับ แต่ถ้าเอาให้เจ๋ง เราอาจมีสิทธิเจอฉลามวาฬว่ายข้ามเรือ (มีรายงานว่าเจอประจำโดยเฉพาะช่วงสงกรานต์และหลังจากนั้นนิดหน่อย)



มาถึงเรื่องการดำน้ำ เรืออยู่ในระดับความลึกเพียง 20 เมตร นักดำน้ำขั้นต้นสามารถลงไปดูได้ตลอดทั้งลำ แต่คงต้องระวังอย่าเตะขาไปโดนตะกอนบนพื้นทรายเพราะบางเวลากระแสน้ำอาจไหลเข้าหาเกาะ นอกจากนี้ การพักน้ำอาจทำได้ยากหน่อยเพราะจุดที่ตื้นสุดของเรือคือกราบซ้ายที่ความลึก 15 เมตร ผมไม่เห็นทุ่นในบริเวณนั้น แต่ในอนาคตคงมีการวางทุ่นที่จะช่วยทั้งการจอดเรือและการพักน้ำของเหล่ามนุษย์กบ

จุดน่าสนใจอันดับแรกคือหมายเลข 741 ที่หัวเรือ ถัดจากนั้นคือป้อมปืนหน้า แม้จะสวยสู้ป้อมปืนหลังไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าหลายคนคงหยุดถ่ายภาพแถวนี้ เลยต่อไปคือดาดฟ้าและหอบังคับการ นักดำน้ำอาจโผล่หน้าเข้าไปดูข้างใน (แต่ไม่มีอะไรเหลือ เราเก็บขึ้นใส่พิพิธภัณฑ์ที่จะสร้างบริเวณหาดทรายรีครับ) บนหลังคาหอยังมีธงชาติไทยเด่นสง่า ถัดไปอีกนิดคือป้ายชื่อเรือพร้อมรายละเอียด มาถึงป้อมปืนท้ายอันเป็นจุดน่าสนใจที่สุดของเรือลำนี้ หากผมเข้าใจไม่ผิด ใต้ทะเลไทยไม่มีเรือลำใดที่มีป้อมปืนเหลืออยู่ (ในอนาคตจะมีอีกลำ เรือหลวงสัตกูดแห่งเกาะเต่า)

ผลจากเรือตะแคงทำให้การปรับปรุงเรือก่อนหน้ามีปัญหาบ้าง เดิมทีเราขอให้ช่างช่วยถอดประตูหน้าต่างรวมถึงการเจาะช่องแสงเพื่อช่วยให้นักดำน้ำที่มีประสบการณ์สามารถเข้าไปภายในเรือได้ แต่เมื่อเรือตะแคง แสงก็เลยเข้าช่องน้อยลง ข้างในค่อนข้างมืด อีกทั้งทางเดินหรือใดๆก็ตามอยู่ในสภาพพิสดาร เหมือนเอาห้องตะแคงข้าง 90 องศา ผมจึงไม่แนะนำให้เข้าไปข้างในลำเรือยกเว้นผู้เชี่ยวชาญในด้านการดำน้ำในเรือจม

ทั้งหมดนั้นเป็นข้อมูลขั้นต้นเกี่ยวกับเรือหลวงปราบเท่าที่ผมปั่นต้นฉบับทัน หากท่านใดสนใจ ในงานมหกรรมดำน้ำ TDEX ที่จะจัดในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ ระหว่างวันที่ 26-29 พฤษภาคม เรามีบู๊ทเกี่ยวกับเรือปราบและเรือสัตกูดโดยเฉพาะ ผมเตรียมแผนผังเรือและภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวไว้เรียบร้อย รวมถึงคลิปเร้าใจช่วงเรือปราบกำลังลงสู่ท้องทะเล (เคราะห์ดีที่กล้องของเราไม่โดนทับจนแบน) ขอเชิญไปพูดคุยไถ่ถามกันได้ครับ เค้าว่า MC สวยเฉียบเนี๊ยบอย่าบอกใคร

Mission Gunship ยังไม่จบง่ายๆ ผมจะมารายงานความคืบหน้าของเรือปราบต่อไป รวมทั้งการนำเรือหลวงสัตกูดลงสู่พื้นท้องทะเลเกาะเต่าครับ




จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 29 พฤษภาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม