ดูแบบคำตอบเดียว
  #62  
เก่า 25-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,487
Default


น้ำที่ท่วม-ส้วมฉุกเฉิน 'ต้องรู้หลักใช้' มีภัยเชื้อโรคต้องกลัว!



สถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในไทยในยามนี้ นอกจากจะทำให้คนไทยจำนวนมากมายต้องเดือดร้อนในเรื่องการอยู่อาศัย อาหารการกิน การประกอบอาชีพ การเดินทางสัญจร หลายพื้นที่เรื่องการขาด ’น้ำใช้“ และการมีปัญหาเรื่องสุขา หรือ ’ส้วม“ ก็เป็นทุกข์เช่นกัน ซึ่งแม้รายรอบจะมีแต่ ’น้ำที่ท่วม“อยู่ และแม้จะได้รับแจก ’ส้วมฉุกเฉิน-ส้วมชั่วคราว“ แต่ก็ ’ใช่ว่าจะสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย“

’ภัยเชื้อโรค“ จาก 2 เรื่องนี้...ก็ ’ควรต้องกลัว!!“

ทั้งนี้ กับ 2 เรื่องดังกล่าวนี้ ทางกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความห่วงใย พร้อมมีคำแนะนำที่น่าพิจารณา กล่าวคือ... ในภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้น การประยุกต์ใช้กรรมวิธีอย่างง่ายใน การผลิตน้ำสะอาดที่สามารถนำมาอุปโภคหรือเป็นน้ำใช้ (ไม่รวมถึงการเป็นน้ำดื่ม) ได้อย่างปลอดภัย นับว่ามีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งการผลิตน้ำสะอาดสำหรับเป็นน้ำใช้ด้วยตนเองนั้น อุปกรณ์ที่จำเป็นประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่
1. โอ่ง ถังพลาสติก หรือภาชนะรองรับน้ำ จำนวน 2 ใบ
2. สารส้มก้อน
3. สารฆ่าเชื้อโรคคลอรีนชนิดน้ำ 2% (หยดทิพย์)

ขั้นตอนการผลิตน้ำใช้เอง มี 4 ขั้นตอนคือ

1. เตรียมน้ำลงในภาชนะรองรับน้ำใบที่ 1 โดยเลือกใช้น้ำจากแหล่งน้ำในบริเวณที่ห่างจากแหล่งสุขาหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ตักใบไม้ เศษไม้ หรือเศษสิ่งอื่นๆ ที่อาจลอยอยู่บนผิวน้ำออก

2. แกว่งสารส้มในน้ำ แกว่งที่ความลึกประมาณ 2/3 ส่วนของความลึกน้ำจากผิวน้ำ แกว่งสารส้มจนสังเกตเห็นตะกอนเริ่มจับตัว ซึ่งอาจใช้เวลามากน้อยต่างกันไปตามปริมาตรและลักษณะน้ำ

3. หลังจากขั้นตอนการแกว่งสารส้ม จะต้องทิ้งน้ำไว้จนกระทั่งตะกอนตกลงสู่ก้นภาชนะ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรืออาจตั้งทิ้งไว้ข้ามคืน จากนั้นจึงตักหรือถ่ายน้ำส่วนที่ใสเข้าสู่ภาชนะบรรจุใบที่ 2 โดยน้ำที่ผ่านขั้นตอนนี้จะมีลักษณะใส แต่ก็ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรค

4. เติมสารฆ่าเชื้อโรคคลอรีนชนิดน้ำ 2% (หยดทิพย์) ลงในภาชนะรองรับน้ำใบที่ 2 ซึ่งควรจะรู้ปริมาตรน้ำโดยคร่าวๆ แล้วจึงเติมสารในปริมาณ 1 หยด ต่อน้ำ 1 ลิตร กวนผสมและปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้สารฆ่าเชื้อโรคออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อผ่าน 4 ขั้นตอนแล้ว ก็จะได้น้ำที่ปลอดภัยเพื่อการเป็น ’น้ำใช้“ แต่อาจจะยังไม่เหมาะสมต่อการบริโภค เนื่องจากเป็นน้ำที่ผ่านการผลิตขึ้นเอง อาจไม่มีการควบคุมคุณภาพที่ดีเพียงพอ

และก็มีคำเตือนเกี่ยวกับสารฆ่าเชื้อโรคคลอรีนชนิดน้ำ 2% (หยดทิพย์) ด้วยว่า สารนี้ต้องเก็บรักษาในที่มืด ที่สำคัญต้องเก็บให้พ้นมือเด็ก ห้ามรับประทานโดยตรง อย่าให้สารเข้าตาและสัมผัสผิวหนัง ถ้าสารถูกมือให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด ถ้าสารเข้าตาต้องรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

อีกเรื่องคือ การใช้ส้วมฉุกเฉิน-ส้วมชั่วคราวให้ปลอดภัย ซึ่งทางกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำไว้สรุปได้ว่า... การใช้จำเป็นต้องพึงระวังถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรค เช่น อหิวาตกโรค ที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ซ้ำซ้อนขึ้นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งการป้องกันมีวิธีปฏิบัติอย่างง่ายคือการเติมสารเคมีลงไปในส้วมชั่วคราว โดยเฉพาะ “ส้วมถุงดำ” เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อโรค และลดการแพร่กระจาย รวมถึงการสะสมตัวของเชื้อโรคในบริเวณน้ำท่วมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การ ’ฆ่าเชื้อโรคสำหรับส้วมชั่วคราวแบบที่ใช้ถุงดำ“ ให้ ’เติมปูนขาว“ เพื่อปรับสภาพให้เป็นด่าง ซึ่งจุลินทรีย์ก่อโรคจะถูกกำจัดไปเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต

ปริมาณการเติมปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรค คร่าวๆคือ เติมปูนขาว 300 กรัม (1 ถ้วย) ต่อปริมาตรของเสียประมาณ 10 ลิตร หรือประมาณ 0.3 ลิตร ต่อปริมาตรของเสียประมาณ 10 ลิตร ดังนั้น การขับถ่ายใส่ถุงดำควรต้องเผื่อปริมาตรไว้สำหรับการเติมปูนขาวด้วย ในกรณีที่เลือกใช้ถุงดำขนาด 20 ลิตร ควรใส่ปูนขาวประมาณ 300 กรัม ซึ่งน่าจะใช้งานได้ประมาณ 5-10 ครั้ง (อาจใช้ได้ถึง 15 ครั้ง กรณีถ่ายหนักอย่างเดียว)

รูปแบบการเติมปูนขาวทำได้ 3 แบบ คือ
1. แบ่งเติมทุกครั้งที่ขับถ่าย ประมาณ 15 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ) ต่อการขับถ่าย 1 ครั้ง ไม่ว่าจะอุจจาระหรือปัสสาวะ
2. เติมตอนเริ่มต้นใช้ครึ่งหนึ่ง (150 กรัม) หลังจากใช้งานเสร็จอีกครึ่งหนึ่ง (150 กรัม)
3. เติมตอนเริ่มต้นใช้ครั้งเดียว (300 กรัม) โดยรูปแบบที่ 1 จะดีที่สุด ซึ่ง ควรใช้ถุงดำ 2 ชั้นเพื่อความแข็งแรง และใช้งานแล้วต้องมัดให้ดีเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและง่ายต่อการนำไปกำจัด ส่วนการเติมอีเอ็ม (EM) ในการใช้ส้วมถุงดำ ช่วยเรื่องการย่อยสลายสูงในเวลาสั้นๆ แต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรคโดยตรง

ทั้งนี้ คำแนะนำ 2 เรื่องนี้ นับว่ามีประโยชน์มาก ทั้งกับผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม แล้วมีปัญหาขาดน้ำใช้-ขาดส้วมแบบปกติ และกับฝ่ายที่จะไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในการเตรียมปัจจัยเพื่อการนี้ คือเตรียม “สารส้มก้อน-สารฆ่าเชื้อโรคคลอรีนชนิดน้ำ 2% (หยดทิพย์)” และ “ปูนขาว” ไปให้ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย

’เชื้อโรค“ อาจจะมากับน้ำที่ท่วม-เกิดในส้วมฉุกเฉิน

ไม่กลัว-ไม่ป้องกัน ’ภัยซ้อนภัย“ อาจเกิดขึ้นได้!!!!!.




จาก .......................... เดลินิวส์ วันที่ 25 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม