ดูแบบคำตอบเดียว
  #107  
เก่า 16-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,408
Default


ทำกิจกรรมอะไรดีกับลูกในช่วงน้ำท่วม ....................... โดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ



ช่วงนี้ไม่เพียงแต่คุณแม่คุณพ่อต้องเครียดกับภาวะน้ำท่วม เด็กๆก็เกิดความเครียดด้วยเช่นเดียวกัน การให้โอกาสเด็กๆได้แสดงออกและระบายความรู้สึกออกมาจะช่วยบรรเทาอาการเครียดของเด็กได้ ด้วยเหตุผลดังนี้

• การให้เด็กได้เล่าเรื่องหรือพูดเรื่องที่เกิดขึ้นหลายๆครั้ง จะช่วยให้เด็กได้เรียงลำดับเหตุการณ์ ได้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น หรือคิดหาทางควบคุมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ในภาวะที่สับสน และหาทางออกไม่ได้

• การได้ระบายความกลัว หรือความเครียดออกมาบางครั้งจะช่วยลดความวิตกกังวลและลดความไม่สบายใจได้

• การได้ยินเรื่องราวจากเพื่อนคนอื่นๆ จะช่วยให้เด็กๆรู้ว่ามีเพื่อนคนอื่นตกอยู่ในสภาพเดียวกับเรา ไม่ว่าจะเป็นความกลัวหรือความวิตกกังวล

• การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆกับเพื่อนๆกับคุณพ่อคุณแม่ หรือกับคุณครู เด็กๆจะเป็นการได้แบ่งปันเรื่องราว และความรู้สึก


กิจกรรมที่จะช่วยลดความเครียดให้เด็กๆได้มีดังนี้

เด็กอนุบาลและเด็กประถม

1. หาอุปกรณ์หรือของเล่นที่ให้เด็กได้มีโอกาสได้เล่นบทบาทสมมติในสภาวะน้ำท่วมจะช่วยให้เด็กๆมีประสบการณ์และมีความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์น้ำท่วมมากขึ้น อุปกรณ์ดังกล่าวคือ ไม้บล็อก ถุงจำลองทราย รถตักทราย รถพยาบาล รถทหาร เรือ ถุงยังชีพ ยา อาหารแห้ง เป็นต้น การให้เด็กๆได้เล่นหุ่นมือ ตุ๊กตา หรือเล่นบทบาทสมมติจะช่วยให้เด็กได้มีโอกาสพูดและระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นอีกด้วย

2. กิจกรรมการให้เด็กได้ออกกำลังทางด้านร่างกายถือว่าเป็นวิธีช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้

3. ทำงานศิลปะ ให้เด็กๆวาดภาพน้ำท่วม งานศิลปะถือเป็นงานสร้างสรรค์ที่ให้เด็กๆได้แสดงออก ให้เด็กๆวาดภาพอะไรก็ได้ที่อยู่ในใจและอยากวาด อาจตั้งหัวข้อ หรือตั้งคำถามให้เด็กๆเป็นแนวทางให้เด็กๆมีโอกาสพูดคุยถึงรูปที่วาด จัดเด็กเป็นกลุ่มเล็กๆ เปิดโอกาสให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน การได้พูดคุยถึงความรู้สึกกลัวที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เด็กๆได้ระบายออกถึงความเครียดและความกลัว

4. เล่านิทานหรือเรื่องสั้นเกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมให้เด็กๆฟัง

5. จัดทำโครงงานในหัวข้อ มีอะไรเกิดขึ้นในบ้านของเรา ที่โรงเรียน ในชุมชนของเรา หรือเราจะทำอย่างไรเมื่อมวลน้ำใหญ่ไหลมา ภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปส่งผลอย่างไรต่อโลก เป็นต้น

6. เด็กๆสามารถวาดรูป เขียน หรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่พวกเขาจำได้ดี และตอบคำถาม เช่น มีอะไรเกิดขึ้นเมื่อฝนตกหนัก มีอะไรเกิดขึ้นเมื่อเขื่อนมีน้ำมากเกินกำหนด เราจะช่วยครอบครัว คนเฒ่า คนแก่ เด็กและคนเจ็บได้อย่างไร เมื่อน้ำท่วมบ้าน การจัดเตรียมอาหารและเครื่องใช้ในระหว่างเกิดอุทกภัย โรคและอันตรายต่างๆเมื่อเกิดเมื่อน้ำท่วม พร้อมทั้งการระวังตัวและการป้องกัน เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเกิดอุทกภัยครั้งนี้ มีอะไรที่เป็นข้อดีที่เราได้เรียนรู้ในการเกิดน้ำท่วมคราวนี้บ้าง

การพูดคุยสนทนา การฟังคำตอบและคำถามของเด็กๆ จะช่วยในการประเมินความเข้าใจและความรู้สึกของเด็กๆได้ สิ่งที่สำคัญคือจบบทสนทนาด้วยความคิดทางบวก เสริมแรงให้กำลังใจ และให้สัมผัสแห่งความปลอดภัย และการเตรียมตัวในครั้งต่อไป ให้เด็กๆสรุปเองโดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้เสริมแรง และตะล่อมให้ตรงประเด็น ตัวอย่างความคิดทางบวก เช่น

• ความรู้สึกที่ได้มีความใกล้ชิดกับครอบครัว
• ได้พบเพื่อนใหม่ และผู้ที่ตกสถานการณ์เดียวกัน
• เรียนรู้ทักษะใหม่ สัมผัสแห่งความรับผิดชอบ การแก้ปัญหาอย่างฉลาด
• การผนึกกำลังของชุมชนในการช่วยกันแก้ปัญหา
• การให้ความช่วยเหลือดูแลแก่ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก


ชั้นประถมปลาย

1. ทำสมุดภาพโครงงาน ให้เด็กๆได้มีโอกาสได้รวบรวมความคิดและข้อมูลต่างๆ จัดหาวิธีแก้ไขอย่างเป็นระเบียบ

2. ให้เด็กๆได้เล่นเกมอุทกภัย โดยคิดกฎกติกาเอง คิดวิธีการจบเกมเอง เพื่อพัฒนาสัมผัสในการแก้ปัญหาและความรู้สึกปลอดภัย

3. ใช้หนังสือภาพระบายสี หรือหนังสืออื่นๆ ที่เกี่ยวกับอุทกภัย เสริมแรงให้เด็กวาดรูป เขียน หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์


กิจกรรมสำหรับชั้นมัธยม

เราอาจใช้หลักการพื้นฐานเดียวกันและต่อยอดความคิดสำหรับใช้กับเด็กโต เช่น

1. ใช้ศิลปะ ดนตรี คำกลอน ในการบรรยายความรู้สึกและประสบการณ์ เด็กอาจจะทำเป็น Power Point สมุดภาพ สมุกบันทึกความทรงจำ เล่นเป็นละคร หรืออัดวีดีทัศน์ไว้ สะสมผลงานต่างๆของเด็ก อาจจัดพิมพ์ หรือจัดแสดงกันในชั้นเรียน ที่งานโรงเรียน หรือที่ชุมชน เป็นต้น

2. จัดกลุ่มสนทนา อภิปรายความคิด โต้วาที ให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นได้แสดงออกถึงความรู้สึก ให้เด็กรู้ว่าความรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ คำว่าอุทกภัยและ วาทภัยมีความหมายว่าอย่างไร สิ่งที่สำคัญคือให้เราได้รับบทเรียนอะไรบ้างโดยที่ไม่ว่าเรื่องจะจบลงด้วยความคิดทางบวกหรือเป็นความคิดทางลบก็ตาม

กิจกรรมต่างๆเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูสามารถทำร่วมกับเด็กๆได้ จะช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวลรวมทั้งความกลัวของลูกได้ สิ่งที่สำคัญคือการให้ความรักและความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อช่วยให้ทุกคนผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ด้วยดี




จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม