ดูแบบคำตอบเดียว
  #46  
เก่า 27-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,479
Default


โรคไอบีเอส (IBS)หรือ 'โรคลำไส้ทำงานแปรปรวน' ตอน 1



โรคไอบีเอส (IBS) หรือชื่อเต็มเป็นภาษา อังกฤษคือ โรค Irritable Bowel Syndrome หรือในชื่อไทยคือ โรคลำไส้ทำงานแปรปรวน โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคใหม่แต่เป็นโรคที่มีมานานแล้ว เนื่องจากเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากเนื่องจากอาการของโรคไม่มีความเฉพาะเจาะจง แพทย์จึงไม่ได้มีการวินิจฉัยโรคนี้ ในปัจจุบันมีความรู้เกี่ยวกับโรคไอบีเอสเพิ่มมากขึ้นและมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคไอบีเอสให้ชัดเจนขึ้น จึงมีการวินิจฉัยโรคนี้เพิ่มมากขึ้น


โรคไอบีเอสคืออะไร

โรคไอบีเอสหรือโรคลำไส้ทำงานแปรปรวน เป็นโรคของลำไส้ที่ทำงานผิดปกติไป ทำให้เกิดการปวดท้องร่วมกับมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก โดยที่ตรวจไม่พบความผิดปกติทางพยาธิสภาพที่ลำไส้ เช่น ส่องกล้องตรวจลำไส้จะไม่มีการอักเสบ ไม่มีแผล ไม่มีเนื้องอกหรือมะเร็ง เป็นต้น และการตรวจเลือดต่างๆก็ไม่พบความผิดปกติ รวมทั้งไม่มีโรคของอวัยวะอื่นๆที่จะมีผลให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติ เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น โรคไอบีเอสเป็นโรคเรื้อรังมักเป็นๆหายๆ หรืออาจเป็นตลอดชีวิต เป็นโรคที่ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมแม้จะเป็นมาหลายๆปี และไม่ทำอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่เป็นโรคที่สร้างความรำคาญและความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยอย่างมากได้ เนื่องจากผู้ป่วยจะวิตกกังวลว่าทำให้โรคไม่หายแม้ได้ยารักษา ทำให้มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยโรคจะรบกวนการดำรงชีวิตปกติของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ มีการหยุดงานบ่อยและมีประสิทธิภาพของการทำงานลดลง


โรคไอบีเอสพบบ่อยหรือไม่

ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปพบร้อยละ 10-20 ของประชากร ในประเทศญี่ปุ่นพบร้อยละ 25 ของประชากร ในประเทศไทยมีข้อมูลค่อนข้างน้อยในการศึกษาเรื่องนี้ ข้อมูลที่มีอยู่คือ พบได้ประมาณร้อยละ 7 ของประชากร แต่ถ้าศึกษาเฉพาะกลุ่มผู้ป่วย ที่มีอาการท้องเสียเรื้อรังมาพบแพทย์จะพบว่าเป็นโรคไอบีเอสถึงร้อยละ 10-30 จากตัวเลขดังกล่าวในประเทศไทยจะมีผู้ป่วยไอบีเอส ประมาณไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน

ซึ่งอาจจะเป็นการประมาณที่ต่ำกว่าเป็นจริง เพราะว่าในรายที่มีอาการไม่มากอาจคิดว่าตนเองไม่ได้เป็นโรคนี้ พบว่ามีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่ไปพบแพทย์เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นโรคร้ายแรง เช่นกลัวเป็นมะเร็ง มากกว่าที่จะไปพบแพทย์เพราะความรุนแรงของโรค


โรคไอบีเอสพบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จริงหรือไม่

ในต่างประเทศในทั่วไปพบโรคไอบีเอสได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2:1 ถึง 4:1 สำหรับสาเหตุที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายนั้นยังไม่รู้ว่าสาเหตุที่แน่นอน สิ่งหนึ่งที่มีความแตกต่างกันคือ ผู้หญิงเมื่อมีอาการของโรคแม้จะไม่รุนแรงมักจะไปพบแพทย์มากกว่าผู้ชาย ส่วนข้อมูลในบ้านเราพบในผู้หญิงและผู้ชายในจำนวนใกล้เคียงกันหรือพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย


โรคไอบีเอสพบบ่อยในวัยใด

โรคไอบีเอสพบได้ทุกวัยตั้งแต่ในวัยรุ่นจนถึงวัยสูงอายุ โดยพบได้บ่อยในคนวัยทำงานคือ อายุเริ่มต้นเฉลี่ยระหว่าง 20-30 ปี และจะพบได้บ่อยไปจนถึงอายุ 60 ปี หลังอายุ 60 ปี จะพบน้อยลง และพบว่าโรคไอบีเอสมักพบได้บ่อยในคนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมชั้นกลางถึงชั้นสูง


จะรู้ได้อย่างไรว่าท่านเป็นโรคไอบีเอส

ในคนปกติการถ่ายอุจจาระของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันมาก บางคนจะถ่ายอุจจาระทุกวัน บางคนถ่ายอุจจาระเป็นบางวัน โดยทั่วไปถือว่าการถ่ายอุจจาระที่ปกติคือการถ่ายอุจจาระ ไม่เกิน 3 ครั้งต่อวันหรือไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ลักษณะอุจจาระที่ปกติจะต้องเป็นก้อนแต่ต้องไม่แข็งเป็นลูกกระสุนหรือเหลวมาก หรือเป็นน้ำ ต้องไม่มีเลือดปนและไม่มีปวดเกร็งท้องร่วมด้วยอาหารที่มีกากหรือเส้นใย (Fiber) จะช่วยลดอาการของไอบีเอสได้

อาการสำคัญของผู้ป่วยไอบีเอสคือปวดท้อง ส่วนใหญ่มักปวดท้องน้อย ลักษณะจะเป็นปวดเกร็ง อาการปวดจะดีขึ้นหลังถ่ายอุจจาระ พร้อม ๆ กับปวดท้องผู้ป่วยจะมีความปกติของการถ่ายอุจจาระร่วมด้วย อาจเป็นท้องเสียหรือท้องผูกก็ได้หรือเป็นท้องผูกสลับท้องเสีย ลักษณะอุจจาระจะเปลี่ยนไปเป็นก้อนแข็งหรือเหลวจนเป็นน้ำ ผู้ป่วยอาจถ่ายอุจจาระลำบากขึ้นต้องเบ่งมากหรืออาจรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระทันทีกลั้นไม่อยู่ผู้ป่วยจะรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระบ่อยๆ แม้เพิ่งจะไปถ่ายอุจจาระมามีความรู้สึกถ่ายไม่สุด จะมีถ่ายเป็นมูกปนมากับอุจจาระมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีท้องอืดมีลมมากในท้อง เวลาถ่ายอุจจาระมักมีลมออกมาด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการแบบนี้เป็นๆหายๆ รวมเวลาแล้วมักเป็นเกิน 3 เดือน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักมีประวัติเป็นมานานหลายปี

ถ้าผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นเลือด มีไข้ น้ำหนักลด ซีดลง มีอาการช่วงหลังเที่ยงคืน หรือมีอาการปวดเกร็งท้องมากตลอดเวลา อาการเหล่านี้บ่งชี้ว่าไม่ใช่โรคไอบีเอส


โรคไอบีเอสวินิจฉัยได้อย่างไร

โรคไอบีเอสจะได้รับการวินิจฉัยก็ต่อเมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยแยกโรคอื่นๆแล้วหรือหาโรคอื่นที่จะอธิบายว่าเป็นสาเหตุของโรคไอบีเอสไม่ได้ ในวัยรุ่นหรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีแพทย์จะวินิจฉัยโรคไอบีเอส โดยอาศัยอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก และจะให้การรักษาไปก่อนโดยไม่จำเป็นต้องทำการสืบค้น สำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 หรือ 50 ปี นอกจากแพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดและจะทำการสืบค้นได้แก่ตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ ตรวจเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ หรือส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ซึ่งผลการตรวจร่างกายและการสืบค้นต่างๆจะต้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ข้อมูลจาก นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท 2




จาก .................... เดลินิวส์ คอลัมน์ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม