ดูแบบคำตอบเดียว
  #65  
เก่า 28-12-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


เตือนทุกบ้านรู้เท่าทัน 5 โรคที่มากับสายลมหนาว ....... (ต่อ)


ภาพประกอบจาก besteducationpossible.blogspot.com

โรคหัด

เป็นอีกโรคที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกันกับ "โรคหัด" เกิดจากเชื้อไวรัสรูบิโอลา ซึ่งพบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรค ซึ่งติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วมากด้วยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน โรคหัดเกิดได้กับทุกอายุและพบบ่อยในเด็กที่อายุระหว่าง 2 ถึง 14 ปี และพบได้ตลอดปี ส่วนมากเกิดในช่วงฤดูหนาวจนถึงต้นฤดูร้อน

สำหรับอาการ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคหัดเข้าไปประมาณ 7 วันจึงจะเริ่มมีอาการช่วงแรกคล้ายไข้หวัด และมีไข้สูงตลอดเวลา รับประทานยาลดไข้แล้วไข้ก็ไม่ลด อ่อนเพลีย ซึมลงหรือกระสับกระส่าย ร้องกวน เบื่ออาหาร น้ำมูกใส ไอแห้ง น้ำตาไหล ไม่สู้แสง หนังตาบวม บางรายอาจถ่ายเหลวบ่อยเหมือนท้องเดิน หรืออาจชักจากไข้ ต่อมาผื่นจะเริ่มขึ้น โดยลักษณะผื่นนั้น เป็นจุดแดงเล็กๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด และเริ่มเห็นผื่นขึ้นที่บริเวณตีนผมและซอกคอก่อนเป็นอันดับแรกแล้วลามไปตามใบหน้า ลำตัวและแขนขา ผิวหนังโดยรอบอาจเป็นสีแดงระเรื่อ บางครั้งอาจมีอาการคันเล็กน้อย ผื่นจะไม่จางหายไปทันทีแต่จะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 วันนับจากวันแรกที่ผื่นเริ่มขึ้น หลังจากผื่นจางลง มักเปลี่ยนเป็นสีคล้ำในช่วงแรก โรคหัดส่วนใหญ่หายได้เองและเกิดโรคแทรกซ้อนน้อย

แต่เมื่อเป็นแล้ว ควรรักษาและปฏิบัติตัวเหมือนโรคไข้หวัดทั่วไป คือ พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ เช็ดตัวลดไข้ ไม่อาบน้ำเย็น ควรกินยารักษาตามอาการ เช่นยาลดไข้ ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะในช่วงแรก เพราะถ้าแพ้ยาจะทำให้บอกความแตกต่างระหว่างผื่นแพ้ยากับผื่นโรคหัดได้ยาก ถ้ามีอาการไอ เสมหะเริ่มข้นหรือเขียว หรือหายใจมีเสียงวี๊ด (Wheeze) เนื่องจากหลอดลมตีบ ควรพบแพทย์


โรคไข้สุกใส

ปิดท้ายกันที่ "โรคอีสุกอีใส" หรือไข้สุกใส ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กเล็ก วัยรุ่น ไปจนถึงวัยหนุ่มสาว โดยการระบาดมักพบในช่วงต้นปีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ วาริเซลลา หรือฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัส ชนิดที่ 3 ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ไวรัสชนิดนี้ติดต่อโดยการหายใจ ไอ จามรดกัน หรือการสัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสหรืองูสวัดโดยตรง หรือสัมผัสถูกของใช้ เช่น ที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่เปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย

สำหรับอาการในเบื้องต้น เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วจะใช้เวลาประมาณ 10 ถึง 20 วันจึงจะเริ่มมีอาการ เช่น ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ต่อมาจึงเริ่มมีผื่นแดงที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ จะเป็นผื่นแดงราบก่อนแล้วจึงเปลี่ยนกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสอยู่ภายในและมีอาการคัน

โดยตุ่มน้ำใสนี้ มักเริ่มขึ้นที่หนังศีรษะตามไรผมก่อนแล้วจึงลามไปที่ใบหน้า แผ่นหลัง ลำตัว แขนและขา ทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางคนอาจมีตุ่มแผลขึ้นในช่องปาก ทำให้เจ็บคอ ลิ้นเปื่อย ปากเปื่อย อีกลักษณะที่สำคัญคือตุ่มนูนใสนี้มักจะไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย ดั้งนั้นจึงพบว่าบางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ ในขณะที่อวัยวะส่วนอื่นขึ้นเป็นตุ่มนูนใส หรือบางที่เป็นตุ่มหนอง หรือบางที่ผื่นสุกที่เริ่มตกสะเก็ด

เด็กที่เป็นโรคไข้สุกใสส่วนมากจะหายเองได้ แต่ต้องระวังอย่าให้เกิดโรคแทรกซ้อน และที่สำคัญ ไม่มียาต้านไวรัส ดังนั้นการดูแลรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอกินยาลดไข้เฉพาะพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามกินยาลดไข้ชนิดแอสไพริน เนื่องจากทำให้ตับอักเสบรุนแรงได้

นอกจากนั้นควรตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะเกาตุ่มคันสุกใส เพราะนอกจากจะกลายเป็นแผลเป็นที่รักษายากแล้ว ยังทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในเล็บและผิวหนังจนเกิดโรคผิวหนังแทรกซ้อนได้ นอกจากนี้เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ เช่นที่ปอดจนเกิดฝีในปอดได้

อย่างไรก็ดี อาการไข้สุกใสจะค่อยๆทุเลาได้เองภายใน 1 ถึง 3 อาทิตย์ ในระยะนี้ให้ระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เช่น แก้วหูอักเสบ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ หรือ ติดเชื้อในสมอง ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดหู หรือไอ หายใจเหนื่อย เจ็บหน้าอก หรือ ตาเหลืองตัวเหลือง (ดีซ่าน) หรือ ปวดศีรษะมาก ซึมลง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม

ในด้านของการป้องกัน คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงให้ลูกสัมผัสกับผู้ป่วยโรคสุกใสโดยตรง ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม ฯลฯ ควรทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใส โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดกระตุ้นซ้ำอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 4 ถึง 6 ขวบ ปัจจุบันมีวัคซีนรวมของสุกใสและหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) ทำให้ถูกฉีดวัคซีนน้อยครั้งลง

รู้แบบนี้แล้ว เรามาป้องกันตัวเองและลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคภัยที่มากับสายลมหนาวกันดีกว่าครับ




จาก .................... ผู้จัดการออนไลน์ คอลัมน์ Life & Family วันที่ 28 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม