ดูแบบคำตอบเดียว
  #85  
เก่า 09-02-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,422
Default


รู้รักษา "ไทรอยด์เป็นพิษ” ปัญหาไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เผยแพร่บทความเรื่องโรค “ไทรอยด์เป็นพิษ” ว่าอันตรายกว่าที่หลายคนเข้าใจ เพราะ “ไทรอยด์เป็นพิษ” เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้น หรือเกิดจากร่างกายสร้างสารแอนติบอดี (antibody) ไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้สร้างฮอร์โมนมากขึ้น หรือเกิดจากต่อมไทรอยด์อักเสบ ทำให้มีการปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากกว่าปกติ หรือเกิดจากการได้รับฮอร์โมนไทรอยด์จากภายนอกเข้าสู่ร่างกายในขนาดที่มากเกินไป ซึ่งกรณีหลังนี้มักเกิดกับผู้ป่วยที่ได้รับยาฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อรักษาภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือใช้เพื่อการลดน้ำหนักตัวแบบไม่ถูกวิธี

ฮอร์โมนไทรอยด์เป็นฮอร์โมนสำคัญ ที่ช่วยควบคุมกระบวนการเผาผลาญและการใช้พลังงานต่างๆภายในร่างกาย ดังนั้นถ้าร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงขึ้น จะทำให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญมากขึ้น เสมือนร่างกายทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้น้ำหนักตัวลดลงแม้จะรับประทานอาหารได้ปริมาณเท่าเดิม หรือน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นแม้จะรับประทานอาหารมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว มือสั่น หงุดหงิดง่าย ตาโปน ผมร่วง ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก ถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น หรือบางครั้งอาจเกิดภาวะขาดประจำเดือน บางรายอาจสังเกตเห็นต่อมไทรอยด์ที่อยู่บริเวณลำคอด้านหน้ามีขนาดโตขึ้น หรืออาจมีอาการขาสองข้างอ่อนแรงจนถึงขั้นยกขาหรือยืนไม่ได้ สำหรับอาการขาอ่อนแรงนั้นพบได้ไม่บ่อย แต่อาจเป็นอาการแรกสุดที่เกิดขึ้นได้ และมักเกิดกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง

โรคไทรอยด์เป็นพิษสามารถรักษาด้วยการรับประทานยา ประมาณ 12-24 เดือน ในกรณีของคุณปทุมวดี โสภาพรรณ ซึ่งทราบว่าเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 แต่เนื่องจากเข้ารับการรักษาไม่สม่ำเสมอ จึงทำให้อาการกำเริบจนถึงขั้นเป็นพิษชนิดรุนแรง ส่งผลให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายแปรปรวนอย่างมาก จนเกิดอาการทางระบบประสาท สับสน เพ้อ เห็นภาพหลอน จำใครไม่ได้ รวมทั้งอาการหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ และหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ ซึ่งถ้าอาการเป็นมากอาจทำให้หัวใจล้มเหลวได้ นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว ยังอาจพบอาการทางระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการดีซ่าน ตับอักเสบ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน การควบคุมอุณหภูมิร่างกายผิดปกติ ทำให้มีไข้สูง ชัก บางรายอาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้

โดยทั่วไปการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรคดังกล่าวข้างต้น กรณีที่เกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินไป มักมีอาการผิดปกติมานานหลายเดือน หรือบางครั้งอาจเป็นปี การรักษาหลักๆ ทำได้ 3 วิธี คือ
1.การใช้ยาชนิดรับประทาน เพื่อควบคุมการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ให้ปกติ
2.การกลืนแร่รังสีไอโอดีน และ
3.การผ่าตัดต่อมไทรอยด์

การให้ยาชนิดรับประทานเพื่อควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เหมาะกับผู้ป่วยอายุน้อย อาการไม่มากและเป็นมาไม่นาน หรือต่อมไทรอยด์โตไม่มาก โดยต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลา 12-24 เดือน ระหว่างการรักษาจะต้องมีการตรวจเลือดประเมินผลการรักษาเป็นระยะทุก 6-8 สัปดาห์ เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 6 เดือนแรกของการรักษา ส่วนการกลืนแร่รังสีไอโอดีนจะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ต่อมไทรอยด์โต หรือรักษาด้วยวิธีรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีโรคอื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ ส่วนการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์นั้น ไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ยกเว้นกรณีต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมากจนกดเบียดหลอดลมหรืออวัยวะข้างเคียง

สำหรับโรคไทรอยด์เป็นพิษที่เกิดจากการอักเสบของต่อมไทรอยด์ จนทำให้มีการปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากผิดปกติ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ต่อมไทรอยด์อักเสบนั้น มักเกิดตามหลังจากการติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ หรือการรับประทานยาบางประเภท เช่น ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือจากการที่ร่างกายสร้างสารแอนติบอดีบางชนิด แล้วทำปฏิกิริยากับต่อมไทรอยด์จนกระทั่งต่อมไทรอยด์อักเสบ การรักษาโรคไทรอยด์จากสาเหตุต่างๆ ในกลุ่มนี้จะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การใช้ยาลดอาการใจสั่นถ้ามีอาการใจสั่นมาก หรือการใช้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ สำหรับกรณีที่มีอาการปวดบริเวณต่อมไทรอยด์

แม้โรคไทรอยด์เป็นพิษจะเป็นโรคที่น่ากลัว อีกทั้งวินิจฉัยได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะถ้าอาการแสดงไม่ชัดเจน เช่น ต่อมไทรอยด์ไม่โต ตาไม่โปนจนผิดสังเกต หรือบางครั้งอาการของโรคนี้อาจแฝงมากับอาการของระบบอื่นๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ดีซ่าน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือแม้แต่อาการทางจิต ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทำให้แพทย์ไม่คิดว่าเกิดจากโรคไทรอยด์เป็นพิษ จึงทำให้การวินิจฉัยโรคนี้ยากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามโรคไทรอยด์เป็นพิษเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ดังนั้นการเป็นคนช่างสังเกตและใส่ใจสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์ รับรองว่า “โรคไทรอยด์เป็นพิษ” ก็จะไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอย่างที่คิดอีกต่อไป.




จาก ...................... ไทยโพสต์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม