ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 22-10-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,501
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ชาวออสเตรเลีย เสี่ยงเผชิญหน้ากับฉลามถี่ขึ้น



- ออสเตรเลียมีรายงานคนถูกฉลามจู่โจมเพิ่มมากขึ้น โดยนับตั้งแต่ต้นปีมีเหตุฉลามกัดอย่างน้อย 21 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้เสียชีวิตมากถึง 7 ศพ

- นักวิจัยคาดว่าเรื่องของสภาพอากาศเปลี่ยนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฉลามเข้ามาใกล้แหล่งชุมชนมากขึ้น จนนำไปสู่การทำร้ายมนุษย์

- การจู่โจมของฉลามเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญต้องเร่งระดมสมองหามาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดจำนวนเหยื่อที่ต้องสูญเสียจากฉลามในระยะยาว

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ออสเตรเลีย ต้องเผชิญกับเหตุฉลามกัดนักท่องเที่ยวอยู่บ่อยครั้ง โดยเหตุการณ์ล่าสุดก็คือเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่นายแอนดรูว์ ชาร์ป นักเล่นเซิร์ฟวัย 52 ปี ที่ถูกฉลามทำร้ายจนเสียชีวิตที่รัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย จนเจ้าหน้าที่ได้พบกระดานโต้คลื่นของเขาถูกคลื่นซัดมาและมีรอยฉลามกัด แต่ไม่มีใครได้พบร่างของเขาอีกเลย

จุดที่เขาถูกฉลามจู่โจมคืออ่าวไวลีย์ เบย์ จุดเล่นวินเซิร์ฟยอดนิยม ทำให้เขากลายเป็นเหยื่อรายที่ 7 ที่เสียชีวิตจากคมเขี้ยวของฉลามในน่านน้ำออสเตรเลียในปีนี้ ซึ่งนับว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1929 เป็นต้นมา สร้างความแตกตื่นให้แก่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเล่นวินเซิร์ฟ และเกิดคำถามตามมาว่า เกิดความผิดปกติอะไรขึ้นในท้องทะเลแห่งนี้


ป้ายเตือนจุดที่พบฉลาม ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย


ตัวเลขที่พบแสดงให้เห็นอะไร

จากตัวเลขสถิติที่รวบรวมโดยทางการออสเตรเลียเกี่ยวกับเหยื่อที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในปี 2020 พบว่ามีนักท่องเที่ยวถูกฉลามทำร้ายรวมทั้งสิ้น 21 เหตุการณ์ ทั้งในรัฐนิวเซาท์เวลส์ และควีนส์แลนด์ ซึ่งมากกว่าจำนวนเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 20 เหตุการณ์ต่อปี แต่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 7 ศพ ขณะที่ปีที่ผ่านมาไม่มีผู้เสียชีวิตจากฉลามแม้แต่ศพเดียว ขณะที่เมื่อปี 2015 แม้จะมีรายงานคนถูกฉลามทำร้ายถึง 32 ราย แต่ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตเพียง 2 ศพ ปีนี้จึงนับว่ามีผู้เสียชีวิตโดยฉลามสูงที่สุด นับจากที่ทางการได้นำตาข่ายดักฉลาม รวมทั้งมาตรการอื่นๆ ในการป้องกันฉลามมาใช้ตั้งแต่ปี 1930 ขณะที่ในประวัติศาสตร์ 50 ปีที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตจากการถูกฉลามโจมตีจะอยู่ที่ 0.9 หรือเฉลี่ยไม่ถึง 1 คนต่อปีเท่านั้น


อะไรเป็นปัจจัยให้ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

หนึ่งใน 7 รายของผู้เสียชีวิตในปีนี้ เป็นนักดำน้ำหาปลา ใกล้กับเกาะเฟรเซอร์ ในรัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งจากกรณีนี้นับเป็นการสุ่มเสี่ยง เพราะมีความเป็นไปได้ที่การจับปลาของเขาดึงดูดฉลามให้เข้ามาหา อย่างไรก็ตาม เหยื่ออีก 6 รายที่เหลือไม่ได้มีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงเหมือนรายแรก ทำให้นักวิจัยยังคงไม่สามารถหาคำตอบที่แน่ชัดได้ว่าทำไมฉลามจึงเข้ามาทำร้ายมนุษย์

นาธาน ฮาร์ท ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา แห่งมหาวิทยาลัยแม็คไควรี่ ชี้ว่า เหยื่อที่ถูกฉลามทำร้ายส่วนใหญ่จะเป็นนักเล่นเซิร์ฟมากกว่านักว่ายน้ำทั่วไป ซึ่งอาจจะบ่งชี้ได้ว่า การจู่โจมเกิดขึ้นในทะเลลึกที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยว่ายไปถึง โดยการเสียชีวิตจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งบาดแผลฉกรรจ์ การได้รับความช่วยเหลือส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงทีหรือไม่


เหตุการณ์ขณะที่มิกค์ แฟนนิ่ง นักเล่นกระดานโต้คลื่นชาวออสเตรเลียกำลังถูกฉลามจู่โจมระหว่างแข่งขันเมื่อปี 2015 เคราะห์ดีที่เขารอดมาได้อย่างปลอดภัย


สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญ?

เมื่อปีที่แล้ว ศาสตราจารย์ฮาร์ท และเพื่อนร่วมทีม ได้ศึกษาข้อมูลของฉลามควบคู่ไปกับอุณหภูมิของน้ำ และสถิติปริมาณฝน ทำให้พอจะคาดการณ์ได้ว่า การจู่โจมของฉลามจะเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งทีมวิจัยพบว่า สภาพอากาศส่งผลสำคัญต่อความเสี่ยงที่ฉลามจะเข้าใกล้ชายฝั่งมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาฝนตกซึ่งจะชะล้างเอาสารอาหารลงทะเล และกวนน้ำให้ปากแม่น้ำและชายฝั่งขุ่น ทำให้เกิดแอ่งความเย็น ซึ่งพื้นที่แบบนี้จะดึงดูดฝูงปลา หรือเหยื่อฉลามชนิดอื่นๆ เช่นแมวน้ำเข้ามา ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ฉลามจะตามมาด้วย ประกอบกับกระแสน้ำออสเตรเลียตะวันออกที่รุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียนับเป็นจุดวิกฤติหนักสุดของโลก ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำในทะเลมีความแตกต่างกัน โดยผิวน้ำจะมีอุณหภูมิสูงถึง 4 เท่าของอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวน้ำทั่วโลก ซึ่งศาสตราจารย์ฮาร์ทยังแสดงความเป็นห่วงด้วยว่า หากกระแสน้ำมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปมากเช่นนี้ ฉลามจำนวนมากที่ชื่นชอบความเย็นอย่างฉลามขาว และฉลามเสือนักล่าตัวฉกาจที่มักทำร้ายมนุษย์ จะยิ่งว่ายเข้าใกล้ชายฝั่งซึ่งเป็นที่พักผ่อนของมนุษย์ และย่อมจะเกิดปัญหาหนักตามมาแน่นอน


พฤติกรรมของฉลามเป็นอย่างไร

ฉลามถือเป็นนักล่าที่มีความลึกลับ ทำให้ยากที่จะบ่งชี้พฤติกรรมในการล่าของมันได้อย่างชัดเจน โดยการกัดของฉลาม อาจจะเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ตอบโต้เพราะรู้สึกว่าถูกคุกคาม ปกป้องอาณาเขตของตัวเอง หรืออาจจะสับสนระหว่างมนุษย์กับอาหารของมัน โดยแผ่นกระดานโต้คลื่นที่อยู่บนผิวน้ำอาจจะมองดูเหมือนแมวน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเหยื่ออันโอชะของมันก็ได้ แต่มนุษย์อาจจะไม่ใช่เหยื่อที่มันชื่นชอบมากนัก มิเช่นนั้นคงเกิดเหตุฉลามจู่โจมมนุษย์บ่อยครั้งกว่านี้

โดยปัจจุบันมีฉลามอาศัยอยู่ในทะเลออสเตรเลียนับพันๆ ตัว และทุกครั้งที่เกิดการจู่โจมหรือทำร้ายมนุษย์จนมีการเสียชีวิต ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ก็ต้องมาระดมสมองกันเพื่อหาแนวทางป้องกันและการยับยั้งที่มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่เดือนหลังจากนี้ ที่จะเป็นช่วงหน้าร้อนของออสเตรเลีย และจะมีนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวชายหาดกันมากขึ้น.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/1957134

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม