ดูแบบคำตอบเดียว
  #7  
เก่า 25-06-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,408
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแบบสภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชียภายในปี พ.ศ.2573 : ข้อค้นพบหลัก

โดยสรุป

เมืองชายฝั่งทั่วเอเชียกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมที่มากขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและพายุโซนร้อนที่เข้มข้นมากขึ้น คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC) เตือนว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ระหว่าง 0.43-0.84 เมตรภายในปี พ.ศ.2643 (IPCC, 2019) ขณะเดียวกัน ตลอดศตวรรษที่ 21 พายุมีความเร็วลมรุนแรงซึ่งสร้างความเสียหายมากขึ้น คลื่นพายุซัดฝั่งที่สูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนที่มีสภาวะสุดขีดมากกว่าในอดีต (Knutson et al., 2020)



เราเลือกเมือง 7 แห่งในเอเชียที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและตั้งอยู่บนชายฝั่งหรือใกล้ชายฝั่งเพื่อวิเคราะห์ถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากน้ำท่วมชายฝั่ง(coastal flooding) ในปี พ.ศ.2573 ตามภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นไปตามปกติ (business as usual) การวิเคราะห์ของเราชี้ให้เห็นว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองต่างๆ ที่อยู่ในรายงานนี้ ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ เว้นแต่เราจะลงมือทำในทันทีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างรวดเร็ว

ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงเป้าหมายภายใต้แผนที่นำทางก๊าซเรือนกระจกของประเทศ(nationally determined contribution targets) นั้นไม่เพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากน้ำท่วมชายฝั่งแบบสภาวะสุดขีด รัฐบาลและบรรษัทต่างๆ ต้องลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมให้เร็วขึ้น เช่น ยุติการสนับสนุนทางการเงินให้กับอุตสาหกรรมถ่านหินและเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เพื่อป้องกันมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มมากไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส


ระเบียบวิธีการวิเคราะห์

การวิเคราะห์นี้ใช้ข้อมูลการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในสภาวะสุดขีด ข้อมูลประชากร และ GDP เพื่อคำนวณผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลของเมือง 7 แห่งในเอเชีย โดยถือเป็นหนึ่งในการวิเคราะห์ครั้งแรกที่ใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความละเอียดสูงในการระบุถึงพื้นที่ของเมืองที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และขอบเขตของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น


แหล่งข้อมูล:

- การคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเชิงพื้นที่และข้อมูลน้ำท่วมชายฝั่งมาจาก Climate Central (Kulp and Strauss, 2019)

- ชุดข้อมูลความหนาแน่นของประชากรทั่วโลกเชิงพื้นที่มาจากศูนย์ข้อมูลและการประยุกต์ใช้งานทางเศรษฐกิจและสังคมของสำนักงานการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา(NASA) ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์นี้เป็นข้อมูลล่าสุดในปี พ.ศ.2563

- ชุดข้อมูลระดับโลกเชิงพื้นที่ของ GDP (คิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อคิดตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ(purchasing power parity หรือ PPP) จัดทำโดย Dr. Matti Kummu ซึ่งเคยตีพิมพ์บทความซึ่งใช้ระเบียบวิธีวิเคราะห์แบบเดียวกัน(Kummu et al., 2018) โดยเป็นฐานข้อมูลในปี พ.ศ.2562


ข้อค้นพบหลัก

- ภายในปี พ.ศ.2573 มากกว่า 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ อาจถูกน้ำท่วมหากเกิดอุทกภัยคาบ 10 ปี รวมถึงพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีความหนาแน่นสูงใจกลางเมือง

- กรุงจาการ์ตาเผชิญกับภัยคุกคามสองประการ ทั้งจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและแผ่นดินทรุด ราว 17% ของพื้นที่ทั้งหมดของจาการ์ตาซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ในปี 2573 อาจถูกน้ำท่วมภายใต้สถานการณ์อุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ซึ่งจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 6.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

- พื้นที่ลุ่มต่ำทางตะวันออกของกรุงโตเกียว รวมถึงเขตโคโตะ 5 (สุมิดะ โคโตะ อาดาจิ คัตสึชิกะ และเอโดงาวะ) มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 68,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจจะเกิดขี้นจากน้ำท่วมชายฝั่งภายในปี 2573 หรือคิดเป็น 10% ของ GDP รวมของกรุงโตเกียว

- ในกรุงไทเป สถานีกลางไทเปซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญที่สุดทางตอนเหนือของไต้หวัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเช่นเดียวกับเขตต้าถงอันเก่าแก่ คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 24% ของ GDP รวมของกรุงไทเป

- เกือบ 87% ของพื้นที่กรุงมะนิลาเป็นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมซึ่งหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยในคาบ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2573 ผู้คนมากกว่า 1.54 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ารวม 3.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ


ตารางแสดงการคาดการณ์ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมต่อเศรษฐกิจ(วัดจาก GDP-PPP) ประชากรและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบของเมือง 7 แห่งในเอเชีย เรียงลำดับตามขนาดพื้นที่เมือง (หน่วย : ตารางกิโลเมตร) *GDP(PPP) คือ GDP ที่แปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐโดยสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อคิดตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (purchasing power parity หรือ PPP)


กรุงเทพฯ

- ความเปราะบางของเมืองจากการเกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้น และเสี่ยงจมน้ำอันเนื่องมาจากดินอ่อน การขยายตัวของความเป็นเมือง และการทรุดตัวของแผ่นดิน รวมถึงอิทธิพลของน้ำเหนือ น้ำฝนและน้ำทะเล

- มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2573 ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต RCP8.5

- สัปปายะสภาสถาน รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม

- ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 512,280 ล้านเหรียญสหรัฐและประชากร 10.45 ล้านคนในกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี พ.ศ.2573

- ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 96% ของ GDP(PPP) รวมของกรุงเทพฯ


(มีต่อ)

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม