ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 15-08-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,529
Default




'เสียงรบกวนที่เกิดจากมนุษย์' มลพิษในชีวิตสัตว์ทะเลที่มักถูกมองข้าม

- มลพิษทางเสียงอาจเป็นสิ่งที่หลายคนนึกไม่ถึงว่าจะมีผลกระทบกับสัตว์ทะเลหลายชนิด แต่การศึกษาในช่วงหลายปีของนักวิทยาศาสตร์พบว่าเสียงที่มีต้นกำเนิดจากมนุษย์ โดยเฉพาะเสียงที่เกิดจากเรือและการสัญจรทางน้ำ มีผลกระทบต่อสัตว์ทะเล เช่น วาฬ โลมา (สัตว์ที่ใช้คลื่นเสียงในการสื่อสารและดำรงชีวิต) และสัตว์ทะเลอื่นๆ

- หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลชัดเจนคือการลดความเร็วในการเดินเรือ หลีกเลี่ยงบริเวณที่สัตว์ทะเลซึ่งเปราะบางต่อมลพิษทางเสียงอาศัยอยู่ และในอนาคตนักวิทยาศาสตร์ยังแนะนำการปรับเปลี่ยนรูปแบบและการต่อเรือให้คำนึงถึงการลดเสียงรบกวนมากขึ้น



ครั้งหนึ่งในปี 2544 หลังเกิดเหตุการณ์ '9/11' หรือเหตุโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก ความเงียบก็แผ่ปกคลุมไปทั่วอเมริกาเหนือ ทั้งบนฟ้าและใต้น้ำ

เป็นที่ทราบกันดีว่าผลกระทบหนึ่งจากเหตุการณ์นี้คือมีผู้เดินทางโดยเครื่องบินน้อยลง แต่พร้อมกันนั้นการสัญจรทางเรือก็ลดลงและเป็นผลให้เสียงใต้น้ำลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นในอ่าวที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่โจมตีอย่างอ่าวฟันดี้ในแคนาดา เสียงใต้น้ำลดลงถึง 6 เดซิเบล โดยที่เสียงในระดับต่ำกว่า 150 เฮิรตซ์ก็ลดลงอย่างมาก

แต่รู้ไหมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเสียงใต้น้ำลดลงคืออะไร

บริเวณอ่าวฟันดี้เป็นพื้นที่ที่วาฬไรต์แอตแลนติกมักว่ายน้ำแวะเวียนมา ในช่วงเวลาที่เสียงใต้น้ำลดลง นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยดุ๊กกลุ่มหนึ่งจึงตัดสินใจตรวจสอบดูว่าการที่ทะเลเงียบสงบกว่าปกติมีผลต่อเจ้าวาฬอย่างไร โดยนักวิทยาศาสตร์ทำการวิเคราะห์อุจจาระและดูฮอร์โมนความเครียดของมัน และพบว่าเมื่อเสียงที่เกิดจากมนุษย์เบาลงและส่งผลให้เสียงในมหาสมุทรเบาลงด้วยนั้น ระดับความเครียดของวาฬก็ลดลงเช่นกัน

ที่เสียงมีผลต่อวาฬอย่างมาก นั่นก็เพราะวาฬเป็นสัตว์ที่ใช้เสียงทำทุกอย่าง ตั้งแต่การสื่อสารและการเดินทางเพื่อหาอาหารหรือค้นหาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย นอกจากนี้นักนิเวศวิทยายังอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า เสียงจะสามารถเดินทางในน้ำได้เร็วและไกลกว่าในอากาศ ดังนั้นสัตว์ทะเลต่างๆ ก็ใช้ประโยชน์จากข้อนี้ด้วย

แต่ขณะเดียวกันในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาที่การขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้น ก็มีส่วนทำให้เสียงความถี่ต่ำปรากฏมากขึ้นกว่า 30 เท่าตามเส้นทางเดินเรือ และนั่นก็หมายความว่ามลพิษทางเสียงที่เกิดจากการขนส่งทางเรือนี้ก็จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตของพวกสัตว์ทะเลด้วยเช่นกัน

นักนิเวศวิทยายังเปรียบเทียบไว้อย่างเห็นภาพ (หรือจะพูดให้ถูกคืออย่างได้ยินเสียง) ว่าให้ลองนึกภาพว่าเพื่อนบ้านที่อยู่ชั้นบนในอพาร์ตเมนต์เดียวกันกับเรากำลังทำงานที่ส่งเสียงดังอยู่ ในขณะที่เราต้องประชุมออนไลน์และพรีเซนต์งานสำคัญ มันคงเป็นเรื่องยากมากทีเดียวที่จะทำงานและสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานอย่างราบรื่น และนี่ก็คือสิ่งที่สัตว์ทะเลที่อาศัยหรืออพยพมายังบริเวณที่ใกล้เสียงของมนุษย์ต้องเจออยู่ตลอดเวลา

จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ถือเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ศึกษาว่า เสียงสามารถส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลได้อย่างไรบ้าง และนักวิทยาศาสตร์หลายคนก็มีคำแนะนำที่จะช่วยให้สัตว์หลายชนิดรอดพ้นจากมลพิษทางเสียงที่มักถูกมองข้ามนี้ได้

เสียงในมหาสมุทรที่เกิดจากมนุษย์นั้นมีหลายอย่าง ตั้งแต่เสียงโซนาร์ทางการทหารและการลงจอดของเครื่องบิน ไปจนถึงการก่อสร้างฟาร์มกังหันลมใกล้ชายฝั่ง และการวัดคลื่นไหวสะเทือนเพื่อสำรวจหาน้ำมันและก๊าซ อย่างไรก็ตามแหล่งกำเนิดเสียงที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือเรือ และเสียงจากใบพัด

เมื่อใบพัดของเรือ (โดยเฉพาะใบพัดรุ่นเก่า) หมุนด้วยความเร็วสูง จะเกิดการสร้างแรงกดต่ำ ส่งผลให้เกิดฟองอากาศจำนวนมาก และเมื่อแตกตัวก็จะทำให้เกิดเสียงรบกวนความถี่ต่ำ ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีชื่อเรียกว่าการเกิดคาวิเตชัน (Cavitation) โดยเสียงความถี่ต่ำที่ว่านี้เป็นเสียงช่วงยาว และสามารถรบกวนการสื่อสารของสัตว์ทะเลได้ในวงกว้าง เช่น โลมาปากขวดที่ใช้เสียงทุกประเภทในการสื่อสารกัน บางครั้งเสียงของพวกมันสื่อสารถึงโลมาที่อยู่ไกลถึง 20 กม.

เฮเลน เบลีย์ ศาสตราจารย์ด้านการวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ อธิบายว่ามีการค้นพบว่า โลมาจะปรับเสียงของมันเวลามีเสียงดังในน้ำ เพื่อให้โลมาตัวอื่นได้ยินมันชัดเจนขึ้น การปรับตัวนี้ก็คล้ายเวลาที่เราต้องตะโกนเสียงดังเมื่ออยู่ในคลับเพื่อให้เพื่อนได้ยินสิ่งที่เราพูด

ในความหมายของโลมา คำว่า ?ปรับ? นั้นหมายถึงการลดความซับซ้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำกันเวลาต้องการถ่ายทอดข้อความในที่ที่มีเสียงรบกวนมาก ในการศึกษาปี 2018 ที่นำโดยเบลีย์นักวิจัยได้บันทึกเสียงใต้น้ำที่เกิดจากการจราจรทางเรือในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ พบเสียงสูงสุดถึง 130 เดซิเบล ซึ่งเทียบเท่ากับทางหลวงที่พลุกพล่าน หากโลมาพยายามจะสื่อสารกันภายใต้เสียงรบกวนเช่นนี้เป็นประจำ อนุมานได้เลยว่าพวกมันอาจจะพลาดการสื่อสารระหว่างกันได้

นอกจากนี้ เสียงความถี่ต่ำที่ต่อเนื่องยังส่งผลต่อความสามารถของปลาตัวเล็กในการหาที่อยู่อาศัย โดยปลาตัวเล็กจะใช้เสียงเพื่อเสาะหาระบบนิเวศทางทะเลในอุดมคติ พวกมันจะเฝ้าฟังเสียงใต้น้ำที่หลากหลาย ซึ่งจะบ่งชี้ว่าบริเวณนั้นมีทรัพยากรมากมายและมีสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย แต่เมื่อเสียงจากมนุษย์มาปิดกั้นเสียงธรรมชาติเหล่านี้ พวกมันก็อาจลงเอยด้วยการอาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย

มลพิษทางเสียงถือเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวาฬที่ใช้เสียงสื่อสารกันเป็นประจำ จากการศึกษาวาฬสีน้ำเงินในปี 2555 พบว่าเสียงจากโซนาร์ทางการทหารจะซ้อนทับกับเสียงสื่อสารระหว่างวาฬด้วยกัน ทำให้พวกมันต้องพูดซ้ำๆ ราวกับว่ากำลังคุยโทรศัพท์ที่สัญญาณไม่ดี

ร็อบ วิลเลียมส์ นักชีววิทยาทางทะเลและผู้ก่อตั้ง 'Oceans Initiative' องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานเพื่อปกป้องชีวิตใต้ท้องทะเล เชื่อว่าเสียงในทะเลที่เกิดจากมนุษย์เป็นภัยคุกคามต่อวาฬพอๆ กับที่การตัดไม้ทำลายป่าเป็นภัยต่อหมีกริซลี่ เสียงเหล่านี้ส่งผลกระทบในทุกแง่มุมของวิถีชีวิตของพวกมัน "เสียงมีความสำคัญต่อวาฬพอๆ กับประสาทสัมผัสทั้งหมดของเรา พวกมันสามารถรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั่วทั้งร่างกาย" วิลเลียมส์กล่าว

วิลเลียมส์ได้ศึกษาวาฬเพชฌฆาตเป็นเวลาหลายสิบปี รวมถึงวาฬเพชฌฆาตที่อยู่ทางตอนใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นวาฬที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มที เนื่องจากแหล่งอาหารลดน้อยลง และทะเลเต็มไปด้วยมลภาวะ รวมถึงเสียงในมหาสมุทร


https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/101947

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม