ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 11-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,487
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'ภัยแล้ง' จาก 'เอลนีโญ' ปีนี้ อาจลากยาวถึงปี 2567 คนไทยรับมืออย่างไร? ............. โดย วรุณรัตน์ คัทมาตย์

'ภัยแล้ง' จาก 'เอลนีโญ' ปีนี้ อาจลากยาวถึงปี 2567 คนไทยรับมืออย่างไร?
ประเด็นดาราแต่งงาน เพื่อนบ้านทะเลาะกัน ตอนนี้อาจไม่สำคัญเท่าการเฝ้าระวัง "ภัยแล้ง" จาก "เอลนีโญ" ที่กำลังมาเยือนคนไทยปลายปีนี้ และอาจลากยาวไปจนถึงปี 2567



Key Points:

- สภาพอากาศปีนี้ ไม่ใช่แค่ร้อนมากเป็นประวัติการณ์เท่านั้น แต่ไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก กำลังจะเผชิญกับปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ที่อาจรุนแรงขึ้นและกินเวลายาวนานไปถึงต้นปี 2567

- เอลนีโญ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "El Ni?o ? Southern Oscillation" เรียกอย่างสั้นว่า "ENSO" หมายถึง ความผันผวนซึ่งเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้

- ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ ภัยแล้งหนัก ฝนขาดช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าทุกปี ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรจะแย่ลง ฝูงปลามีจำนวนลดลง นกชายฝั่งขาดอาหาร ชาวประมงขาดรายได้ เป็นต้น


ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมา ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาสภาวะอากาศร้อนรุนแรงมากกว่าทุกปี เนื่องจากโดน "Monster Asian Heatwave" เล่นงาน จนทำให้อุณหภูมิในไทยบางพื้นที่พุ่งสูงทะลุ 44.6 องศาเซียลเซียส

ประกอบกับข้อมูลจาก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ที่รายงานว่า พื้นที่ทั่วโลกในปี 2566 ทำลายสถิติอากาศร้อนที่สุดในรอบ 174 ปี โดยอุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ +0.87 ?C สูงขึ้นมากกว่าปี 2000 ซึ่งอยู่ที่ +0.34 ?C เท่านั้น

ไม่ใช่แค่ร้อนมากเป็นประวัติการณ์เท่านั้น แต่ปีนี้ประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกกำลังจะเผชิญกับปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ที่อาจรุนแรงขึ้นและกินเวลายาวนานมากขึ้นด้วย


เอลนีโญ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร?

จริงๆ แล้ว "เอลนีโญ-ลานีญา" เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยอาจจะเกิดขึ้นทุกๆ 3-4 ปี สลับหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ โดยช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ โลกเราเพิ่งจะผ่านพ้นสภาพอากาศแบบ "ลานีญา" ไปหมาดๆ มาปีนี้เรากำลังจะเข้าสู่สภาพอากาศแบบ "เอลนีโญ" ซึ่งส่งผลให้เกิด "ภัยแล้ง" ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย

สำหรับ เอลนีโญ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "El Ni?o ? Southern Oscillation" เรียกอย่างสั้นว่า "ENSO" หมายถึง ความผันผวนซึ่งเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้

ในสภาวะปกติของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ จะมี "กระแสลมในมหาสมุทรแปซิฟิก" พัดจากทิศตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ชายฝั่งประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้) ไปทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (อินโดนีเซียและออสเตรเลีย) เป็นสภาพอากาศที่สมดุลทั้งกระแสลมและกระแสน้ำอุ่นในทะเล

แต่ถ้าปีไหนเกิดปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" จะพบว่ามหาสมุทรแปซิฟิกมีความกดอากาศและอุณหภูมิที่ผิดปกติไปจากเดิม ทำให้ "กระแสลมในมหาสมุทรแปซิฟิก" อ่อนกำลังลง เกิดกระแสลมเปลี่ยนทิศเป็นตรงกันข้าม คือ พัดจากทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (อินโดนีเซียและออสเตรเลีย) ไปทางทิศตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ชายฝั่งประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้) เมื่อกระแสลมเปลี่ยนทิศ ก็ทำให้ "กระแสน้ำอุ่น-น้ำเย็น" แปรปรวนและไหลผิดทิศทางไปด้วย


ผลกระทบของ "เอลนีโญ" จะเกิดภัยพิบัติอะไรขึ้นบ้าง?

จากการเปลี่ยนทิศทางของกระแสลมและกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ดังกล่าว ทำให้มีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ

1. ทางฝั่งของอินโดนีเซียและออสเตรเลีย (ใกล้กับไทย) : จะเกิดภัยแล้งหนัก ฝนขาดช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าทุกปี ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ รวมถึงระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรจะแย่ลง ฝูงปลามีจำนวนลดลง นกชายฝั่งขาดอาหาร ชาวประมงขาดรายได้

2. ทางชายฝั่งประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ : จะเกิดพายุฝนอย่างหนัก อาจมีน้ำท่วมและดินถล่มอย่างรุนแรง

โดยปกติเอลนีโญจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี (พฤศจิกายน-ธันวาคม) ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของทางซีกโลกใต้ อย่างไรก็ตาม "เอลนีโญ" เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีคาบเวลาที่แน่นอน ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี ขณะที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งอาจกินเวลา 2 - 3 เดือน หรือสามารถเกิดได้นานกว่านั้น อาจยาวนานถึง 12-18 เดือน

แต่ที่น่ากังวลในปีนี้ก็คือ มีรายงานพยากรณ์อากาศจาก องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมปีนี้ มีโอกาส 60% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ และภายในสิ้นเดือนกันยายน 2566 มีโอกาสมากถึง 80% ที่จะเกิดเอลนีโญ ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทย ก็มีพยากรณ์ออกมาในทิศทางเดียวกัน คือ คาดการณ์ปี 2566 ไทยมีแนวโน้มจะพบปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน และจะเกิดขึ้นยาวนานไปถึงปี 2567

ส่วนฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้มาช้ากว่าปกติเล็กน้อย และปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 5% อีกทั้งจะมี "ฝนทิ้งช่วง" ในเดือนมิถุนายน - กลางเดือนกรกฎาคม 2566 ทำให้เกิดภัยแล้งซ้ำซากบริเวณนอกเขตชลประทาน อาจเกิดการขาดแคลนน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรได้ในหลายพื้นที่


คนไทยควรตั้งรับสถานการณ์ "ภัยแล้ง" ในปีนี้อย่างไร?

จากการพยากรณ์ข้างต้น เรียกได้ว่าเอลนีโญมาเยือนคนไทยแน่ๆ แม้จะมีกำลังอ่อน แต่ก็ควรเตรียมรับมือกับ "ภัยแล้ง" ที่จะมาถึงในปีนี้ให้ดี ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ก็คือ "กรมชลประทาน" โดยก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่า ทางกรมฯ ได้เตรียมแผนรับมือเพื่อลดผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวไทย อธิบดีกรมฯ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ให้สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญให้เร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกร ได้แนะแนวทางการรับมือเอลนีโญไว้ว่า ในส่วนของภาครัฐ ควรจัดหาแหล่งน้ำสำรอง บริหารจัดการน้ำเร่งด่วน และเตรียมเครื่องมือที่จะใช้แก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชน ขณะที่ในส่วนของเกษตรกร ควรลดต้นทุนการผลิต ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี และเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น อีกทั้งยังได้คาดการณ์ปริมาณ "ข้าวนาปี-นาปลัง" ของไทยในปีนี้ พบว่าผลผลิตจะอยู่ที่ -33.2 ล้านตัน (ข้าวเปลือก) ซึ่งน้อยลงจากปีก่อน อยู่ที่ -0.6% ถึง 0.9% โดยเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปก็ควรเตรียมรับมือภัยแล้งด้วยเช่นกัน โดยในระยะใกล้ ควรช่วยกันประหยัดทรัพยากรน้ำ เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอในช่วงภัยแล้งปีนี้ ส่วนระยะยาว ก็หนีไม่พ้นการช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอนที่เป็นตัวการทำให้สภาพอากาศแปรปรวนจากภาวะโลกร้อน เพราะยิ่งโลกร้อนมากขึ้น ผลกระทบจากเอลนีโญก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ยืนยันจากงานวิจัยจากทีมนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters เมื่อปีที่แล้ว ชี้ชัดว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ที่เกิดถี่ๆ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานั้น เกิดจากการกระทำของมนุษย์มากกว่าจะเป็นวงจรตามธรรมชาติ และคาดว่าต่อไปในอนาคต "เอลนีโญ" จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าลานีญา ทั้งคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิกหลังจากนี้


https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1072829

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม