ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 24-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,407
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ส่องความเสี่ยงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ .......... โดย ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย



ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลก นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่ซีกโลกหนึ่งเผชิญกับภัยแล้ง แต่อีกซีกโลกกลับเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมรุนแรง ปรากฏการณ์นี้หลายคนคงคุ้นกันอยู่บ้างว่าคือปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติคนละขั้ว โดยนักวิทยาศาสตร์ต่างคาดการณ์ว่าในปีนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญได้วนกลับมาถึงรอบและเริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งคาดว่ารอบนี้จะรุนแรงขึ้นเป็นประวัติการณ์ บางขุนพรหมชวนคิดจึงขอนำประเด็นนี้มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาเกิดจากความผกผันของกระแสอากาศโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตรเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ โดยทั้งสองปรากฏการณ์นี้จะทำให้สภาพอากาศโลกแปรปรวนและมักจะเกิดสลับกัน กล่าวคือ เมื่อเกิดเอลนีโญแล้วมักจะเกิดลานีญาตามมา โดยนักวิทยาศาสตร์ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ปรากฏการณ์ลานีญารอบล่าสุดที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3 ของปี 2563 ที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นลงในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกติดต่อกันนานผิดปกติกว่า 3 ปีได้สิ้นสุดลงแล้ว

โดย ในปี 2566 นี้ สัญญาณของปรากฏการณ์เอลนีโญได้กลับมาและจะส่งผลให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว ตั้งแต่พายุหมุนเขตร้อนที่อาจพัดถล่มหมู่เกาะแปซิฟิก ภูมิภาคเอเชียบางส่วนและออสเตรเลียที่อาจต้องเผชิญกับการขาดฝนและสภาพความแห้งแล้ง ขณะที่ภูมิภาค อเมริกาใต้อาจต้องเผชิญกับฝนที่ตกหนักและรุนแรง เป็นต้น ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญก่อตัวขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2559 ซึ่งทำสถิติเป็นปีที่ร้อนที่สุดที่คนไทยต้องเผชิญ ทำให้คาดว่าในปี 2566 หรือ 2567 อุณหภูมิอาจพุ่งทำลายสถิติเดิม และจะร้อนสุดเป็นประวัติการณ์

แม้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญในรอบนี้จะเพิ่งเริ่มต้นขึ้น แต่ก็ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งที่กำลังขยายวงกว้างและส่งผลกระทบไปสู่เรื่องอื่นๆ ทั้งวิกฤติน้ำ ที่ต้องใช้ในภาคครัวเรือน ใช้ในภาคการผลิต หรือใช้เพาะปลูกก็เริ่มได้รับผลกระทบ ทางการออสเตรเลียคาดการณ์ว่า ผลิตผลทางการเกษตรในช่วงฤดูหนาวของออสเตรเลียมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสภาพอากาศมีแนวโน้มจะแห้งแล้งมากขึ้น หลังจากที่ออสเตรเลียเคยมีปริมาณน้ำฝนสูงสุดติดต่อกัน 3 ปีจากปรากฏการณ์ลานีญา โดยในปีนี้ทั้งข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์และคาโนลามีโอกาสจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ด้านทางการเวียดนามคาดการณ์ว่าบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงอาจเผชิญภัยแล้งหรือการรุกล้ำของน้ำเค็มที่อาจส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรได้ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีสัดส่วนการผลิตข้าวและผลไม้มากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ นอกจากนี้ ภาคการผลิตในหลายประเทศยังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ทำให้ผู้ผลิตในหลายอุตสาหกรรมจำเป็นต้องหากลยุทธ์ในการบริหารจัดการน้ำให้ใช้น้อยลงให้มากที่สุด

สำหรับไทยผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญคาดว่าจะทำให้อุณหภูมิในไทยอาจเพิ่มสูงกว่าระดับปกติ และอาจเกิดสภาพอากาศแปรปรวนในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่เคยมีฝนตกชุกอาจต้องเผชิญกับความแห้งแล้งฉับพลัน หรือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำฝนอาจต้องเผชิญกับพายุฝนรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในหลายพื้นที่ โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประเมินว่า หากไม่มีการเตรียมการรับมือกับความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในปีนี้ จะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร และอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจถึง 3.6 หมื่นล้านบาท

สภาพอากาศโลกที่แปรปรวนรุนแรงขึ้นทุกวันนี้ เชื่อว่าเราทุกคนคงไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ดังนั้น เพียงแค่เราช่วยกันใส่ใจการใช้ชีวิตประจำวันให้รบกวนและทำร้ายโลกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ เราจะมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาได้ค่ะ.


https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2704106


******************************************************************************************************


ปลาตายเกลื่อนหาดทุ่งวัวแล่น ตรวจแล้วเกิดจากแพลงก์ตอน ทำให้ขาดออกซิเจน



เหตุปลาตายเกลื่อนบนหาดทุ่งวัวแล่นจำนวนมาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฯ ตรวจสอบพบน้ำทะเลมีสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นเหม็น เพราะแพลงก์ตอนกลุ่มไดอะตอมตายลงทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน ขณะที่ ผู้ว่าฯ ชุมพร นำทีมฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจิตอาสาเร่งทำความสะอาด หวั่นกระทบแหล่งท่องเที่ยว

จากสถานการณ์ปลาตายเป็นจำนวนมากบริเวณหาดทุ่งวัวแล่น (หน้ารูปปั้นวัวกระทิง) ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว ตั้งแต่เวลา 01.00 น. ของวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงจังหวัดจังหวัดชุมพร ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งชุมพร ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลชุมพรได้ลงพื้นที่และดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุการตาย รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำ จำนวน 3 จุด เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำ ชนิดและปริมาณแพลงค์ตอน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 66 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ศวทก.) ดำเนินการตรวจสอบกรณีปลาตาย บริเวณหาดทุ่งวัวแล่น ต.สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร ผลการตรวจสอบพบว่า น้ำทะเลมีสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นเหม็น ตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเลเบื้องต้น พบว่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ 2.21-3.46 mg/l ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานน้ำทะเล ที่มีค่า 4 mg/l ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก

การตรวจสอบเบื้องต้นด้วยกล้องจุลทรรศน์ พบแพลงก์ตอนกลุ่มไดอะตอม ชนิด Chaetoceros sp. Coscinodiscus sp. Bacteriastrum sp. ซึ่งแพลงก์ตอนกลุ่มนี้ไม่สร้างสารพิษ แต่เมื่อตายลงทำให้เกิดกลิ่นเหม็น และเกิดสภาวะขาดออกซิเจน จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่ พบว่าปลาทะเลตายขึ้นมาเกยหาดบริเวณนี้มีเกือบทุกปี ปริมาณมากน้อยต่างกัน โดยปีนี้มีปริมาณค่อนข้างเยอะ ชาวบ้านเรียกว่า "ปลาตายน้ำแดง" ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูฝน

โดยปลาตายที่พบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปลาแป้น ปลาดอกหมาก และปลาอมไข่ โดย ศวทก. ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำทะเล เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารอาหาร ในห้องปฏิบัติการต่อไป

ด้าน นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าฯ ชุมพร พร้อมด้วย ประมงจังหวัดชุมพร นายอำเภอปะทิว ผอ.ทสจ.ชุมพร และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะพลี ลงพื้นที่บริเวณชายหาดทุ่งวัวแล่น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวได้ จึงระดมส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจิตอาสาในพื้นที่ เร่งเก็บปลาที่ขึ้นมาตายบริเวณหน้าหาดให้มากที่สุด ป้องกันการส่งกลิ่นเหม็นกระทบต่อภูมิทัศน์ และได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ใช้เครื่องจักรเครื่องมือ เก็บปลาที่ตายอยู่กลางทะเลเมื่อสภาพน้ำอำนวย เพื่อป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสียและปลาขึ้นมาเกยหาดอีก.


https://www.thairath.co.th/news/local/central/2704085

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม