ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 11-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,481
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


จีนเดินหน้าวิจัยโครงสร้างส่วนลึกของ 'ทะเลจีนใต้'



คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหนานฟาง ในนครเซินเจิ้น สร้างความคืบหน้าครั้งใหม่ในการศึกษาโครงสร้างส่วนลึกของทะเลจีนใต้

ตลอดเวลา 100 ล้านปีที่ผ่านมา แผ่นเปลือกโลกจำนวนมากได้มุดตัวลงสู่ส่วนลึกของทะเลจีนใต้ ทว่าข้อจำกัดในการลงไปสังเกตการณ์บริเวณก้นทะเล ทำให้การทำความเข้าใจโครงสร้างส่วนลึกของทะเลแห่งนี้เป็นเรื่องยาก

ทีมวิจัยใช้ข้อมูลจากการทดลองแผ่นดินไหวแบบพาสซีฟ หรือการสำรวจที่มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากสิ่งแวดล้อม โดยใช้เครื่องวัดแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทร ร่วมกับสถานีภาคพื้นดิน เพื่อหาโครงสร้างแผ่นดินไหวสามมิติที่มีความละเอียดสูงของแอ่งย่อยทางตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลจีนใต้

บทความวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์ (Nature Communications) ระบุว่า นักวิจัยค้นพบพื้นที่ผิดปกติที่ความลึก 40-80 กิโลเมตรทางตอนใต้ของแอ่งดังกล่าว ซึ่งมีความเร็วแรงเฉือนของแผ่นดินไหวต่ำอย่างเห็นได้ชัด และความผิดปกตินี้ชัดเจนที่สุดที่ความลึกราว 50 กิโลเมตร

หลังจากการวิเคราะห์เชิงอุณหพลศาสตร์ (thermodynamic) และธรณีเคมีของหิน ทีมวิจัยได้รับหลักฐานทางธรณีวิทยาฟิสิกส์ว่าชั้นเนื้อโลกตอนบนในทะเลจีนใต้ทางตอนใต้มีน้ำค่อนข้างมาก โดยแสดงให้เห็นความไม่สมดุลของโครงสร้างความเร็วคลื่นไหวสะเทือนในแนวเหนือ-ใต้ บริเวณส่วนลึกของทะเลดังกล่าว

อนึ่ง การศึกษานี้มีนัยสำคัญต่อการเปิดเผยโครงสร้างส่วนลึกของแผ่นเปลือกโลกที่มุดตัว การกำเนิดของภูเขาไฟและแนวปะการังหลายแห่งในทะเลจีนใต้ รวมถึงวัฏจักรน้ำในเขตมุดตัวของโลก


https://mgronline.com/china/detail/9660000062064


******************************************************************************************************


อ่าวมาหยา "สวรรค์ของฉลามครีบดำ" เตรียมผลักดันเป็นพื้นที่ในการอนุรักษ์และวิจัย

ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลฯ จ.ตรัง เผยผลสำรวจจำนวนและพฤติกรรมตามธรรมชาติของฉลามครีบดำในอ่าวมาหยา เตรียมผลักดันให้พื้นนำร่องในการอนุรักษ์และวิจัย



"อ่าวมาหยา" จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวโด่งดังระดับโลก โดยเฉพาะการเปิดตัวสู่สายตาชาวโลกจากการเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่ทำให้นักท่องเที่ยวแห่แหนกันมาเยือนไม่เคยว่างเว้น จนกระทั่งช่วงเวลาหนึ่งเกิดปัญหาปริมาณนักท่องเที่ยวมากเกินความพอดี และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ได้ประกาศปิดอ่าวมาหยา เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2565 ยาวนานเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน

ปัจจุบัน "อ่าวมาหยา" กลับมาเปิดให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสความงดงามได้ตามปกติแล้ว ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์เรื่องการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยว ตลอดจนการจัดระเบียบเรือรับส่งนักท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลจากการฟื้นฟูดังกล่าว ทำให้อ่าวสวยระดับโลกแห่งนี้ กลายเป็น "สวรรค์ของฉลามครีบดำ"

เมื่อเร็วๆนี้ แฟนเพจส่วนอุทยานแห่งชาติ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจในประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า

อ่าวมาหยาเกาะพีพีเล เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อ่าวมาหยาเป็นอ่าวขนาดเล็กโอบล้อมด้วยเขาหินปูน มีหาดทรายที่ขาวละเอียด ล้อมรอบด้วยทิวทัศน์สวยงาม ที่แห่งนี้ยังเป็นบ้านอันอบอุ่นของเหล่าฉลามครีบดำ

นายจินดา ศรีสุพพัตพงษ์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของการสำรวจติดตามประชากรและพฤติกรรมของฉลามครีบดำ (Carcharhinus melanopterus) ภายใต้โครงการสำรวจจำนวนและพฤติกรรมตามธรรมชาติของฉลามครีบดำในอ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ (Shark Watch Project) ว่า การสำรวจฉลามครีบดำที่อ่าวมาหยา เกิดจากช่วงอ่าวมาหยาได้ทำการปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูเเนวปะการัง และพบว่ามีฉลามครีบดำเข้ามาดำรงชีวิตในเเนวปะการัง และพบจำนวนฉลามครีบดำมากที่สุดประมาณ 100 ตัว ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ที่ผ่านมา

"หลังจากทำการเปิดอ่าวมาหยาให้สามารถกลับมาท่องเที่ยวได้พบว่า จำนวนฉลามในอ่าวมาหยามีจำนวนที่ลดลง จึงได้ทำการสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลถึงปัจจัยต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต พฤติกรรมของฉลามครีบดำ รวมไปถึงจำนวนของฉลามครีบดำในเเต่ละรอบเดือน และผลักดันให้พื้นที่อ่าวมาหยาเป็นพื้นที่นำร่องในการอนุรักษ์และวิจัย เพื่อให้พื้นที่อ่าวมาหยาเป็นพื้นที่ที่พิเศษ สำหรับเป็นแหล่งผสมพันธุ์หรือหาอาหารของฉลามวัยอ่อน อีกทั้งเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักท่องเที่ยว เวลามาท่องเที่ยวอ่าวมาหยาแล้วสามารถพบเห็นฉลามในแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ"

หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลฯ เล่าอีกว่า โดยจะมีวิธีสำรวจด้วยการบินโดรน วันละ 3 เวลา เช้า-กลางวัน-เย็น เพื่อนับประชากรฉลาม และตั้งกล้องถ่ายใต้น้ำ BRUVS (Baited Remote Underwater Video Station) โดยใช้เหยื่อล่อ เพื่อสังเกตพฤติกรรมฉลาม วันละ 4 เวลา (เช้า-กลางวัน-เย็น และค่ำ) และมีการวัดคุณภาพน้ำ ติดตั้ง Data Logger เพื่อเก็บข้อมูลอุณหภูมิรายชั่วโมงและข้อมูลแสง เป็นต้น

จากการสำรวจนี้ยังพบว่า จำนวนในการพบฉลามครีบดำในเเต่ละช่วงการสำรวจไม่เหมือนกัน จึงยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่า มีฉลามครีบดำ เพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียงใด เนื่องจากมีหลายปัจจัย เช่น จำนวนเรือ นักท่องเที่ยว สภาพอากาศ และสภาพพื้นที่เเนวปะการัง เป็นต้น

การสำรวจฉลามครีบดำที่อ่าวมาหยานี้ จึงเป็นก้าวแรกของการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจ "ฉลามครีบดำ" แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อให้ทุกคนเข้าใจสัตว์ผู้ล่าแห่งท้องทะเลอันสง่างามชนิดนี้ และหาแนวทางอนุรักษ์ได้ต่อไป


https://mgronline.com/travel/detail/9660000062207

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม