ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 13-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,433
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ปล่อยน้ำปนเปื้อนอันตรายแค่ไหน?



เวลา 14.46 น. ของวันที่ 11 มีนาคม 2011 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จนกระทั่งทำให้เกิดคลื่นสึนามิความสูง 15 เมตร ในประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะคร่าชีวิตผู้คนไปมากมายเกือบ 20,000 ศพ แล้ว ยังเป็นผลให้ ?โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ? (Fukushima Daiichi) และระบบด้านความปลอดภัยต่างๆ รวมถึงระบบผลิตไฟฟ้าสำรอง ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจนไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับระบบหล่อเย็น เพื่อระบายความร้อนให้กับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้ ส่งผลให้เกิดการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในในโรงไฟฟ้าย่อย 3 โรง และการรั่วไหลของก๊าซไฮโดรเจนซึ่งเป็นสาเหตุของการระเบิดที่เกิดขึ้นตามมา

โดยอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ในครั้งนี้ถูกจัดอันดับความรุนแรงตามลักษณะของการแพร่กระจายรังสี ผลกระทบทางรังสีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน เอาไว้ที่ ระดับ 7 ตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์และรังสี (International Nuclear and Radiological Event Scale, INES) เนื่องจากมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีออกจากโรงไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายในปริมาณสูงมาก มีการอพยพของประชากร เกิดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในระยะยาวในสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลญี่ปุ่นจะสามารถควบคุมเหตุการณ์ จนกระทั่งทำให้สถานการณ์ทุกอย่างเริ่มคลี่คลายลงได้ในที่สุด รวมถึงไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจาก "สารกัมมันตรังสี"

หากแต่...ในช่วง12 ปีที่ผ่านมา ในแต่ละวันจะมีน้ำใต้ดินปริมาตรหลายร้อยลูกบาศก์เมตรไหลเข้าสู่ "โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ" และจากความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีน้ำฝนซึมเข้าไปภายในโรงไฟฟ้า โดยน้ำใต้ดินและน้ำฝนดังกล่าวได้สัมผัสกับเศษแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ จนกลายเป็น "น้ำที่ปนเปื้อนรังสี" ที่ถูกนำไปเก็บรวมกับน้ำปนเปื้อนรังสีที่ใช้ในการหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิง

และในที่สุด...มันก็เดินทางมาถึง จุดที่ไม่สามารถรองรับ "น้ำปนเปื้อนรังสี" เหล่านี้ได้อีกต่อไป และจำเป็นต้องมีการระบายน้ำปนเปื้อนเหล่านั้นลงสู่ท้องทะเล "ท่ามกลางความกังขาของชาวโลกที่ว่า....ปริมาณน้ำปนเปื้อนเหล่านั้น จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงมนุษย์ด้วยหรือไม่?"

อะไรคือ "ความจำเป็น" ของรัฐบาลญี่ปุ่น และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ วันนี้ "เรา" ลองไปรับฟัง "ข้อมูลที่รอบด้าน" จาก "ดร.ยุทธนา ตุ้มน้อย" ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานปรมาณู และรองโฆษกสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ผ่านการสนทนากับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์"


ความจำเป็นที่ต้องปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่ทะเล :

ทางญี่ปุ่นให้เหตุผลในเบื้องต้นว่า ข้อแรก แทงก์เก็บน้ำปนเปื้อนสารรังสีที่ปัจจุบัน จุน้ำเอาไว้มากถึง 1.4 ล้านตัน หรือเท่ากับปริมาณความจุน้ำเท่ากับสระว่ายน้ำมาตรฐานสำหรับการจัดการแข่งขันโอลิมปิกถึง 500 สระรวมกันนั้นใกล้ที่จะเต็มความจุแล้ว

ส่วนเหตุผล ข้อที่สอง คือ ไม่สามารถสร้างแทงก์น้ำเพิ่มได้อีกแล้ว เนื่องจากจะเป็นการกีดขวางการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เข้ารื้อถอนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 12 ปีก่อน รวมถึงจะไม่สามารถสร้างสถานที่เก็บกาก หรือ แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายที่อยู่ในเตาปฏิกรณ์ได้

และ ข้อที่สาม คือ ลดความเสี่ยงในการเกิดการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนรังสีในแทงก์ในกรณีของการเกิดแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายให้กับแทงก์เก็บน้ำเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้อง ?หาทางในการจัดการน้ำปนเปื้อนเหล่านี้?


วิธีการกำจัดและเจือจางน้ำปนเปื้อนสารรังสีก่อนปล่อยลงสู่ทะเล :

สำหรับวิธีการจัดการน้ำที่ปนเปื้อนรังสีในระดับสูงและมีหลายสารรังสีปนเปื้อนอยู่ในน้ำซึ่งอยู่ในแทงก์น้ำขนาดมหึมาเหล่านั้น ในเบื้องต้นจะอาศัยกระบวนการบำบัดและการเจือจางสารปนเปื้อนซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเสียก่อน

1. การกำจัด : คือ ลดความเข้มข้นหรือแยกนิวไคลด์กัมมันตรังสีออกจากน้ำ ยกเว้น "ทริเทียม" (Tritium, 3H) ที่ไม่สามารถนำออกจากน้ำได้

2. การเจือจาง : คือ ลดความเข้มข้นของ "Tritium" รวมถึงนิวไคลด์กัมมันตรังสีที่หลงเหลืออยู่ในน้ำด้วยน้ำทะเลสะอาดจนอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย


ปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Tritium ในน้ำที่อนุญาตให้ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม :

สำหรับค่ามาตรฐานสำหรับการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อมในประเทศญี่ปุ่น จะอยู่ที่ 60,000 Becquerel ต่อ ลิตร (Bq/L) สำหรับ Tritium

อย่างไรก็ดีในเบื้องต้นทางรัฐบาลญี่ปุ่นแจ้งว่า จะมีการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารรังสี (Tritium) จากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะในระดับเพียง 1,500 Becquerel ต่อ ลิตร (Bq/L) เท่านั้น โดยในแต่ละปี จะมีการทยอยระบายน้ำปนเปื้อนสารรังสีในระดับ 22 TBecquerel (TBq) ต่อปี และคาดว่าน่าจะใช้เวลาถึงประมาณ 30 ปี น้ำที่ปนเปื้อนเหล่านั้นจึงจะปล่อยลงสู่ทะเลได้ทั้งหมด


สารรังสีที่ยังพบในโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ :

สำหรับสารรังสีที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและพบในน้ำที่เก็บกักไว้ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ประกอบด้วย...

1.ซีเซียม-134 มีค่าครึ่งชีวิต 2 ปี (หมายถึงระยะเวลาที่สารกัมมันตรังสีใช้ในการสลายตัวจนเหลือครึ่งหนึ่งของกัมมันตภาพรังสีตั้งต้น)

2. ซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี

3.สตรอนเทียม-90 มีค่าครึ่งชีวิต 28 ปี

4.ทริเทียม มีค่าครึ่งชีวิต 12.3 ปี

5.ไอโอดีน-129 ซึ่งมีค่าครึ่งชีวิต 15.6 ล้านปี


น้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดและการเจือจางสารปนเปื้อนปลอดภัยแค่ไหน :


ผลการทดสอบความปลอดภัยจากญี่ปุ่น :

ทางรัฐบาลญี่ปุ่น รายงานว่า เมื่อนำโมเดลทางคณิตศาสตร์ มาทำการประเมินระดับรังสีและผลกระทบทางรังสีในตัวแทนของสิ่งมีชีวิตทางทะเล 3 ชนิด ได้แก่ ปลาตาเดียว, ปู, และสาหร่ายสีน้ำตาล ซึ่งมีการแพร่กระจายอยู่ในทะเลรอบโรงไฟฟ้า และมีโอกาสได้รับสารกัมมันตรังสีจากการปล่อยน้ำลงสู่ทะเล พบว่า ระดับรังสีที่สิ่งมีชีวิตทางทะเลทั้ง 3 ชนิดนี้ได้รับ อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปลอดภัยทางรังสีที่ในระดับนานาชาติให้การยอมรับ

"เท่าที่ส่วนตัวได้เคยอ่านงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องหรือคล้ายคลึงกับการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีในครั้งนี้ โดยเฉพาะการระบายน้ำของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในการดำเนินงานปกติ ยังไม่พบว่า มีงานวิจัยใดที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อมีการปล่อยน้ำดังกล่าวลงสู่ทะเลแล้วจะมีผลกระทบทางรังสีต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล หรือ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ รวมไปจนกระทั่งถึงทำให้สิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้นลดลง เนื่องจากการระบายน้ำปนเปื้อนรังสีดังกล่าวเป็นไปตามเกณฑ์ปลอดภัย ที่อนุญาตให้ระบายออกสู่สิ่งแวดล้อมได้

สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อควรรู้ คือ หากถามว่ามีการสะสมของสารกัมมันตรังสีในสิ่งมีชีวิตได้หรือไม่ คำตอบคือมีแน่นอนแต่จะมีลักษณะและระยะเวลาในการสะสมที่แตกต่างกันไปตามชนิดของสิ่งมีชีวิตและชนิดของสารกัมมันตรังสี เพียงแต่สิ่งมีชีวิตจะมีกลไกในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายอยู่แล้วเป็นปกติ เพราะฉะนั้น สารกัมมันตรังสีซึ่งถือเป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่สิ่งมีชีวิตสามารถรับเข้าไปแล้วก็สามารถขับถ่ายออกจากร่างกายได้เช่นกัน

นอกจากนี้ เบื้องต้นทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ยืนยันแล้วว่า น้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดและการเจือจางสารปนเปื้อนที่พร้อมจะปล่อยลงสู่ทะเล จะไม่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนที่เกินกว่าเกณฑ์การระบายออกสู่สิ่งแวดล้อมได้

หากถามผมว่ากังวลไหม? ในส่วนตัวผม เท่าที่ได้ติดตามแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลญี่ปุ่นในกรณีนี้ ติดตามบทความวิชาการที่เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบของน้ำปนเปื้อนรังสีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน และที่ได้ลองประเมินผลกระทบดังกล่าวด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พบว่าไม่น่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ความกังวลน่าจะไปเกิดในเรื่องของเศรษฐกิจ อันเกิดจากความเชื่อมั่นที่ลดลงต่ออาหารทะเล หรือ อุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นมากกว่า"


ผลกระทบต่อประเทศไทย :

"ที่ตั้งของประเทศญี่ปุ่น อยู่ห่างจากประเทศไทยค่อนข้างมาก ฉะนั้นผลกระทบทางรังสีที่จะมาถึงประเทศไทยจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีในครั้งนี้มีโอกาสน้อยมากจริงๆ อย่างไรก็แล้วแต่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสีของประเทศไทย ได้มีการเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภายในประเทศและนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยืนยันว่าระบบนิเวศทางทะเลและอาหารทะเลของประทศไทยปราศจากการปนเปื้อนทางรังสีจากการดำเนินงานในครั้งนี้

ส่วนประเด็นเรื่อง เราจะสามารถบริโภคอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่นได้หรือไม่นั้น จริงๆประเด็นนี้ทาง ปส. ร่วมกับกรมประมง ได้เคยสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นในตอนที่เกิดอุบัติเหตุใหม่ๆ เมื่อ 12 ปีก่อน และในช่วงที่มีข่าวว่าประเทศไทย เป็นประเทศแรกๆ ที่นำเข้าอาหารทะเลจากพื้นที่ของฟุกุชิมะ โดยมีการสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าที่หน้าด่านและในท้องตลาดมาทำการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีที่ห้องปฏิบัติการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีของ ปส. และมาตรการดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งสำหรับการเก็บข้อมูลกัมมันตภาพรังสีในอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นก่อนการระบายน้ำปนเปื้อนรังสี และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งในระหว่างและภายหลังการปล่อยน้ำออกจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ฉะนั้นประชาชนจึงไม่ต้องเป็นกังวลแต่อย่างใด" ดร.ยุทธนา ตุ้มน้อย รองโฆษกสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวปิดท้ายการสนทนา


https://www.thairath.co.th/scoop/infographic/2708749

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม