ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 17-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,487
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


เผยชัดขึ้นตามลำดับ ผลกระทบเอลนีโญในไทย "ฝนน้อย-แล้งยาว-ทะเลอ่าวไทย"



เกิดขึ้นแล้ว "2566 เป็นมิถุนายนที่ร้อนที่สุดในรอบ 174 ปี? คาด ?แล้งลากยาวถึงเม.ย. 67 ? ฝนปี 66 ส่อน้อยกว่าปี 65 มาก" ชี้ต้องเตรียมรับมือให้ดี โดยเฉพาะภาคเกษตร รศ.วิษณุ อรรถวานิช นักวิชาการม.เกษตรฯ เผย

ด้านนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เผย "น้ำทะเลโลกเขียวบ่อยขึ้นจากโลกร้อน ? มวลน้ำร้อนใหญ่จ่ออ่าวไทยแล้ว ? คาดกระทบหนัก ปะการัง แพลงค์ตอนบลูม พายุ ? เตือนเร่งรับมือ?ปรับตัวเป็นระบบ" ชี้แค่ตั้งกรมโลกร้อน "อาจไม่พอ"

การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลทั่วโลกจากค่าเฉลี่ยปี 1985-1993 (พ.ศ. 2528-2536) ถึงเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา แสดงว่าผิวน้ำทะเลร้อนขึ้นจากค่าเฉลี่ยเป็นส่วนใหญ่ในระดับที่แตกต่างกัน โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่า พื้นที่ทะเลส่วนใหญ่มีสีเฉดแดง สีเฉดแดงแสดงระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ขณะที่เฉดสีน้ำเงินแสดงระดับการลดลงของอุณหภูมิ


"2566" มิถุนายนที่ร้อนที่สุด ในรอบ 174 ปี

"องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) พบว่า มิ.ย. 2566 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โดยอุณหภูมิพื้นผิวโลกอยู่ที่ 1.05?C สูงกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ที่ 15.5?C และเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงเกินค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ถึง 1.0?C

(ภาพที่ 2) และอุณหภูมิผิวน้ำทะเล (Ocean) ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โดยเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 0.92?C ส่วนอุณหภูมิพื้นดิน (Land) ก็ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.ด้วยกันในรอบ 174 ปี โดยเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 1.35?C"

รศ.วิษณุ อรรถวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและไทยอย่างต่อเนื่อง และอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยวันนี้ (16 ก.ค. 2566) ผ่านโพสต์เฟสบุ๊ก Witsanu Attavanich

ก.ค. 2566 โมเดลคาดการณ์สภาพภูมิอากาศสำหรับเอลนีโญ แสดงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่ไม่ปกติในปี 2566 จาก North American Multi-Model Ensemble (NMME) เส้นสีดำแสดงค่าเฉลี่ยการคาดการณ์ของโมเดล พื้นที่สีเทาเข้มแสดง 68% จากทุกโมเดลคาดการณ์ ส่วนพื้นที่สีเทาอ่อนแสดง 95% จากทุกโมเดลคาดการณ์ (ภาพนี้ของ NOAA climate.gov จัดทำบนกราฟของ Emily Becker)


คาด "แล้งลากยาวถึงเม.ย. 67"

"องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) (ภาพที่ 3) รายงานว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดเอลนีโญเพิ่มขึ้นเฉียด 100% ตามที่คาดไว้ และจะลากยาวถึงอย่างน้อย เม.ย. 67 (ภาพซ้ายแท่งสีแดง)

และงานวิจัยจาก CPC (NOAA) คาดว่ากำลังของเอลนีโญระดับปานกลางขึ้นไป (>1.0 ?C) มีความน่าจะเป็นเกิน 70% ขึ้นไป ตั้งแต่ช่วง ส.ค.66-ม.ค.67 (ภาพขวาแท่งสีม่วง) และกำลังของเอลนีโญระดับรุนแรง (>1.5 ?C) มีความน่าจะเป็นสูงสุดเท่ากับ 52% ช่วง ก.ย. ? พ.ย. 66 (ภาพขวาแท่งสีแดงเข้ม)" รศ.วิษณุ กล่าว


ส่อ "ฝนปี 66 จะน้อยกว่าปี 65 มาก"

"ล่าสุด (15 ก.ค. 66) International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (ภาพที่ 4) ได้พยากรณ์ว่าฤดูฝนปี 66 ปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 65 อย่างมาก

โดยช่วง ส.ค.-ต.ค.66 ภาคใต้และตะวันออกตอนล่าง (ตราด ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทราตอนล่าง สระแก้วตอนล่าง) ปริมาณฝนจะลดลงเป็นเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติจากเดิมที่คาดว่าจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

และปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย (พื้นที่สีเขียว) ในภาคเหนือตอนบน (เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา) อีสานบางพื้นที่ (บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์) และภาคตะวันออก (ปราจีนบุรี สระแก้วตอนบน ฉะเชิงเทราตอนบน) ภาคกลาง (สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี)" รศ.วิษณุ กล่าว


เริ่มชัด "สัญญาณแล้งปลายปีนี้?ยาวถึงต้นปีหน้า"

"ช่วง ก.ย.-พ.ย.66 ประจวบคีรีขันธ์ตอนล่าง ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราชตอนบน ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ (พื้นที่สีน้ำตาลและเหลือง) หลายพื้นที่ประสบภัยแล้งเดิมในต้นปีนี้มีโอกาสกลับมาเผชิญกับฝนน้อยกว่าปกติและภัยแล้งปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าต้องระวังให้มาก

ขณะที่ช่วง ต.ค.-ธ.ค.66 ปริมาณฝนจะเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติในทุกภูมิภาค และท้ายสุดช่วง พ.ย.66-ม.ค.67 ปริมาณฝนจะมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่นครศรีธรรมชาติลงมา และภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน (พื้นที่สีเหลือง)

สำหรับสถานการณ์น้ำในประเทศ พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่ใช้การได้จริงเหลือเพียง 17% ของความจุ เขื่อนหลักน้ำเหลือน้อยมากจนน่าเป็นห่วง (เขื่อนภูมิพล 17% เขื่อนสิริกิติ์ 8%เขื่อนสิรินธร 12% เขื่อนอุบลรัตน์ 10% เขื่อนศรีนครินทร์ 12% เขื่อนวชิราลงกรณ 11%) ด้วยปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกไม่เยอะมากในฤดูฝนปีนี้ ดังนั้น ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดสุดๆ ไม่งั้นปี 1-2 ข้างหน้าวิกฤติแน่ ต้องลุ้นให้ฝนตกเหนือเขื่อนให้มากที่สุดก่อนเผชิญภัยแล้งที่รุนแรงและยืดเยื้อ" รศ.วิษณุ เปิดเผย


ชี้ต้องเตรียมรับมือให้ดี โดยเฉพาะภาคเกษตร

"เตรียมรับมือกับเอลนีโญในระดับรุนแรงด้วยความไม่ประมาทกันนะครับอากาศจะร้อนกว่าปกติต้องระวังโรคฮีตสโตรกหรือโรคลมแดดกันด้วยนะครับ

ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันกักเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ให้มากที่สุดทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานกันนะครับเรามีน้ำเหลือน้อยมากแต่ต้องเผชิญกับภัยแล้งที่คาดว่าจะไม่ธรรมดาและอาจยาวนานขุดบ่อจิ๋วและสระสาธารณะใหม่เพิ่มขุดลอกคูคลองและสระสาธารณะที่ตื้นเขินเพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำและช่วยลดน้ำท่วมได้อย่าให้น้ำฝนไหลลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์

ต้องลดการปลูกข้าวนาปรังอย่างจริงจัง เกษตรกรต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอ ปลูกพืชที่เหมาะสมกับน้ำที่มีและทนร้อนและแล้งได้ดี ต้องระวังผลผลิตเสียหายจากแมลงที่คาดว่าจะมากกว่าปกติและโรคในพืชและปศุสัตว์เพราะอากาศที่ร้อนอาจทำให้พืชและสัตว์อ่อนแอ" รศ.วิษณุ กล่าว


กว่าครึ่งมหาสมุทรโลกมีแนวโน้ม "น้ำเขียวบ่อยขึ้น?สาเหตุโลกร้อน"

"นักวิทยาศาสตร์พบว่าทะเลในเขตร้อนเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เป็นการศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมและวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 20 ปี พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของมหาสมุทรโลกมีแนวโน้มที่น้ำจะเขียวบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในเขตร้อน" ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลระดับแนวหน้า และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยวานนี้ (15 ก.ค. 2566) ผ่านโพสต์เฟสบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat


"แพลงก์ตอนบลูมกำลังเพิ่ม" ทะเลอ่าวไทย

"แพลงก์ตอนบลูมกำลังมีมากขึ้นในอ่าวไทยเมื่อแพลงก์ตอนมีมากเกินไปมันส่งผลกระทบด้านต่างๆโดยเฉพาะออกซิเจนในน้ำเกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำโดยตรงภาพที่เราใช้โดรนถ่ายมาในบริเวณอ่าวไทยตอนในคงบอกได้ดีว่าเขียวแล้วเป็นไง

แพหอยแถวนั้นจะรอดมั้ย แม้ไม่ใช่แพลงก์ตอนพิษ แต่หอยอาจโตช้า ขายไม่ได้ราคา หนักหน่อยก็ตายเลย เป็นผลกระทบซ้ำซ้อนที่ส่งผลต่อการทำมาหากินของพี่น้องคนชายฝั่งมากขึ้นเรื่อยๆ

และดูเหมือนจะไม่มีวี่แววว่าจะลด เพราะโลกยังไม่หยุดร้อน อีกทั้งผลกระทบจากมนุษย์โดยตรงก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะน้อยลงอย่างมีนัยยะ

ผมนำภาพโมเดลจากงานวิจัยมาให้ดู เห็นชัดว่าจุดแดงส่วนหนึ่งอยู่ในอ่าวไทย ไม่อยากนำเรื่องเศร้าๆ มาเล่าให้ฟังบ่อยๆ แต่สถานการณ์ตอนนี้มันหนักหน่วง WMO เตือนทุกประเทศเรื่องเอลนีโญ งานวิจัยก็ชี้ชัดว่าทะเลเรากำลังเปลี่ยนเป็นสีเขียวบ่อยขึ้นอย่างรวดเร็ว" ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว


แค่ตั้งกรมโลกร้อน อาจไม่พอ

"หลายฝ่ายก็พยายามครับ เราตั้งกรมโลกร้อน วันนี้ท่านรมต./ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรก็ไปเปิดศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

แต่ในฐานะคนที่ตามเรื่องนี้มาตลอด บอกได้ว่าโลกแปรปรวนเร็วและแรง เราทำดีแล้ว แต่แค่นี้อาจไม่เพียงพอ

ก็หวังเพียงว่าเมื่อทุกอย่างลงตัว เราจะเร่งเครื่องให้ทัน เพราะโลกร้อนไม่หยุดรอเราครับ" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว


"มวลน้ำร้อนใหญ่จ่ออ่าวไทยแล้ว"

"อุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลเกี่ยวข้องโดยตรงกับเอลนีโญ ภาพนี้แสดงน้ำร้อนผิดปรกติที่เคลื่อนเข้ามาจ่อปากอ่าวไทยแล้วครับ สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจาก NOAA แสดงกราฟอุณหภูมิน้ำทะเลที่ทำให้เราเห็นว่า เราทะลุเข้าเอลนีโญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเร่งตัวขึ้น

เอลนีโญจะแรงสุดช่วงเดือนพฤศจิกายน?มกราคม มีโอกาสที่น้ำทะเลร้อนเพิ่มขึ้นเกิน 1 องศา (80%) เกิน 1.5 องศา (50%) และเกิน 2 องศา (20%) ตัวเลข % อาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะแม่นยำเพิ่มขึ้นเมื่อใกล้ขึ้น

เมื่อดูกราฟในอดีต ส่วนใหญ่เอลนีโญจะจบลงเดือนมีนาคม?พฤษภาคม ปีหน้า แต่มีอยู่บ้างที่จะลากยาวไปไกลกว่านั้น กลายเป็นดับเบิ้ลเอลนีโญ" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวในโพสต์เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา


เตือน 3 ผลกระทบ "ปะการัง?สาหร่ายทะเล?พายุ"

"เรามาดูว่าน้ำร้อนส่งผลอย่างไร ? ผมสรุปให้เพื่อนธรณ์ 3 เรื่อง

ผลกระทบต่อปะการังแม้เป็นช่วงฤดูฝนที่น้ำควรจะเย็นแต่ปะการังบางแห่งยังสีซีดไปจนถึงฟอกขาวน้อยๆไม่แข็งแรงอย่างที่ควรเป็นหากเอลนีโญลากยาวไปถึงฤดูร้อนปีหน้ามันเป็นเรื่องน่าสะพรึง

ผลกระทบต่อแพลงก์ตอนบลูม/น้ำเปลี่ยนสี ช่วงนี้ฝนตกแดดออกสลับกันไป แพลงก์ตอนพืชชอบมาก เพราะมีทั้งธาตุอาหารทั้งแสงแดด จึงเกิดปรากฏการณ์น้ำเขียวเป็นระยะ มวลน้ำที่ร้อนกว่าปรกติ ทำให้น้ำแบ่งชั้น น้ำร้อนอยู่ข้างบน น้ำเย็นอยู่ข้างล่าง ออกซิเจนจากน้ำด้านบนมาไม่ถึงน้ำชั้นล่าง หากเกิดแพลงก์ตอนบลูม สัตว์น้ำตามพื้นจะตายง่าย

ผลกระทบต่อพายุ อันนี้ต้องออกไปดูมวลน้ำร้อนในแปซิฟิก น้ำยิ่งร้อนยิ่งถ่ายทอดพลังงานให้พายุหมุนได้มากขึ้น ต้องจับตาดูไต้ฝุ่นปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว


ชี้ "ต้องรีบรับมือ?ปรับตัว"

"พื้นที่ได้รับผลกระทบคืออ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่คนอยู่หนาแน่นและมีกิจกรรมทางทะเลมากสุดในไทย แล้วเราทำอะไรได้บ้าง ?

คำตอบคือ "รับมือ" ด้วยการยกระดับติดตามผลกระทบในทะเลอย่างจริงจัง เพิ่มการสำรวจคุณภาพน้ำ สมุทรศาสตร์ และระบบนิเวศให้ทันท่วงที

"ปรับตัว" ด้วยการลดผลกระทบจากมนุษย์ให้น้อยที่สุด อย่าซ้ำเติมทะเลตอนที่เธอกำลังแย่ มองไปข้างหน้าหาทางหนีทีไล่ เช่น หากต้องปิดจุดดำน้ำในแนวปะการังหากฟอกขาวปีหน้า เราจะต้องทำอย่างไรเมื่อการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว

ปรับตัวกับโลกร้อนไม่ใช่อะไรที่จะทำได้ในพริบตา เราต้องคิดและวางแผนล่วงหน้าครับ อย่างที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกบอกไว้ โลกเปลี่ยนไป เอลนีโญ+โลกร้อน เป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องเผชิญอีกเรื่อยๆ หนนี้เป็นแค่ชิมลางก่อนเข้าสู่ยุคธรรมชาติแปรปรวนอย่างแท้จริง เราควรต้องเรียนรู้ให้มากที่สุด คิดหาหนทางไว้ในขณะที่ยังพอมีเวลา

จะมารายงานเพื่อนธรณ์เรื่อยๆ ส่วนที่ว่าทำได้แค่ไหน ก็จะพยายามสุดแรง โดยมีความหวังเล็กๆ ว่าที่พูดไปจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้าง เปลี่ยนเร็วๆ หน่อยก็ดีนะ เพราะมวลน้ำร้อนใหญ่มาจ่อไทยแล้วครับ" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว


https://greennews.agency/?p=34988

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม