ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 02-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,487
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


Blue Carbon แหล่งกักเก็บคาร์บอนทรงอานุภาพ สำคัญไม่แพ้ "Green Carbon"



รู้จัก "บลูคาร์บอน" (Blue Carbon) คาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง แหล่งกักเก็บคาร์บอนประสิทธิภาพสูงกว่า "Green Carbon" (กรีนคาร์บอน)

เป็นที่รู้กันว่า ต้นไม้ ป่า และผืนดินที่ปกคลุมด้วยพืชพันธุ์ต่างๆ นั้น ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช ทั้งยังช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับอากาศ และช่วยดักจับฝุ่นและมลพิษในอากาศ ทำให้มีการรณรงค์ช่วยกันปลูกต้นไม้ ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า

แต่ขณะเดียวกัน บลูคาร์บอน (Blue Carbon) ก็มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน โดยมีระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เช่น แหล่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน และที่ราบน้ำท่วมถึง เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ทำหน้าที่เหมือนเครื่องฟอกอากาศของโลก

กล่าวได้ว่า บลูคาร์บอน เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ โดยจะกักเก็บคาร์บอนส่วนใหญ่ไว้ในรากและตะกอนดิน ซึ่งคาร์บอนเหล่านี้จะถูกกักเก็บได้นานนับพันปีในกรณีที่ไม่ถูกรบกวน ขณะที่กรีนคาร์บอนกักเก็บคาร์บอนไว้ในชีวมวลและปล่อยกลับออกมาเมื่อต้นไม้ตาย ทำให้บลูคาร์บอนสามารถกักเก็บคาร์บอนสูงกว่า กรีนคาร์บอน (Green Carbon) หรือป่าไม้ถึงเกือบ 10 เท่า

นอกจากช่วยดูดซับคาร์บอนแล้ว "ระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งทะเล" ยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ เป็นที่หลบภัยของสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ช่วยลดความรุนแรงของคลื่น ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นแหล่งอาหารของคนและสัตว์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นดินตามแนวชายฝั่งให้อีกด้วย


ป่าชายเลนในประเทศไทย

จากการสำรวจสังคมพืชป่าชายเลนโดยส่วนวิจัยทรัพยากรป่าชายเลน กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปี 2564 ได้ดำเนินการสำรวจโครงสร้างป่าชายเลนในพื้นที่ 7 จังหวัด พบว่าความหนาแน่นของต้นไม้ต่อพื้นที่ จ.จันทบุรี มีความหนาแน่นมากที่สุดเท่ากับ 373.84 ต้นต่อไร่ รองลงมา คือ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.กระบี่ มีค่าความหนาแน่น 264.11 และ 217.78 ต้นต่อไร่ ตามลำดับ จังหวัดที่มีความหนาแน่นน้อยที่สุด คือ จ.ระยอง มีค่า 98.13 ต้นต่อไร่

สำหรับผลผลิตมวลชีวภาพของต้นไม้ป่าชายเลนของ จ.จันทบุรี จ.ระยอง จ.นครศรีธรรมราช จ.นราธิวาส จ.กระบี่ จ.ตรัง และ จ.สตูล มีค่ารวมเฉลี่ยเท่ากับ 33.65 ตันต่อไร่ แบ่งเป็นมวลชีวภาพเหนือดิน เท่ากับ 22.89 ตันต่อไร่ และมลชีวภาพใต้ดิน เท่ากับ 10.76 ตันต่อไร่

โดยจังหวัดที่มีมวลชีวภาพสูงสุด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช มีมวลชีวภาพรวมเฉลี่ยเท่ากับ 49.77 ตันต่อไร่ รองลงมา ได้แก่ จ.ตรัง และ จ.ระยอง มีมวลชีวภาพรวมเฉลี่ยเท่ากับ 42.37 และ 35.07 ตันต่อไร่ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีมวลชีวภาพน้อยสุด ได้แก่ จ.นราธิวาส มีค่าเท่ากับ 13.82 ตันต่อไร่

เมื่อนำค่าผลผลิตมวลชีวภาพมาคำนวณหาปริมาณการกักเก็บคาร์บอน พบว่ามีค่ารวมเฉลี่ย 15.79 ตันคาร์บอนต่อไร่ แบ่งเป็นคาร์บอนเหนือพื้นดิน เท่ากับ 10.73 และ คาร์บอนใต้ดิน เท่ากับ 5.06 ตันคาร์บอนต่อไร่ ซึ่งปริมาณการกักเก็บคาร์บอนมีค่าแปรผันตามผลผลิตมวลชีวภาพ

โดย จ.นครศรีธรรมราช มีการกักเก็บคาร์บอนเฉลี่ยต่อพื้นที่มากที่สุด 23.38 ตันคาร์บอนต่อไร่ รองลงมา ได้แก่ จ.ตรัง และ จ.ระยอง มีการกักเก็บคาร์บอนเท่ากับ 19.90 และ 16.42 ตันคาร์บอนต่อไร่ ตามลำดับ


บลูคาร์บอนในไทย

สำหรับการเคลื่อนไหวเรื่องบลูคาร์บอนในไทยนั้น เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ร่วมกับ มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท (Worldview Climate Foundation) ลงนามในพิธีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ

โดยมีนโยบายและความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะฟื้นฟู ป้องกัน และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยบริเวณปากแม่น้ำและชายฝั่งทะเล เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับบลูคาร์บอน (Blue Carbon) อีกทั้งการลดความเสี่ยงของพื้นที่ชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะ อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น


แหล่งหญ้าทะเล

จากข้อมูลของ bluecarbonsociety ระบุว่า แหล่งหญ้าทะเล คือ ระบบนิเวศที่ดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด มีพื้นที่น้อยกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ถึงปีละ 10 เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวกันแหล่งหญ้าทะเลกลับเป็นระบบนิเวศที่ถูกคุกคามมากที่สุดของโลก ในแต่ละปีพื้นที่หญ้าทะเลจะลดลงถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์ และยังพบว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แหล่งหญ้าทะเลทั่วโลกได้ตายลงไปแล้วกว่า 29 เปอร์เซ็นต์

สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจครั้งล่าสุดของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่าเมื่อปี 2015 ประเทศไทยมีพื้นที่หญ้าทะเล 256 ตารางกิโลเมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2012 ที่ตอนนั้นมีพื้นที่เพียง 190 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต้องขอบคุณอุปกรณ์การสำรวจที่ดีขึ้น ที่ทำให้การสำรวจสามารถขยายพื้นที่ออกไปได้ดีกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแหล่งหญ้าทะเลบางแห่งมีสภาพดีขึ้น แต่บางแห่งก็ยังคงถูกคุกคามจากน้ำมือของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน ท่าเรือ รีสอร์ต การพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง รวมทั้งการทำประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ก็ล้วนมีส่วนที่ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมลง.

ข้อมูลจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), bluecarbonsociety, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2713820

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม