ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 14-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,426
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


'ภาวะโลกเดือด' นี่ยังเพียงเริ่มต้น


ภาพจากAFP

"ปีนี้โลกร้อนมากๆ ยุโรป ลำบากมาก ตายเยอะ เกิดไฟไหม้ป่า ไม่มีน้ำใช้ คนตกใจ เห็นได้จากญี่ป่นภาคใต้เจอไต้ฝุ่นรุนแรงมาก ส่วนภาคเหนือกลับเกิดฮีทสโตรก เหมือนโลกมันเดือดปุ๊งๆๆๆ แล้ว จริงๆ "

การที่องค์การสหประชาชนประกาศเมื่อเร็วๆนี้ โลกได้ก้าวข้าม ภาวะโลกร้อน ไปสู่?ภาวะโลกเดือด? หรือ Global Boiling แล้วเพราะเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านอุณหภูมิโลกสูงขึ้น จนต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์โลก เป็นเรื่องช็อกของผู้คนทั้งโลก

ในมุมประเทศไทย เชื่อว่าหลายคนคงสัมผัสได้ถึงสภาพอากาศร้อนสุดๆในปีนี้ เป็นประจักษ์พยานว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ ?ภาวะโลกเดือด?แล้วจริงๆ แต่แค่การรับรู้ว่าโลกกำลังเดือดปุดๆเหมือนตั้งแกงบนเตาแบบหรี่ไฟเบาๆ แล้วไม่ทำอะไรเลยคงไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควรจะทำและควรจะเป็น เป็นอย่างไร มาฟังมุมมองของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้

ดร.ปัณฑิตา ตันวัฒนะ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาวะโลกเดือดมีข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาโลก ยืนยันจากอุณหภูมิโลกสูงติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่าน ซึ่งเป็นสามสัปดาห์ที่ร้อนที่สุด ไม่เคยอุณหภูมิสูงขนาดนี้และสูงต่อเนื่องมาก่อน ถือเป็นบันทึกหน้าประวัติศาสต์ใหม่ของอุณหภูมิโลก ซึ่งจากข้อมูลโลกเริ่มอุ่นตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 200 ปี ก่อน และเส้นกราฟค่อยๆ ขึ้นเป็น 45 องศา แต่ปีที่กราฟชันมาก คือ พ.ศ.2523 สอดรับกับข้อมูลปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศช่วงนั้น เหมือนการต้มน้ำที่จะค่อยๆ เดือด อุณหภูมิขึ้นตามคาร์บอนที่เราปลดปล่อย แต่ตอนนี้ใช้คำว่า อุ่นอีกต่อไปไม่ได้แล้ว เป็นการสิ้นสุดยุค ?โลกร้อน? เข้าสู่ยุค "โลกเดือด Global Boiling" เป็นคำที่องค์การสหประชาติใช้อย่างเป็นทางการ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น

อีกปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อุณหภูมิของมหาสมุทรและน้ำทะเลสูงที่สุดและร้อนที่สุดเท่าที่บันทึกไว้เช่นกันเป็นหลักฐานว่า ความร้อนเพิ่มขึ้นทั้งในพื้นผิวและพื้นน้ำ การมาถึงจุดที่ทำลายสถิติไม่ได้น่าแปลกใจมากนัก เพราะความพยามของของทั่วโลกน้อยมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย มีรายงานการประเมินความพยายามของทุกประเทศทั่วโลก ประเทศไทยถูกจัดลำดับว่าไม่เพียงพออย่างวิกฤต เป็นเพียงชาติเดียว ความพยายามในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ไม่เพียงพอ ซึ่งเชื่อว่า อุณหภูมิจะทะลุเกิน 1.5 องศาแน่นอน

" UN ประกาศเราเข้าสู่นิวนอร์มอลใหม่ โลกที่คุ้นเคยจะไม่เกิดขึ้นในยุคเราและลูกหลาน เราต้องอยู่กับโลกที่ร้อนที่ร้อนแบบนี้ ไม่สามารถกลับไปได้แล้ว สิ่งที่ต้องพบเจอ ไทยอยู่ในลำดับที่ 8 ของประเทศที่เสี่ยงจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ จากอันดับ 10 ส่วนอันดับ 1 คือ เปอร์โตริโก ถัดมาเมียนมาร์ เฮติ ฟิลิปปินส์ ปากีสสถาน เวียดนาม บังคลาเทศ เนปาล โดมินิกัล ทั้งหมดเป็นประเทศยากจน เป็นประเทศที่เปราะบาง มีความสามารถในการปกป้องตัวเองได้น้อย อยู่ในโซนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด หลุมดำอยู่ตรงนี้"


สภาพอากาศเปลี่ยน:ไทยกระทบหนัก

นอกจากนี้ มีการจัดลำดับประเทศไทยมีความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในปี 2613 อยู่ในลำดับที่ 7 ถ้าคิดจากจำนวนประชากร แต่ถ้าคิดจากความเสียหายทางเศรษฐกิจอยู่ในลำดับ 10 อีกทั้งในเว็ปไซต์ขององค์การนาซ่าเผยแพร่แผนที่พื้นที่สีแดงน้ำท่วมแผ่นดินหาย ถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 6 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จะรวมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงอ่าวไทยตัว ก ไทยเผชิญหลายความเสี่ยง รวมถึงภัยแล้งไทยเสี่ยงเจอภัยแล้งอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนความผิดปกติของสภาพอากาศ โดยเฉพาะพายุ เมื่อดูสถิติย้อนหลัง 60 ปี จากที่พายุเข้าตามฤดูกาล ในเดือนตุลาคม ปัจจุบันเป็นพายุหลงฤดูกาล พายุถี่ขึ้น ทิ้งช่วง หรือเกิดพายุซ้อนกันหลายลูก

" นั่นหมายถึงไทยจะเจอกับภัยซ้อนภัย หรือภัยที่มาต่อเนื่อง มาเป็นซีรี่ย์ สมมติเจอพายุแล้วเกิดน้ำทะเลหนุนเข้ามาในเวลาเดียวกัน เจอศัตรูรอบด้าน ที่น่ากังวลเป็นภัยที่ต่อเนื่อง พายุลูกแรกยังไม่จบ พายุลูกที่สองมาเติมอีก หรือเพิ่งผ่านแล้งมาเจอฝนหนักเลย นี่เป็นแรงเหวี่ยง "

ส่วนข้อมูลปริมาณน้ำฝนของไทยอย่างปี 2554 ปริมาณฝนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 50 ปี ไม่เคยเกิดมาก่อน แต่ไม่ใช่จะ 50 ปีต่อไปจะเกิดอีก เพราะจากข้อมูลปริมาณฝนมากสุดเกิดในปี 2559 ย่นมาแค่ 5 ปี เกิดฝนหนัก ช่วงระหว่าง 5 ปีนั้นยังเกิดภาวะแล้งจัดในรอบประวัติศาสตร์เช่นกัน ความแกว่ง ความคาดเดายาก ความรุนแรง ควบคุมยากเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องรอเข้ายุคโลกเดือด

อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบน้ำแข็งละลาย ก้อนน้ำแข็งแผ่นที่ใหญ่ที่สุดหลุดและลอยไปตามมหาสมุทร ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น กระทบพื้นที่ชายฝั่งทะเล แผ่นดินหายไป ประเทศไทยเกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่งมานานแล้ว แต่เป็นภัยที่ช้า หายไปปีละมิลลิเมตร แต่จริงๆ การหายของแผ่นดินจะหายไปตลอดกาล น้ำทะเลรุกคืบเสียแผ่นดินไปเรื่อยๆ มีกรณีตัวอย่างบ้านขุนสมุทรจีนที่อ่าวไทย เผชิญปัญหากัดเซาะรุนแรง ย้ายบ้านหนี20 รอบ ไม่รวมปัญหาคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือ Storm Surge ซึ่งไทยมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร ทั้งอันดามันและอ่าวไทย จะได้รับผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติ เชื่อมโยงเศรษฐกิจ วิถีชีวิตที่ได้รับผลกระทบ น้ำทะเลที่ร้อนยังส่งผลกระทบปะการังฟอกขาว อาจเกิดการสูญพันธุ์ขนานใหญ่ อุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นมีผลโดยตรงต่อการอยู่รอดของปะการัง

ภาวะโลกเดือดยังเชื่อมโยงกับสุขภาพ ดร.ปัณฑิตา กล่าวว่า คลื่นความร้อนหรือฮีทสโตรก ไม่ว่าจะในอังกฤษ สหรัฐ เสปน ยุโรป จนถึงขั้นเสียชีวิต ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น เราเคยชินกับอากาศร้อน แต่ก็มีคนตายจากคลื่นความร้อน ซึ่งเราก็ยังต้องปรับตัวกับอากาศที่ร้อนมาก ความร้อนมาพร้อมความแล้งและแห้ง ทำให้น้ำในแหล่งกักเก็บน้ำระเหยไป ส่งผลให้ปริมาณน้ำน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อุณหภูมิที่สูง ฝนน้อย ยังตามมาด้วยไฟป่า ตัวการที่ก่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ฝุ่นพิษและหมอกควันป็นมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ มันเป็นซีรีย์จริงๆ

ไทยต้องเตรียมรับมือกับภาวะโลกเดือด โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลต่อการเพาะปลูก ขณะที่เกษตรกรขาดองค์ความรู้และเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย เป็นหนี้ ประเทศก็ส่งออกไม่ตามเป้าหมาย ราคาอาหารแพงขึ้น นี่คือปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่ต้องเผชิญ

แม้ไทยจะมีแผนรับมือระดับชาติ มีแผนแม่บทโลกร้อน ไทยประกาศเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 แม้ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในวันนี้ แต่ผลกระทบไม่ได้หยุดเกิดขึ้นทันที การปรับตัวซึ่งไทยมีแผนปรับตัวระดับชาติ ระดับจังหวัดกำลังทำ ส่วนระดับท้องถิ่นยังไม่มีเลย ซึ่งตนเองกำลังทำงานวิจัยตรงนี้ เพื่อชาวบ้านจะได้ปรับตัวก่อน ยังไม่รวมเอสเอ็มอี เกษตรกร ที่ต้องขยับ เริ่มตอนนี้แม้ช้า แต่ก็ไม่ควรช้าไปกว่านี้แล้ว เราพยายามผลักดันการรู้ รับ ปรับ ฟื้น บางที่ใช้คำว่า เมืองยืดหยุ่น ชุมชนยืดตัว หรือธุรกิจที่ปรับตัว รุกเร็ว รัฐต้องให้ความสนใจและมีนโยบายด้านการปรับตัวที่ชัดเจนกว่านี้ หากภัยพิบัติเกิดขึ้น ความเสียหายจะมหาศาล เพราะไทยไม่ได้เตรียมรับมือ อีกประการที่ห่วงคือ การทำ Net Zero แบบฉาบฉวย ไม่มองโลกร้อนเป็นปัญหาต้องแก้ มองแค่เป็นช่องทางทำธุรกิจใหม่ หรือทำเพื่อผ่านเกณฑ์ประเมินตลาดหลักทรัพย์

" ภาคเกษตรเป็นภาคที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เยอะมากแต่ภาคเกษตรกรรมต้องการการเปลี่ยนผ่านอย่างเท่าเทียม ควรมีกองทุนที่เข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรเกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต รัฐควรสร้างระบบที่ทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น จุฬาฯ พยายามพัฒนาระบบถูก ง่าย ดี และใช้ง่าย แต่ปลายทางก็ยังแพงอยู่ดี ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อปรับตัวกับโลกเดือด ลดความเสียหายของภาคเกษตร แต่ปัญหาอายุเฉลี่ยเกษตรกรเป็นผู้สูงอายุ ขาดคนรุ่นใหม่สานต่อ เราจะขาดผู้ผลิตอาหารของประเทศภายใน 5-10 ปี สถาบันการศึกษาต้องร่วมกันสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าถึงเทคโนโลยีให้กับประเทศ ส่วนภาคประชาชนยังต้องการการส่งเสริมและสนับสนุนสร้างความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอีกมาก " ดร.ปัณฑิตา กล่าว


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม