ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 18-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,439
Default

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ


17 สิงหาคม วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เผยแหล่งอาศัย 13 แห่งในไทย



17 สิงหาคม วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุจำนวนพะยูนในธรรมชาติเพิ่มขึ้น ประเมินประชากรพะยูนในปี 2565 พบประมาณ 273 ตัว และในปี 2566 อยู่ระหว่างการสำรวจในพื้นที่แหล่งอาศัยพะยูน 13 แห่ง

วันนี้ 17 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 17 สิงหาคมของทุกปี ตามมติคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เน้นเป้าหมายเพิ่มประชากรพะยูน การดูแลพื้นที่อาศัยของพะยูน การจัดการท่องเที่ยว/ประมงเพื่อลดการรบกวนพะยูน การจัดตั้งศูนย์ช่วยชีวิต การสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์หายากและศูนย์เรียนรู้ฯ และการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์พะยูน

สำหรับ "พะยูน" ในไทยมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Dugong มีชื่อเรียกท้องถิ่นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น วัวทะเล หมูน้ำ ฝั่งจันทบุรีจะเรียกว่า หมูดุด ส่วนในภาษามลายูจะเรียกว่า ดุหยง ซึ่งแปลว่าหญิงสาวแห่งท้องทะเล พะยูนที่พบในไทยมีลักษณะเด่นคือหางจะมีลักษณะเป็นหางสองแฉกคล้ายหางโลมา

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดกิจกรรมงานวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 ?ระลึกถึงมาเรียม ยามีล ร่วมใจกันรักษ์พี่น้องและพ่อแม่พะยูนของไทย? ที่สวนสาธารณะเทศบาลเมืองกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่

โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า 4 ปีแห่งการจากไปของมาเรียมและยามีลพะยูนน้อยแห่งทะเลอันดามัน ทำให้สังคมหันมาสนใจในการอนุรักษ์พะยูน และตระหนักถึงปัญหาของขยะทะเลกันมากขึ้น

ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช และหน่วยงานในสังกัดได้ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการทำงานเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพะยูน รวมถึงสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไทยมาโดยตลอด

โดยผ่านกระบวนการทำงานภายใต้ "มาเรียมโปรเจค" ซึ่งจากการสำรวจประเมินประชากรพะยูนในปี 2565 พบพะยูนประมาณ 273 ตัว และในปี 2566 อยู่ระหว่างการสำรวจในพื้นที่แหล่งอาศัยพะยูนทั้ง 13 แห่ง ประกอบด้วย

1.บริเวณเกาะลิบง เกาะมุก และอ่าวสิเกา จังหวัดตรัง

2.เกาะศรีบอยา เกาะปู เกาะจำ และอ่าวนาง จังหวัดกระบี่

3.เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ อ่าวพังงา จังหวัดพังงา อ่าวป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต

4.เกาะลิดี เกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล

5.เกาะพระทอง จังหวัดพังงา

6.หมู่เกาะกรูด จังหวัดตราด

7.อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี

8.ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง

9.อ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

10.อ่าวทุ่งคาสวี จังหวัดชุมพร

11.อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

12.อ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี และ

13.อ่าวเตล็ด จังหวัดนครศรีธรรมราช

จากความร่วมมือในการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 1 นั้น ถือว่าผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจ เพราะเราสามารถเพิ่มจำนวนพะยูนในธรรมชาติได้เพิ่มขึ้นและยังสามารถออกกฎกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศให้แหล่งอาศัยของพะยูนในอำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ในอนาคตจะเดินหน้าสานต่อการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2568) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการเพิ่มจำนวนประชากรของพะยูนในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา ต้องขอชื่นชมกับพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว และภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน แก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกมิติตั้งแต่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการปัญหาขยะทะเลตั้งแต่ต้นทางก่อนลงสู่ทะเล อีกทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการจัดการแบบเต็มรูปแบบอีกด้วย

ด้านนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) กล่าวเสริมว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 เป็นวันที่พะยูนมาเรียมเสียชีวิต และต่อมาพะยูนยามีลก็เสียชีวิตเช่นกัน ลูกพะยูนทั้งสองตัวถูกพบในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยสาเหตุหลักของการตายเกิดจากการพลัดพรากจากแม่ที่คอยดูแลให้นม แล้วมีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากมีขยะอยู่ในร่างกาย

เรื่องราวของลูกพะยูนขณะนั้นมีผลทำให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับประเด็นการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล และตระหนักถึงปัญหาขยะทะเลที่เป็นสาเหตุการตายของพะยูนมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงมาเรียมและยามีล จึงกำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำเสมอว่า กระทรวงฯ ไม่เคยหยุดทำงานเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพะยูนรวมถึงสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไทย ซึ่งได้หารือกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งดำเนินการเพิ่มจำนวนประชากรพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล พร้อมกำชับให้หน่วยงานในสังกัดกรม ทช. เดินหน้าสานต่อการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (2566-2568)

ตลอดจนเร่งบูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ผู้ประกอบการ และประชาชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด โดยเฉพาะพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ต่อไป

ดังนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เล็งเห็นถึงสิ่งสำคัญในการอนุรักษ์พะยูน จึงจัดกิจกรรมงานวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 "ระลึกถึงมาเรียม ยามีล ร่วมใจกันรักษ์พี่น้องและพ่อแม่พะยูนของไทย" ขึ้น ระหว่างวันที่ 16 ? 17 สิงหาคม 2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกแก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พะยูน และแหล่งหญ้าทะเลของไทย


https://www.prachachat.net/local-economy/news-1372813

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม