ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 30-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,426
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


กรมประมงจับมือ อย. ตรวจเข้ม อาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น เพื่อความมั่นใจผู้บริโภค


โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ เครดิตภาพ เอเอฟพี

กรมประมง จับมือ อย. ยกระดับความเข้มงวด ตรวจสอบระดับกัมมันตภาพรังสี สินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่นำเข้าจากญี่ปุ่น หลังมีการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีลงสู่ทะเลนอกฝั่งเมืองฟุกุชิมะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วย ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ร่วมประชุมกับผู้แทนจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) เพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น กรณีการปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในจังหวัดฟุกุชิมะ ลงสู่ทะเล เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ถึงแม้ว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะมีปริมาณสารกัมมันตรังสีต่ำกว่าเกณฑ์กำกับดูแล (Regulatory Standards) สำหรับการปล่อยทิ้งของญี่ปุ่น และเกณฑ์แนะนำ (Guideline Level) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับน้ำดื่ม รวมถึงได้รับความเห็นชอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศให้สามารถปล่อยน้ำปนเปื้อนที่ผ่านการบำบัดลงสู่ทะเลได้ ส่งผลให้มีกระแสข่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับการนำเข้าอาหารทะเลที่อาจปนเปื้อนสารพิษ ถึงแม้จะได้รับการประเมินจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) แล้วว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดมีค่าการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีอยู่ในระดับปลอดภัย ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นั้น

นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการตรวจสอบการนำเข้าปลาและกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ณ ด่านศุลกากร ตั้งแต่ปี 2559 จากการถ่ายโอนภารกิจในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูป จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมประมงได้เพิ่มความเข้มงวดโดยยกระดับการตรวจติดตามเฝ้าระวังสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลที่นำเข้าจากแผนปฏิบัติงานประจำปี

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า สำหรับการสุ่มตัวอย่างอาหารทะเล ที่นำเข้าจากเมืองที่มีความเสี่ยงที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ เช่น โตเกียว ฟุกุชิมะ ชิบะ กุนมะ โทชิกิ อิบารากิ มิยางิ นีงาตะ นากาโนะ ไซตามะ เป็นต้น โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีในตัวอย่างสัตว์น้ำที่นำเข้าอย่างเข้มงวด เพื่อมิให้มีการนำเข้าอาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งจากการตรวจสอบจนถึงปัจจุบัน พบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสีไม่เกินมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข

และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขประเทศญี่ปุ่น ที่ตรวจสอบตัวอย่างอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ประมงจากเมืองฟูกุชิมะจำนวน 4,375 ตัวอย่าง ในปี 2565 จนถึงเดือนเมษายน 2566 ก็พบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสีไม่เกินมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งหากพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนดก็จะสั่งเรียกคืนหรือระงับการนำเข้าทันที

ด้าน เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขอผู้บริโภคอย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัย เพราะการนำเข้าอาหารทะเล เจ้าหน้าที่ด่านประมง ของกรมประมง และด่านอาหารและยา ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อมิให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนด หากพบจะสั่งเรียกคืน และระงับการนำเข้าทันที

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2554 กองด่านอาหารและยา อย. สุ่มตัวอย่างอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่น กว่า 1,000 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อตรวจวัดปริมาณกัมมันตรังสี ไม่พบตัวอย่างอาหารที่มีปริมาณกัมมันตรังสีเกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ประเทศญี่ปุ่น ได้เก็บตัวอย่างอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ประมงจากเมืองฟูกุชิมะ ส่งตรวจวิเคราะห์ในปี 2565 จนถึงเดือนเมษายน 2566 จํานวน 4,375 ตัวอย่าง พบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสีไม่เกินมาตรฐานตามที่กำหนด ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยเช่นกัน

เภสัชกรเลิศชาย กล่าวด้วยว่า ทาง อย. ร่วมกับกรมประมง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ดำเนินการเฝ้าระวังอาหารที่นำเข้าอย่างเข้มงวด ซึ่งหากพบการปนเปื้อน อย. จะใช้มาตรการส่งคืนหรือทำลาย ขอให้ประชาชนวางใจในการดำเนินงานของ อย. และกรมประมง ขอให้รับฟังข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน ภาครัฐมีการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลจากทั้งในและต่างประเทศ หากพบผลิตภัณฑ์อาหารใดที่เป็นอันตราย และประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบทันที

หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารใดสงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วนกรมประมง 0-2579-1878 หรือ 0-2579-3614-5 ศูนย์บริการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต หรือ สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด.


https://www.thairath.co.th/agricultu...0yJnJ1bGU9Mg==
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม