ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 30-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,416
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


นักวิทย์พบปลาหมึกยักษ์ "ดัมโบ้" หายาก ในทะเลลึกนอกหมู่เกาะฮาวาย

นักวิทยาศาสตร์พบปลาหมึกยักษ์ "ดัมโบ้" ที่หายาก ที่ความลึกกว่า 1,650 เมตร ในทะเลนอกชายฝั่งหมู่เกาะฮาวาย



ปลาหมึกยักษ์ "ดัมโบ้" ถูกตั้งชื่อตามตัวการ์ตูนดิสนีย์ เนื่องจากมีครีบกระพือคู่ใหญ่ที่งอกออกมาจากหัว ถูกพบบนฟีดกล้องบนเรือ "อาร์โอวี แอตาแลนตา" (ROV Atalanta) ขณะที่ทีมเจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลใน พื้นที่เขตอนุสรณ์แห่งชาติทางทะเล "ปาปาฮาเนาโมกูวาเกยา" (Papahanaumokuakea Marine National Monument) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฮาวายของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจระหว่างองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ และสถาบันความร่วมมือสำรวจมหาสมุทร

ดัมโบ้ถือเป็นกลุ่มปลาหมึกยักษ์ที่อาศัยอยู่ในระดับความลึกที่สุด โดยอาศัยอยู่ใต้พื้นทะเลที่ระดับความลึกถึง 3,900 เมตร ขณะที่ทีมเจ้าหน้าที่กล่าวว่า ยังคงพบเห็นหมึกดัมโบ้ในพื้นที่ดังกล่าว

นักวิจัยระบุไว้ในบันทึกที่แนบมากับวิดีโอว่า "กองสำรวจของเราพบวัตถุนี้ลึกกว่า 1,600 เมตร ขณะสำรวจภูเขาใต้ทะเล "วูลลาร์ด" ซึ่งอยู่ห่างจากแนวปะการังรูปวงแหวน "โฮลานิคู" (Kure Atoll) ไปทางเหนือประมาณ 40 ไมล์ทะเล ระหว่างการสำรวจ พวกเรารู้สึกเพลิดเพลินที่ได้จ้องมองมันอย่างใกล้ชิด"

ทั้งนี้ ปลาหมึกยักษ์ดัมโบ้ทั้ง 17 สายพันธุ์ ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Grimpoteuthis spp. เป็นสัตว์ที่แทบไม่มีข้อมูลมากนัก

ตามรายงานของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งแปซิฟิก ระบุว่า "หมักยักษ์ดัมโบ้สามารถปรับตัวให้เข้ากับแรงกดดันที่รุนแรงและอุณหภูมิที่เย็นจัดของมหาสมุทรลึกโดยลดการเคลื่อนที่และสร้างส่วนรยางค์ขนาดใหญ่บริเวณลำตัว ขณะที่การสืบพันธุ์ของพวกมันดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นพวกมันจึงมีความก้าวหน้ามากกว่าปลาหมึกยักษ์น้ำตื้นสายพันธุ์อื่นๆ"

ทั้งนี้ ปลาหมึกยักษ์ดัมโบ้พบได้ในน่านน้ำตั้งแต่นิวซีแลนด์ ไปจนถึงอ่าวมอนเทอเรย์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐฯ ไปจนถึงปาปัวนิวกินี พวกมันมีขนาดตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ไปจนถึง 1.8 เมตร และไม่มีถุงหมึกเหมือนกับปลาหมึกยักษ์สายพันธุ์อื่นๆ

ปลาหมึกยักษ์ดัมโบ้ยังเป็นนักล่าที่อาศัยอยู่ในระดับที่ลึกมากจนไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ แต่อาจตกเป็นเหยื่อของปลาทูน่า ปลาฉลาม โลมา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอื่นๆ

ตามข้อมูลขององค์กรอนุรักษ์ "โอเชียนา" (Oceana) ระบุว่า "หมึกดัมโบ้นั้นพบได้ยากตามธรรมชาติ และพื้นที่ใต้ท้องทะเลลึกก็มีขนาดมหึมา ดังนั้น สัตว์เหล่านี้จึงมีพฤติกรรมพิเศษที่จะเพิ่มโอกาสที่พวกมันจะสามารถสืบพันธุ์ได้สำเร็จทุกครั้งที่พบคู่"

"เห็นได้ชัดว่าตัวเมียมักจะมีไข่ในระยะการพัฒนาที่แตกต่างกัน และพวกมันสามารถเก็บสเปิร์มไว้เป็นเวลานานหลังจากผสมพันธุ์กับตัวผู้ ด้วยข้อได้เปรียบเหล่านี้ ปลาหมึกยักษ์ดัมโบ้เพศเมียสามารถถ่ายโอนสเปิร์มไปยังไข่ที่พัฒนาแล้วมากที่สุด เมื่อใดก็ตามที่สภาพแวดล้อมเหมาะสมสำหรับการสืบพันธุ์".


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2728998

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม