ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 04-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,501
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


'ทะเลสีเขียว' ทางรอดบรรเทามลพิษที่ต้นทาง


ภาพ : คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผลกระทบของปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีหรือน้ำทะเลเขียวในทะเลชลบุรี สร้างความเสียหายอย่างสาหัสต่อสัตว์น้ำชายฝั่ง ผู้บริโภคไม่กล้ากินอาหารทะเลในพื้นที่ ภาพชายหาดเสื่อมโทรมเผยแพร่ไปทั่วโลก กระทบการท่องเที่ยวอย่างน่ากังวล ยังไม่พูดถึงอันตรายหากเกิดแพลงก์ตอนพืชที่สร้างสารพิษได้ เหตุนี้ มีเวทีเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "ทะเลสีเขียว?มหันตภัยร้ายกว่าที่คิด" จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมและพันธกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มก. กล่าวว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก มีการพัฒนาผ่านโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด มาตั้งแต่ปี 2527 สร้างท่าเรือมาบตาพุด ตามด้วยท่าเรือแหลมฉบัง ต่อเนื่องมาสู่การลงทุน อีอีซี ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ในระยะเวลา 5 ปี ใช้เงินไป 1.7 ล้าน ล้านบาท มีโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง เฟส 3 การพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ขณะเดียวกันพูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจ เกิดปรากฎการณ์ทะเลสีเขียวปี๋ทะเลศรีราชา มวลน้ำสีเขียวแพลงก์ตอนบูมกระจายทั่วหาดบางแสน หาดวอนนภา บวกกับน้ำเขียวแพเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ตามวิถีประมงชายฝั่งยาวกว่า 10 กม. ซึ่งมวลน้ำเขียว ตนเรียกว่า"ทะเลมัจฉะ" ส่งผลกระทบปลาเกยตื้นตายครั้งใหญ่ยาว 4 กม. เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจและกระทบประมงพื้นบ้าน ส่วนแพหอยนั้นหอยตายเรียบ เป็นภัยที่สำคัญคนไม่มีทางทำมาหากิน เป็นหนี้จากการลงทุน และไม่รู้จะเกิดติดต่อกันโดยไม่รู้ล่วงหน้า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่สำคัญอันดับต้น ถ้าน้ำสีเขียวใครจะไปเล่นน้ำ เดินเล่นชายหาด ลงทุนทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ไม่สำคัญเท่าการรักษาสมดุล แพลงก์ตอนบูมมีผลกระทบจากอีอีซีหรือเปล่า

ด้าน ศ.ดร.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง กล่าวว่า ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือขี้ปลาวาฬ เกิดจากแพลงก์ตอนพืชบูม อาจเกิดแค่ 1 วัน หรือเกิด2 สัปดาห์ก็ได้ จากสถิติเกิดยาวนานสุด 2 เดือนที่ต่างประเทศ แต่ประเทศไทยเกิด 2 สัปดาห์ครั้ง สมัยก่อนช่วงฤดูฝนเกิดที่บางแสน ชลบุรี ฤดูหนาวย้ายไปเกิดแถวประจวบฯ และเพชรบุรี ปัจจุบันพบมวลน้ำสีเขียวพร้อมกระจายทุกที่ ทุกวัน ในพื้นที่อ่าวไทยตัวก แนวโน้มทะเลสีเขียวถี่ขึ้น อ่าวไทย ตัว ก เหมือนกาละมังใบใหญ่ แร่ธาตุที่ไหลลงกาละมังนี้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับ 30 กว่าปีก่อน และแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนสารอาหารในแหล่งน้ำผิวดินเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ไทยยังโชคดีที่ไม่มีสารชีวพิษ ชาวบ้านเรียก "สาคูทะเล" แต่ปัจจุบันจากการขนส่งทางเรือ เกิดน้ำอับเฉาเรือซึ่งนำแพลงก์ตอนมีพิษเข้ามาสู่ทะเลไทยแล้ว แต่ยังไม่เกิดการบูมเหมือนฟิลิปปินส์ ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่ต้องมีมาตรการป้องกันและรับมือ

" การเพิ่มขึ้นของธาตุอาหารในน้ำอ่าวไทยตอนใน แอมโมเนียม ออร์โธฟอสเฟตในน้ำ การกระจายของแร่ธาตุที่ไหลลงอ่าวไทยตอนใน ปลาที่ตาย เป็นปลาพื้นท้องน้ำ แม้เป็นแพลงก์ตอนไม่มีพิษ แต่ไม่สามารถสังเคราะห์แสงในตัวเองได้ มีสาหร่ายสีเขียวอยู่ในตัวที่ดึงธาตุอาหารไปใช้ ทำให้แพลงก์ตอนเพิ่มจำนวนขึ้นรวดเร็ว สาหร่ายสีเขียวกลางวันสร้างออกซิเจนให้แหล่งน้ำ กลางคืนลงพื้นน้ำพร้อมหายใจ ทำให้ออกซิเจนเกลี้ยง สัตว์น้ำตายเหี้ยน ทะเลสีเขียวความถี่เพิ้มขึ้นและขยายพื้นที่มากขึ้น ทะเลเขียวไปถึงอันดามัน ชุมพร สุราษฎร์ฯ ปัตตานี แล้ว " ผู้เชี่ยวชาญแพลงก์ตอนย้ำภัยคุกคามทะเล

สำหรับกลไกในการจัดการมลพิษทางทะเล ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า โลกเราวันนี้มีมหันตภัย 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้แค่อากาศหรือน้ำเสีย มลพิษใหม่ที่มนุษย์สร้างขึ้นจากการจัดการที่ไม่ถูกต้อง สำหรับทะเลสีเขียวเห็นผลกระทบชัดเจน การจัดการปัญหาต้องแก้และเข้าใจตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ไทยมีปัญหาการระบายธาตุอาหารจากแผ่นดินช่วงฤดูฝน และสารอินทรีย์จากน้ำทิ้งชุมชน โรงงาน เกษตร ลงแหล่งน้ำ บวกกับปัจจัยที่เหมาะสม ทำให้แพลงก์ตอนโตรวดเร็ว เกิดทะเลสีเขียว

" 3 แหล่งกำเนิดหลักที่ลงทะเลมาจากน้ำเสียชุมชน ซึ่งมี 1.7 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน จาก 11 ล้าน ลบ.ม. ที่ยังไม่ได้รับการบำบัด การจัดการน้ำเสียชุมชนยังขาดกระบวนการรวบรวมและกำจัดน้ำเสีย มีการจัดเก็บค่าบำบัด โมเดลทุกวันนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวทางนี้ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ โจทย์ยากเหมือนเก็บค่าขยะ บางที่ไม่จ่าย ส่วนน้ำเสียอุตสาหกรรม ต้องไปสู่การไม่เป็นของเสีย และนำน้ำเสียกลับมาใช้กับโรงงานอื่น ซึ่งต้องคิดร่วมกัน มีกลไกรัฐช่วย ปลดกฎหมายบางตัวเพื่อไม่ให้เป็นของเสีย ขณะที่ภาคเกษตรมีการปรับเปลี่ยนและใข้เทคโนโลยีมาช่วย ลดการใช้สารเคมี ผลักดันเกษตรแปลงใหญ่ ส่วนหน่วยงานที่ดูการไหลของน้ำลงอ่าวไทยอย่าง สทนช. ต้องมีบทบาท รวมถึงกรมทะเลมีระบบเตือนภัยหรือกลไกความรับผิดชอบ ทุกหน่วยงานต้องเริ่มและทำคู่ขนานกัน ขณะนี้เตรียมตั้งอนุกรรมการจัดการปริมาณสารอาหารในแหล่งน้ำผิวดินและทะเล " ดร.ปิ่นสักก์ กล่าว

ส่วนมาตรการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูทะเลไทยจากภัยทะเลสีเขียว สุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า งานติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งของ ทช. ปัจจุบันมี 467 สถานี ตรวจวัด 2 ครั้งต่อปี ทั้งอ่าวไทยตะวันออก ตอนบน ตอนกลวง ตอนล่าง อันดามันตอนบนและตอนล่าง แม้ปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีเพิ่มขึ้น แต่งบติดตามตรวจสอบลดลง จากข้อมูลสถิติอ่าวไทยตอนบนเกิดบ่อย รวมถึงทะเลภูเก็ต แต่เป็นการสะพรั่งของสาหร่าย ไม่ใช่แพลงก์ตอน ย้อนหลัง 10 ปี สถิติเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี ช่วงบูมฤดูฝน พีค ก.ค.-ก.ย. ส่วนฤดูฝนอ่าวไทยตอนบนเกิดบ่อ จากการหมุนเวียนกระแสน้ำหลัก ไหลไปทางทะเลชลบุรี จากข้อมูลแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณนำเข้าฟอสเฟตสูงสุด ซึ่งนำไปสู่ทะเล ส่วนแม่น้ำท่าจีน ไนเตรทเพิ่มขึ้น

" น้ำเปลี่ยนสีเกิดจากปริมาณนำเข้าจากปากแม่น้ำผสมทิศทางการไหลของกระแสน้ำตามฤดูกาล เมื่อเกิดน้ำเปลี่ยนสี วันนี้ประเทศไทยเอง ไม่ว่าหน่วยงานไหนทำอะไรไม่ได้มาก ขาดระบบติดตาม และทำนายทิศทางการไหล มีแต่รับผลกระทบ ความสูญเสียทรัพยากรสัตว์น้ำ ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ทั้งภาคการประมง อย่างมากก็เรียกร้องค่าชดเชย มาตรการต้องพัฒนาขึ้นกว่านี้ เราจำเป็นต้องหนุนบูรณาการวิจัยร่วมกันแก้วิกฤตสิ่งแดล้อม เพิ่มองค์ความรู้ นำข้อมูลไปศึกษาต่อยอด รวมถึงมาตรให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายบรรเทาการสร้างมลพิษที่ต้นทาง ลดพิษจากแหล่งกำเนิด ถัดมาสร้างกลไกจัดการเชิงพื้นที่โดยชุมชนและผู้ประกอบการ เฝ้าระวังสถานการณ์มลพิษ มีระบบแจ้งเตือนมลพิษทางน้ำที่เข้าถึงได้ ทันต่อเหตุการณ์ เพราะทุกวันนี้เพิ่มการลงทุน มีการผลิตมลพิษและสะสมมลพิษมากขึ้น " สุมนาย้ำไทยต้องพัฒนามาตรการป้องกันให้ทันสถานการณ์แพลงก์ตอนบูมที่พร้อมระเบิดทุกวันในน่านน้ำไทย


https://www.thaipost.net/news-update/458726/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม