ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 03-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,477
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


คนรักทะเลสะเทือนใจ! ดร.ธรณ์เผยภาพ "ปะการังเขากวาง" จำนวนมากที่หมู่เกาะช้างกำลังตาย

ผศ.ดร.ธรณ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลฯ เผยภาพสะเทือนใจปะการังเขากวาง จำนวนมากที่หมู่เกาะช้างกำลังตาย คาดสาเหตุมาจาก "โรคสูญเสียเนื้อเยื่อจากหินปะการัง" หรือ SCTLD



วันนี้ (2 พ.ย.) เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า

"ภาพที่เพื่อนธรณ์เห็นอยู่นี้ คือภาพปะการังเขากวางจำนวนมากกำลังตายที่หมู่เกาะช้าง เป็นภาพของเพื่อนธรณ์ท่านหนึ่งกรุณาส่งมาให้ผม เพราะเขาเพิ่งไปดำน้ำแถวนั้น และพบสภาพดังกล่าว

เขาเข้าใจว่าเป็นปะการังฟอกขาว แต่ผมลองดูภาพแล้วคิดว่าไม่ใช่ ช่วงนี้น้ำทะเลไม่ได้ร้อนจัดขนาดนั้น อีกทั้งการตายของปะการังมีลักษณะเหมือนเป็นโรค SCTLD (Stony coral tissue loss disease)

โรคนี้ทำให้เนื้อเยื่อปะการังตาย ลามออกไปเรื่อยๆ ในภาพจะเห็นว่าบางส่วนยังมีสีมีชีวิต แต่มีสีขาวที่ลามขึ้นมา ส่วนนั้นคือตายแล้ว

แตกต่างจากปะการังฟอกขาวที่ต้องขาวพร้อมกัน ตายพร้อมกันทั้งหมด SCTLD มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ระยะหลังรุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างง่ายสุดคือปีที่แล้ว (2565) เกิดโรคนี้ที่ปะการังแถวแสมสาร ในช่วงรอยต่อเดือนตุลาคม/พฤศจิกายนนี่แหละ ครั้งนั้นกรมทะเลลงไปตรวจสอบ พยายามหาทางแก้ไข แต่มันยากมาก เคราะห์ดีที่ระบาดอยู่ช่วงสั้นๆ พอเข้าปี 66 ก็เบาลง

ล่าสุดคณะประมงเพิ่งไปเช็กที่แสมสาร พบว่าเบากว่าปีก่อนมาก แต่ปะการังที่ตายไปแล้วก็ตายไป ยังไม่ฟื้นง่ายๆ ปานนั้น ผมก็วางใจคิดว่าคงเป็นปรากฏการณ์เฉพาะปี แต่มาเห็นภาพนี้ ผมตกใจมาก สถานที่คือเกาะยักษ์ใหญ่ เป็นเกาะเล็กๆ ใกล้เกาะรัง อยู่ในเขตอุทยานหมู่เกาะช้าง เกาะแห่งนี้เป็นจุดท่องเที่ยวดำน้ำโด่งดัง เพราะในแถบนี้ไม่ค่อยมีปะการังสวยๆ นักท่องเที่ยวจากเกาะช้าง เกาะหมาก หรือแม้กระทั่งเกาะกูดบางทีก็มาดำน้ำเที่ยวกันที่นี่

โดยเฉพาะดงปะการังเขากวางหนาแน่นที่ปัจจุบันหาดูยากเหลือเกิน อุทยานวางทุ่นไข่ปลาไว้รอบเกาะ บริหารจัดการอย่างดี นั่นคือครั้งหลังสุดที่ผมไปเห็นเมื่อ 2-3 ปีก่อน ปัญหาคือโลกที่เปลี่ยนไป ภัยคุกคามไม่ได้มีเพียงสมอเรือ นักท่องเที่ยวเตะโดนปะการัง ภัยยุคนี้รุนแรงกว่านั้น ป้องกันแก้ไขยากกว่านั้น เช่น โรคปะการัง ปะการังฟอกขาว ฯลฯ

ผมยังบอกไม่ได้ว่าโรคปะการังที่เกิดบ่อยขึ้นโดยเฉพาะในภาคตะวันออก เกี่ยวข้องกับโลกร้อนหรือสภาพความแปรปรวนของท้องทะเลหรือไม่? แต่บอกได้ว่าเป็นกังวลมากกับสภาพแนวปะการังในภาคตะวันออก ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หน้าร้อนปะการังฟอกขาว เข้าหน้าหนาวปะการังเป็นโรค ย้ายที่ไปเรื่อยๆ แล้วเราจะทำยังไงดี? ผลกระทบไม่ใช่แค่ระบบนิเวศ แค่ส่งผลต่อถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจุดดำน้ำสำคัญเช่นที่นี่

ทั้งหมดนั้นคือภาพที่ได้รับจากเพื่อนธรณ์ แน่นอนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องลงไปสำรวจสภาพที่เกิดขึ้น ตรวจสอบขนาดพื้นที่ วิเคราะห์ว่าเป็นโรคจริงไหม ฯลฯ

แม้เป็นพื้นที่ของกรมอุทยานฯ แต่ผมคิดว่าคงต้องทำงานร่วมกันกับกรมทะเล เพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปะการังที่สามารถวิเคราะห์ในรายละเอียดมากกว่า

ขณะเดียวกันคงต้องฝากเพื่อนๆ ที่เป็นนักดำน้ำช่วยกันตรวจสอบพื้นที่รอบๆ อีกที หากพบปะการังตายในลักษณะนี้ให้รีบแจ้งมา เพราะเรายังมีข้อมูลน้อยมาก

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และน่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต ผมคิดว่าเราต้องประเมินความเสี่ยงของระบบนิเวศ ก่อนมุ่งเน้นงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้เรามีความรู้พอรับมือและจัดการได้

มันผิดจากยุคก่อนที่แค่ควบคุมการประมง วางทุ่นป้องกันทิ้งสมอ ดูแลการท่องเที่ยว รณรงค์จิตสำนึก จัดกิจกรรมฟื้นฟู ฯลฯ ทำทั้งหมดแล้ว ปะการังก็ยังตายเป็นดง เราคงต้องหาทางรับมือกับภัยพิบัติใหม่ ความรู้สำคัญ งานวิจัยสำคัญ วิทยาศาสตร์ทางทะเลยิ่งสำคัญ เพราะนั่นอาจเป็นหัวใจของการอนุรักษ์แนวปะการังตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปครับ

หมายเหตุ - ผมแจ้งกรมทะเลเรียบร้อยแล้ว อีกไม่นานคงมีการสำรวจพื้นที่ครับ เพื่อนธรณ์ผู้แจ้งมา เป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ"


https://mgronline.com/onlinesection/.../9660000098556

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม