ดูแบบคำตอบเดียว
  #6  
เก่า 29-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,422
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


5 ความเข้าใจผิด ๆ เรื่อง "โลกร้อน" ที่แพร่หลายอยู่บนโลกออนไลน์ ................ โดย มาร์โค ซิลวา ผู้สื่อข่าวบีบีซี



ความจริงที่ว่าโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" หรือ "โลกร้อน" ถูกบันทึกไว้เป็นอย่างดี

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า นี่เป็นปัญหา เพราะถ้าผู้คนเชื่อเรื่องเท็จ มาตรการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจล่าช้าออกไป

บีบีซีตรวจสอบ 5 ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยครั้งในโลกออนไลน์


ความเชื่อผิด ๆ 1: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องจริง

ในติ๊กตอก วิดีโอภาษาสเปนเผยแพร่ข้อมูลแบบผิด ๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่มีอยู่จริง และมีผู้รับชมหลายพันครั้ง

ข้อความในโซเชียลมีเดียลักษณะนี้ยังแพร่กระจายไปในภาษาต่าง ๆ ทว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างออกไป

นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1800 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงอย่างชัดเจนว่า นี่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ

ก๊าซเหล่านี้ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน เก็บพลังงานส่วนเกินในชั้นบรรยากาศโลกไว้ แล้วทำให้โลกร้อนขึ้นกว่าเดิม

ภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง มหาสมุทรกำลังร้อนขึ้น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น สัตว์ต่าง ๆ กำลังจะสูญพันธุ์ และยังส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหาร

นอกจากนี้ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน ยังเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงกว่าเดิม

"การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงหลักการนามธรรมที่จับต้องไม่ได้" อิซิดีน ปินโต นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศชาวโมซัมบิก จากสถาบันอุตุนิยมวิทยารอยัลเนเธอร์แลนด์ กล่าว

"สิ่งเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้และสังเกตได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศได้ศึกษาและบันทึกไว้อย่างกว้างขวาง"


ความเชื่อผิด ๆ 2: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันเป็นเรื่องธรรมชาติ

ข้อความภาษาฝรั่งเศสในแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์เดิม) อธิบายแบบผิด ๆ ว่าภาวะโลกร้อนเป็นกระบวนการ "ธรรมชาติ" โดยมนุษย์มีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย

คำกล่าวอ้างนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ในหมู่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อสนับสนุนมุมมองของพวกเขาที่มักจะพูดว่าในตลอดประวัติศาสตร์โลกของเรา มีวัฏจักรที่โลกร้อนขึ้นและเย็นลงสลับกันเกิดขึ้นหลายครั้ง

การดำรงอยู่ของวัฏจักรเหล่านั้นได้รับการบันทึกไว้อย่างดี แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์

นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์แน่ชัดแล้วว่า หากมนุษย์ไม่เผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันก็คงไม่เกิดขึ้น

อัตราความเร็วที่โลกร้อนขึ้นถือว่ามีนัยสำคัญเช่นกัน ครั้งสุดท้ายที่โลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านอุณหภูมิที่สำคัญ อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5 องศาเซลเซียสในช่วงเวลาหลายพันปี แต่อัตราการอุ่นขึ้นในปัจจุบันเร็วกว่านั้นมาก ในเวลาประมาณ 150 ปี ดาวเคราะห์ดวงนี้อุ่นขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ภายใต้ตามคำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มว่าอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้


ความเชื่อผิด ๆ 3: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ปัญหาของเรา

ผู้ใช้งานเอ็กซ์ในไนจีเรียโพสต์ข้อความว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ปัญหาของแอฟริกา

นี่เป็นหัวข้อทั่วไปที่พบเห็นได้ในกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งบางครั้งอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น "ปัญหาของชาวตะวันตก" โดยแทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเขาเลย

ยังมีความเข้าใจผิดอื่น ๆ อีกว่า การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของ "แผนการ" ของประเทศที่ร่ำรวยกว่าเพื่อยับยั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่

ประเทศที่มีความมั่งคั่ง เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน หรือสหภาพยุโรป มีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีต ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่มีขอบเขต และเกิดผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศรายได้น้อยซึ่งหลายชาติขาดแคลนทรัพยากรในการเตรียมการรับมือกับปัญหา

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ พื้นที่บางส่วนของตะวันออกกลาง เช่น ซีเรีย อิรัก และอิหร่าน ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกัน ในขณะที่แอฟริกาตะวันออก เช่น เคนยา เอธิโอเปีย และโซมาเลีย ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัย

"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก แต่ส่งผลกระทบอย่างไม่เท่าเทียมกัน" ฟาร์ฮานา ซัลทานา จากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ในสหรัฐฯ กล่าว "มันส่งผลกระทบต่อชุมชนสังคมของในประเทศกำลังพัฒนามากกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งที่จริงพวกเขามีส่วนทำให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด"

สิ่งนี้ทำให้นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศบางคนเรียกร้องให้ประเทศที่ร่ำรวยกว่าเป็นผู้นำในการระดมทุนสนับสนุนเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มเติม (การบรรเทาผลกระทบ) และช่วยเหลือประเทศอื่นในการจัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว (การปรับตัว)

"ทุกประเทศจำเป็นต้องตอบสนองอย่างแข็งขัน ทั้งเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและการปรับตัวอย่างสุดความสามารถ โดยผู้ปล่อยก๊าซสูงสุดต้องใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อลดปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลง" ซัลทานากล่าว


ความเชื่อผิด ๆ 4: ระดับน้ำทะเลไม่ได้เพิ่มขึ้น

ข้อความหนึ่งบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์เขียนเป็นภาษาโปรตุเกส แสดงให้เห็นความเข้าใจอย่างผิด ๆ ที่ว่าระดับน้ำทะเล "ยังคงเหมือนเดิม" แม้ว่าโลกจะร้อนขึ้นก็ตาม

คำกล่าวอ้างที่คล้ายกันนี้มักโพสต์ประกอบภาพถ่ายของพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยมีจุดมุ่งหมายชี้ชวนให้เห็นว่าระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

เมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งที่ติดอยู่บนพื้นดินในธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งก็เริ่มละลาย ทำให้ปริมาณน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น น้ำจะขยายตัวเมื่ออากาศอุ่นขึ้น และองค์กรด้านอวกาศของสหรัฐฯ (นาซา) ระบุว่า มหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนของโลกไว้แล้วถึง 90% ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิน้ำเพิ่มสูงขึ้น มหาสมุทรก็ขยายตัวด้วย

มีการประเมินว่า ในช่วงเวลาเพียง 100 ปี ระดับน้ำทะเลทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 160 เป็น 210 มม.

กระบวนการนี้มีแต่จะเร็วขึ้นเท่านั้นและเริ่มส่งผลกระทบแล้ว น้ำทะเลที่สูงขึ้นหมายถึงการกัดเซาะชายฝั่งจะเร่งตัวขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเกิดน้ำท่วมมากขึ้น

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า หากไม่มีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 2 เมตรภายในสิ้นปี 2100 นั่นหมายความว่าผู้คนนับล้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอาจมองเห็นพื้นที่ของตนถูกน้ำท่วมหรือจมบาดาลนในเร็ว ๆ นี้

"การปรากฏของความเป็นจริงข้อนี้ เห็นได้ชัดเจนในชุมชนชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกหลายแห่ง" อยูลา อโพโลลา นักศึกษาปริญญาเอกชาวไนจีเรียที่กำลังศึกษาการเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงของระดับน้ำทะเลที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ กล่าว

เขายกตัวอย่างพลางชี้ไปที่เมืองอลาเจ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไนจีเรีย ซึ่งมีรายงานบางฉบับระบุว่า "ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งต้องพลัดถิ่น" อันเป็นผลมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น


ความเชื่อผิด ๆ 5: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นสิ่งดีสำหรับพวกเรา

ในประเทศที่เผชิญกับสภาพอากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง แนวคิดเรื่องโลกร้อนขึ้นอาจฟังดูน่าสนใจในแว็บแรก

ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กในรัสเซียบอกว่าอากาศที่อุ่นขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงเป็นผลในเชิงบวกของภาวะโลกร้อน

ปัญหาก็คือผลประโยชน์เล็กน้อยใด ๆ ที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น เทียบไม่ได้เลยกับผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นกว้างขวางทั่วโลก

สหประชาชาติประเมินว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้โลกเสียหายถึง 54 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง

ประเทศในตะวันออกกลาง อาจเห็นพื้นที่เกษตรกรรมกลายเป็นทะเลทราย ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกอาจหายไปอยู่ใต้น้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ประเทศในแอฟริกาอาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนอาหาร

แม้แต่ในประเทศที่หนาวเย็นกว่า เช่น รัสเซีย ไฟป่าก็จะเกิดขึ้นบ่อยขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศร้อนขึ้นและแห้งมากขึ้น

"ความจริงก็คือ เราได้เห็นเหตุการณ์สุดขั้วมากมายเกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว" ผู้ช่วยศาสตราจารย์แทรง ดูวอง (Trang Duong) จากมหาวิทยาลัยทเวนเต ในเนเธอร์แลนด์กล่าว

"คลื่นความร้อนเกิดขึ้นในอเมริกาเหนือ ยุโรป และจีนในเดือน ก.ค. 2023 นอกจากนี้ยังมีน้ำท่วมเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นทั่วโลก ภัยพิบัติทั้งหมดนี้สร้างหายนะต่อชีวิตมนุษย์และก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ"


https://www.bbc.com/thai/articles/cd1p2zre5dno


__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม