ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 07-12-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,404
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


'พลาสติก' ตัวการ ตัวร้าย ทำลายสิ่งแวดล้อมโลก หรือแค่จำเลยที่ถูกกล่าวหาจากมนุษย์



เรื่องราวของ ?พลาสติก? ที่ตกเป็นจำเลยของการทำลายสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน แท้ที่จริงแล้วพลาสติกมีความผิดต่อโลกจริงหรือไม่ หรือว่าใครที่ป้ายความผิดนี้ให้แก่วัตถุชิ้นนี้กันแน่

เมื่อพูดถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 'พลาสติก' คงเป็นวัตถุชิ้นแรกที่ใครๆ ต่างก็นึกถึง และโดนกล่าวหาว่าเป็นตัวการสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อมมาอย่างเนิ่นนาน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิต ไปจนถึงการย่อยสลาย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นวัตถุหนึ่งที่สามารถกลายเป็นขยะที่มีอายุอยู่ได้หลายร้อยปี และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบนิเวศ อย่างไรก็ตามปัจจุบันถึงจะมีการรีไซเคิลพลาสติก และการรณรงค์ในการงดใช้พลาสติกกันเป็นจำนวนมาก แต่พวกเราสามารถไม่ใช้พลาสติกได้เลย 100% เลยจริงหรือ


ต้นกำเนิด 'พลาสติก' ตัวร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักพลาสติกกันก่อน พลาสติก นั้นเป็นสิ่งที่เกิดจาก ?มนุษย์? ที่คิดค้นขึ้นมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เพื่อใช้อำนวย ?ความสะดวกสบาย? และที่สำคัญคือ 'การทดแทนวัสดุจากธรรมชาติ' คิดค้นโดย Sten Gustaf Thulin ในปี ค.ศ.1959 เป็นถุงพลาสติกชนิดเบา ทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยลดภาระการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า แต่ผลลัพธ์นั้นกลับกัน เพราะ พลาสติกกลับเป็นสิ่งที่ถูกใช้งานได้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง นอกจากนี้ยังย่อยสลายได้ยาก ซึ่งเกิดมาจากกระบวนการผลิตของถุงพลาสติก จากความหวังดีกลับกลายเป็นตัวการสำคัญในการทำลายโลกของเราให้หนักขึ้นกว่าเดิม

การทำพลาสติกนั้นต้องมีการขุดเจาะก๊าซ และน้ำมันดิบ เพื่อหาส่วนประกอบต่างๆ โดยมีสารประกอบรวมกันอยู่มากมายก่อนผลิต ไม่ว่าจะเป็น คาร์บอน ออกซิเจน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน และอีกมายมาย รวมถึงก๊าซเอทิลีน (Ethylene) และโพรพิลีน (Propylene) ที่เป็นสารตั้งต้นสำคัญของในกระบวนการทำพลาสติก ซึ่งหากบริหารจัดการไม่ดีก็ล้วนทำให้โลกร้อนทั้งสิ้น

จากข้อมูลของ pttgroup เผยว่า ประเทศไทย มีขยะถุงพลาสติก ปริมาณมาก 5,300 ตันต่อวัน คิดเป็น 80% ของขยะพลาสติก และโฟมที่มีปริมาณประมาณ 7,000 ตันต่อวัน โดยอัตราการใช้พลาสติกยังคงมีเท่าเดิม แต่ก็มีการนำไปรีไซเคิลกันอยู่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการรณรงค์ในปัจจุบัน และกฎหมายด้านขยะ

ก่อนที่ทุกคนจะไปตัดสิน "พลาสติก" กัน ทางเราชวนทบทวนประเภทของพลาสติกบนโลกสักหน่อยว่ามีทั้งหมดกี่ชนิด มีคุณสมบัติในการใช้งานอย่างไรบ้าง และกระบวนการรีไซเคิลขยะพลาสติกเหล่านี้สามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง


พลาสติก จำเลยของสิ่งแวดล้อม หรือเหยื่อที่โดนป้ายสีจากมนุษย์

จากประเด็นทั้งหมดข้างต้น ไทยรัฐออนไลน์ ที่ต้องการร่วมสืบหาความจริงว่าสรุปใครกันแน่? ที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อน ซึ่งเป็นคำถามที่ยังคงวนเวียนอยู่ในหัว จึงได้เริ่มค้นหาพยานคนสำคัญที่จะบอกเล่าข้อมูลเรื่องนี้ได้ จึงได้ไปรู้จักกับบริษัทหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

Cirplas บริษัทผู้เชี่ยวชาญในด้านพลาสติก ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อกอบกู้สิ่งแวดล้อม ด้วยการเก็บขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) กลับมาทำความสะอาด และรีไซเคิล เพื่อที่จะสามารถนำขยะเหล่านี้กลับมาใช้ได้อีกครั้ง

การนัดหมาย พูด-คุย จึงเกิดขึ้น เพื่อเสาะหาความจริงจาก ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ หัวเรือใหญ่ของบริษัท Cirplas เพื่อข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า ?พลาสติก? นั้นเป็นผู้ร้ายต่อสิ่งแวดล้อมจริง หรือแค่การโบ้ยความผิด ?เสมือนวัวที่หายแล้วค่อยล้อมคอก? จากมนุษย์

"พลาสติก เป็นผู้ร้าย ก็อาจจะไม่ได้มีความผิดไปทั้งหมดซะทีเดียว ลองถามกลับกันว่ามนุษย์นั้นเลิกใช้พลาสติกได้ 100% แล้วหรือยังล่ะ ถ้าพลาสติกเป็นผู้ร้ายจริงๆ?" นี่คือคำตอบแรกที่กระตุกต่อมสำนึกของผู้ถามที่กำลังถือแก้วกาแฟพลาสติกอยู่

หัวเรือใหญ่ Cirplas ได้กล่าวเพิ่มว่า "อาจจะดูรุนแรงไปเสียหน่อยถ้าโทษแต่พลาสติก ปัญหาหลักมันขึ้นอยู่กับการจัดการกับขยะพลาสติกเหล่านี้เสียมากกว่า เพราะนี่คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้นเราควรคืนอะไรกับไปสู่จำเลยอย่างสิ่งแวดล้อมเสียมากกว่า เช่น การจัดการขยะเหล่านี้ให้ดี ให้ความรู้แก่คนเก็บแยกขยะ และตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ก็จะสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงไปได้อีกเยอะ"

คุณทศพล กล่าวถึงการใช้พลาสติกในปัจจุบัน "สถิติปีนึงมีสินค้าที่ผลิตโดยพลาสติกแบ่งสัดส่วนเป็นครึ่งๆ พาร์ทแรกเป็นพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า อีกพาร์ทเป็นพวกพลาสติกบรรจุอาหารใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Plastic Single Use) ซึ่งทำให้พลาสติกที่ทิ่งเป็นขยะบนโลกเรามีเยอะมาก แต่พอมาดูเรื่องของระบบการจัดเก็บขยะเข้ามาเนี่ย 80% เป็นแบบฝังกลบ เผา ทำลาย และอีก 20% คือการรีไซเคิล"

เหตุผลอะไรที่คนเลือกทำลายมากกว่าการรีไซเคิลขึ้นมาใหม่ คุณทศพล ได้กล่าวเพิ่มว่า ?เหตุผลหลักๆ เลยเพราะว่ามันไม่คุ้มในการเก็บกลับมารีไซเคิลในเรื่องค่าใช้จ่าย?

ประธาน Cirplas ยกตัวอย่างว่า ?บริษัทแชมพูรักษ์โลกเก็บพลาสติกเหล่านี้มาทำ Packaging ใหม่ ปัญหาคือคอร์สเหล่านี้ทำให้เขาต้องขึ้น ราคาไปสักประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าผู้บริโภคยังอยากจะซื้ออยู่หรือไม่ หรือคนที่มีความสำนึกรักษ์โลกจะมาใช้แบรนด์นี้มีอยู่ไหม ซึ่งก็มี แต่น้อยมากๆ ถามหลายๆ คนว่าถ้าเป็นแบบนี้มนุษย์เราจะยอมจ่ายเพื่อรักษ์โลกอยู่หรือไม่? ซึ่งตอบได้เลยว่าน้อยมากๆ?

นอกจากนี้ยังไม่รวม พวกค่าขนส่ง จัดเก็บ ความเลอะเทอะ ความสกปรกจากพลาสติกของขยะ การทำความสะอาด และอีกมากมายที่ทำให้ผู้ประกอบการ หรือคนไม่อยากมาลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ และสิ่งสำคัญคือ ?การแยกขยะ? ปัญหาของพลาสติกที่มีหลายชนิด พร้อมกับปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้การคัดแยกนั้นยากมาก บางผลิตภัณฑ์ ในหนึ่งผลิตภัณฑ์ มีพลาสติกที่สามารถแยกออกมาหลายได้ประเภท

ตัวร้ายจริงๆ อาจจะโทษ 'พลาสติก' อย่างเดียวไม่ได้ คงต้องโทษมนุษย์ด้วยเช่นกัน ในเรื่องของการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีระบบที่ซับซ้อน ย่อยสลายยาก มีหลายประเภทเข้าใจยาก การสื่อสารที่ผิด การกำจัดขยะพลาสติกที่มีเงื่อนไข ทั้งหมดนี้กลับมาทำร้ายโลกของเราได้หนักกว่าเดิม ซึ่งทุกคนก็มีส่วนร่วมในการเป็นตัวร้ายที่ทำร้ายจำเลยอย่าง 'สิ่งแวดล้อม' แทบทั้งสิ้น


คดีความจาก พลาสติก ต่อโลกนี้ มีทางออกอย่างไรต่อไป

เมื่อพลาสติกถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวร้ายต่อโลก มนุษย์ที่มีส่วนร่วมคงต้องช่วยหาทางออกของปัญหานี้ ซึ่งจะมีแนวทางอย่างไรบ้างจึงเป็นคำถามที่น่าสนใจที่จะถาม คุณทศพล จาก Cirplas องค์กรต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของขยะพลาสติกที่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้

ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ กล่าวว่า "ปัญหาแรก คือ เรื่องของการสื่อสารความเข้าใจในชุดข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเป็นลำดับแรก อะไรรีไซเคิลได้หรือไม่ได้ และจัดการกับขยะรีไซเคิลเหล่านี้อย่างไรให้ง่ายต่อการจัดเก็บ และเข้าสู่ขบวนการรีไซเคิลต่อไป" หรือ "การอัปไซเคิล (Upcycle) เพื่อหาทางออก การนำขยะไปเพิ่มมูลค่า พลาสติก แปรรูปไปเป็นอย่างอื่นและนำกลับมาขายได้ โดยมูลค่าของขยะพลาสติกเหล่านั้นจะสูงขึ้นกว่าการขายเป็นน้ำหนักทั่วไป และน่าซื้อกว่านำมาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมของวงการพลาสติกที่มีดีไซน์มากขึ้นในแต่ละปี"

นอกจากนี้ยังมีวิธีต่างๆ ที่ทาง Cirplus แนะนำให้เป็นการลดขยะพลาสติกทางเลือกที่ดีได้ เช่น การนำขยะไปเผาทำลาย เพื่อนำมาสร้างเป็นพลังงานได้เช่นกัน เนื่องจากพลาสติกนั้นทำจากน้ำมัน สามารถเปลี่ยนเป็นเชื่อเพลิงได้ แต่ที่ดีที่สุดโรงงานจะต้องถูกสร้างมาเพื่อใช้ในการเผาทำลายอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล จึงไม่เกิดมลพิษเพิ่มเติม

การรีไซเคิลพลาสติก ที่ช่วยให้นำพลาสติกเหล่านี้กลับไปใช้ซ้ำได้ ซึ่งต้องเป็นขยะพลาสติกที่สะอาด ล้าง และแห้ง ถูกจัดเก็บเป็นอย่างดี จึงถูกนำไปรีไซเคิลได้ง่าย และไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพราะส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่คนไม่เอา คือ พลาสติกที่ใช้แล้ว เลอะเทอะ หรือไม่อยู่ในหมวดหมู่ที่มีคนรับซื้อ และอาจเกิดการไปเผาทำลายซึ่งอาจส่งผลที่ไม่ดีต่อโลกได้


Cirplas คนกลางผู้มีส่วนร่วมในการไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทของพลาสติก และมนุษย์

คำตอบแรกของคุณพ่อที่อยากให้ลูกได้เจอกับสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต (ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์) คือ ?ถ้าผมไม่ทำ แล้วใครจะทำ?? ทศพล กล่าวด้วยรอยยิ้ม ?ทำด้วย Passion (แพชชั่น) ล้วนๆ จนคุณแม่ยังบอกว่า ธุรกิจแบบนี้เจ๊งแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้ Cirplas มีอายุ 3 ปี? คุณทศพล กล่าวด้วยรอยยิ้ม

ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ เจ้าของบริษัท Cirplas กล่าวถึงเป้าหมายของบริษัทนี้ว่า "ผมมีเป้าหมายในการจัดการกับ Loop (ลูป) ของพลาสติก โดยเชื่อว่าพลาสติกสามารถวนกลับมาใช้ได้เกือบ 100% หากจัดการมันอย่างดี มีขั้นตอน"

"โดยช่วงนี้ต้องการมุ่งเป้าไปที่การสร้าง Awareness ให้ความรู้แก่คนทุกเพศทุกวัย รีเซ็ตระแบบความคิดในการแยกขยะใหม่ ด้วยคอนเซ็ปต์เข้าใจง่าย คอนเทนต์ถูกใจวัยรุ่น"

Cirplas ยังมีระบบจัดการในทุกสัดส่วนของวงการรีไซเคิลอย่างครบวงจร มีผู้เก็บ ผู้แยกขยะ และก็อุตสาหกรรมการแปรรูปจากขยะให้เป็นวัสดุ พลาสติกไหนขายได้ก็นำไปเป็นวัสดุ อันไหนขายไม่ได้ก็ทำเป็นอัปไซเคิล เพื่อสร้างสินค้ามาขายเพิ่มมูลค่า สร้าง Circular Loop และเป็นองค์กรต้นน้ำยันปลายน้ำที่ใครๆ ก็นึกถึง

นอกจากนี้ยังต้องการให้ CirPlas ได้มีส่วนในการช่วยสังคม เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ และปริมาณขยะที่จะเข้าสู่กระบวนการฝังกลบ หรือนำไปเผาทำลายให้มากที่สุด และช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ด้วยการเก็บขยะพลาสติกเหล่านั้นกลับมาทำเป็นวัตถุดิบใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า (การอัปไซเคิล) ให้กลับไปใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะเสื่อมสภาพกันไป ซึ่งพลาสติกเหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบ เพื่อการผลิตได้ใหม่ถึง 8 รอบจนกว่าจะเสื่อมสภาพ และไม่ดีพอสำหรับการผลิตอีกต่อไป เพื่อลดการใช้พลาสติก

ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ จาก CirPlas เชื่อว่า "การเริ่มต้นปฏิบัติการของเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมให้สังคมของเรามีสิ่งแวดล้อมที่สวยงามขึ้นไม่มากก็น้อย และส่งเสริมให้บริษัท หรือองค์กรอื่นๆ เล็งเห็นความสำคัญของการแยกแยะ และกำจัดขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี และยั่งยืนต่อไป"

ปัจจุบัน CirPlas ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ในการจัดการ และรณรงค์ด้านการอนุรักษ์ ซึ่งเป็นการให้ความรู้ สร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้าน โรงเรียน มหา'ลัย และชุมชนต่างๆ เพื่อที่จะค่อยๆ สร้างเครือข่ายของตนเอง ตอนนี้มีประมาณ 70 กว่าแห่งในกรุงเทพฯ และจุดใหญ่ๆ ตามนอกเมือง เช่น จุด Drop Off พลาสติก, การส่งพลาสติกมาให้เราแปรรูป และรับ-ส่งพลาสติกตามจุดต่างๆ ให้กับองค์กรที่เข้าร่วม

เพื่อช่วยให้ผู้ร้าย (พลาสติก) กลับมาพ้นโทษอีกครั้ง และสร้างความคิดใหม่ทับความคิดเก่าที่ว่า 'หากแยกขยะไปแล้วก็เทรวมอยู่ดี' ให้หมดไป และเราต้องเพิ่มสัดส่วนทางเลือกในการเก็บขยะพลาสติกที่ไม่นิยมเก็บ หรือมีเงื่อนไขเยอะ ให้มีหนทางในการกลับมาสร้างคุณค่าได้ด้วย เพื่อส่งเสริมตลาดของวงการรีไซเคิลนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพื่อลดภาระให้กับคนที่พร้อมจะรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

พลาสติก คือ "ผู้ร้าย" ในปัจจุบันนี้คงเป็นคำพูดที่ดูใจร้ายจนเกินไป หากดูกระบวนการต่างๆ แล้วทุกคนล้วนแต่มีส่วนร่วมในการทำให้โลกเกิดวิกฤติแทบทั้งสิ้น

ฉะนั้นแล้วการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต แนวคิด การปรับตัวเพื่อที่จะให้สังคมเราอยู่ร่วมกับ 'พลาสติก' และ 'ขยะ' อย่างมีคุณค่า และสร้างโลกที่ดีขึ้น ส่งไปต่อรุ่นลูก และรุ่นหลาน ก็คงจะดีกว่าไปนั่งโทษว่าใครเป็น "เหยื่อ" ที่ทำให้โลกเราเปลี่ยนแปลงไป.


https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2745621

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม