ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 20-12-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,403
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


PM 2.5 และพาหะสารพิษ มัจจุราชเงียบที่มากับลมหายใจ



PM 2.5 พาหะชั้นดีนำสารพิษสู่ร่างกายมนุษย์ ความอันตรายและน่าสะพรึงกลัว ที่กำลังคืบคลานทำร้ายสุขภาพ ดุจ 'มัจจุราชเงียบ' ที่มาพร้อมกับลมหายใจ...

พี่เบิร์ดเคยร้องเพลงไว้ว่า "หมอกหรือควัน" แต่ชีวิตคนไทยปัจจุบัน มีสิ่งที่ต้องคอยสังเกตทุกวันว่านั่น "ควันหรือฝุ่น" เพราะสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย ยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น เพราะดูแล้วก็ยังคง 'ลุ่มๆ ดอนๆ' มาอย่างต่อเนื่อง ลืมตาขึ้นมาตอนเช้าเมื่อไหร่ ก็ต้องเปิดโทรศัพท์ตรวจสอบเบื้องต้นว่า แจ้งเตือนมลพิษทางอากาศวันนี้จะเป็น 'แดง' หรือ 'เขียว'

หลายคนอาจจะคิดว่า PM 2.5 น่ากลัวแล้ว แต่หลังจากที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ 'รศ.ดร.รณบรรจบ อภิรติกุล' อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ทำให้เราพบว่า 'สาร' ชนิดอื่นที่อยู่กับฝุ่น PM 2.5 ก็อันตรายและร้ายแรงไม่แพ้กัน!!!

ตอนนี้เรามาลองตั้งสติ ทำสมาธิ ค่อยๆ อ่านเนื้อหาต่อจากนี้ เผื่อจะเป็นแนวทางในการเตรียมตัว และดูแลตัวเองเบื้องต้น เท่าที่ปุถุชนคนหนึ่งจะทำได้...


PM 2.5 ที่ยึดเกาะของสารอันตราย! :

แม้ผู้คนต่างรู้สึกขยาดและหวาดระแวงต่อ 'PM 2.5' แต่ อ.รณบรรจบ ได้บอกไว้ว่า "มีสิ่งที่ร้ายและอันตรายกว่านั้นซุกซ่อนอยู่ข้างใน" เพราะ PM 2.5 เปรียบเสมือน 'ที่ยึดเกาะ' ของ 'สาร' ที่ติดมากับฝุ่น ซึ่งสารเหล่านั้น ล้วนเป็นตัวการสำคัญที่ส่งผลเสีย และอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

ยกตัวอย่างสารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ที่มีโอกาสพบได้ใน PM 2.5 เช่น 'โลหะหนัก' อย่าง สารหนู (Arsenic : As), ตะกั่ว (Lead : Pb) และ แคดเมียม (Cadmium : Cd) นอกจากนี้ยังมีสารก่อมะเร็งอื่นๆ อีกด้วย เช่น PAHs (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons : โพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน) เป็นต้น

"การเผาไหม้เชื้อเพลิงจะมีโลหะหนักติดมาจากธรรมชาติอยู่แล้ว พอเราเอามาทำเป็นน้ำมัน ก็มีติดมาโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ทีนี้ในกระบวนการสันดาป (Combustion Technology) มันก็ปล่อยเป็นควันดำ ที่มีโลหะหนักติดมาด้วย

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีงานวิจัยใหม่อัปเดตว่าพบ 'สังกะสี' (Zinc : Zn) ใน PM 2.5 ซึ่งสารนี้เป็นส่วนผสมของการผลิตยางรถยนต์ เพื่อให้รถยนต์คงสภาพ เมื่อมนุษย์ใช้ยางรถวิ่งบนถนนเป็นเวลานาน มันก็จะค่อยๆ สึกหรอ กระทั่งกลายเป็นเหมือนฝุ่นจิ๋ว ขึ้นไปรวมตัวอยู่กับ PM 2.5 และแน่นอนว่ามีโอกาสเข้าไปในร่างกายมนุษย์ เพราะเราต้องหายใจ"


ตัวอย่างที่มาและผลกระทบ จากสารที่เกาะใน PM 2.5 :

อย่างที่ รศ.ดร.รณบรรจบ ได้กล่าวไปในหัวข้อที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า PM 2.5 มันคือแก๊งวายร้ายตัวฉกาจ! แล้ววายร้ายเหล่านี้มาจากไหน เราจะพาไปรู้จักสารบางตัวกันเบื้องต้น

ขอเริ่มต้นกันที่ชื่อเหมือนสัตว์ตัวน้อยน่ารักๆ อย่าง 'สารหนู' (Arsenic : As) สารนี้เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ และจากกิจกรรมมนุษย์ ซึ่งเราจะมาเน้นกันที่ตรงเกิดจาก 'มนุษย์' ยกตัวอย่าง เช่น การทำเหมืองแร่ การถลุงโลหะ การใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงจากการเกษตร ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสัมผัสผิวหนัง การหายใจ หรือรับประทานอาหาร-เครื่องดื่ม ที่มีการปนเปื้อนของสาร

สารหนูมี 2 ชนิด คือ อินทรีย์ และอนินทรีย์ แต่ 'สารหนูอนินทรีย์' จะร้ายแรงกว่า ซึ่งส่วนใหญ่พบในแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้สารหนูและแหล่งที่มีการใช้สารกําจัดศัตรูพืช รวมไปถึงในพื้นที่ที่มีการถลุงแร่

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ได้รับสารหนูจากธรรมชาติในปริมาณ 'เล็กน้อย' เมื่อเข้าสู่ร่างกาย กระบวนการขับถ่ายจะช่วยขับสารหนูออกทางปัสสาวะภายใน 2 วัน แต่อย่าเพิ่งนึกดีใจไปเลยครับคุณผู้อ่าน เพราะถ้าร่างกายได้รับมากเกินไป จนกระทั่งขับออกมาไม่หมด มันก็ย่อมจะเป็นพิษต่อร่างกายได้อยู่ดีนั่นแหละ

ความน่ากลัวที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ มันสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและระยะยาว โดยแบบเฉียบพลันจะทำให้เกิดความระคายเคืองต่ออวัยวะ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย หากถ้าได้รับอย่างต่อเนื่องในระยะยาว อาจเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง สำหรับหญิงตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการตั้งครรภ์ ส่งกระทบต่อพัฒนาการของลูกในท้อง

มาถึงตัวที่ 2 ก็คือ 'ตะกั่ว' (Lead : Pb) มันเป็นสารโลหะหนักที่สามารถหลอมเหลวได้ แม้จะใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย แต่อันตรายมากต่อร่างกาย ซึ่งสารตะกั่วที่ไปเกาะเข้า PM 2.5 นั้นก็มาจากหลายแหล่งกำเนิด แต่ถ้าจะให้เห็นง่ายๆ ก็มาจากไอเสียรถยนต์บนท้องถนน ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน

สารประกอบของตะกั่วที่ใช้เติมในน้ำมันเบนซินคือ เตตราเอทิลเลด (tetraethyl lead) หรือ เตตราเมทิลเลด (tetramethly lead) เมื่อเกิดการเผาไหม้ร่วมกับสารประกอบอื่นของน้ำมันในเครื่องยนต์ มันจะออกมาพร้อมกับไอเสียรถยนต์และมีลักษณะเป็นฝุ่นขนาดเล็กคล้ายก๊าซ พอมันเล็กจิ๋วก็ทำให้สามารถแพร่กระจายในอากาศได้ไกล

คราวนี้แหละครับคุณผู้อ่าน เมื่อมันเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ หรือปนลงในอาหาร จนกระทั่งสะสมมากขึ้น จะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาท ยิ่งเป็นเด็กจะยิ่งอันตราย เพราะทำให้การเจริญเติบโตของเด็กช้าลง การพัฒนาทางสมองของเด็กช้ากว่าปกติ และอาจปัญญาอ่อนได้

อีกตัวหนึ่งที่มีชื่อย่อสั้นๆ แต่ชื่อเต็มนั้นยาวสะเหลือเกินก็คือ 'PAHs' หรือ Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (โพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน) สารนี้เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ รวมไปถึงจากไอเสียของยานพาหนะ เชื้อเพลิงฟอสซิล จากการเผาเพื่อการเกษตร ไฟป่า ควันบุหรี่ หรือแม้กระทั่งการปรุงอาหารจนไหม้เกรียม ฯลฯ

PAHs ร่อนเร่พเนจร เกิดมาแล้วก็ลอยไปทั่ว แต่ในธรรมชาติจะไม่เจอ PAHs อยู่เดี่ยวๆ มักจะพบการปนเปื้อนร่วมกับสารพิษอื่นในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกับ 'โลหะหนัก' มันสามารถเกาะติดอนุภาคแขวนลอยขนาดเล็ก และมุ่งหน้าสู่ปอดของเราได้หากหายใจเข้าไป ซึ่งเจ้า PAHs มีความเป็นพิษในด้านการเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ ในสิ่งมีชีวิตชั้นสูงจะพบความเป็นพิษเรื้อรังได้ การได้รับเข้าไปอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย


ผลกระทบต่อร่างกายจาก 'มัจจุราชเงียบ' :

รศ.ดร.รณบรรจบ เปรียบเทียบความร้ายกาจของ 'PM 2.5' ว่าเป็นดั่ง 'มัจจุราชเงียบ' เพราะมันเป็นพาหะชั้นดี ที่นำพาสารเคมีหรือโลหะหนัก ซึ่งเป็นผู้ร้ายเข้าสู่ร่างกาย

"ผมมองว่ามันเป็นมัจจุราชเงียบจริงๆ เพราะมันเข้าสู่ร่างกายเราอย่างต่อเนื่อง โดยที่เรามองไม่เห็น มันเข้ามาอย่างเงียบๆ เราใช้ชีวิตอยู่ดีๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจจะกลายเป็นโรคร้ายจนเสียชีวิตในที่สุด"

อ.รณบรรจบ กล่าวต่อว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายไม่ว่าจะในระยะสั้น หรือระยะยาว ต่างก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม PM 2.5 ก็ยังคงอันตรายอยู่ดี

"หากได้รับทันทีอาจจะยังไม่แสดงอาการ หรือยังไม่เป็นอะไรมาก นอกจากคนที่มีอาการภูมิแพ้ หรือแพ้สารเคมีต่างๆ ร่างกายพวกเขาก็จะเกิดผลกระทบทันที เช่น ผื่นขึ้น ระคายเคือง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ส่วนร่างกายคนทั่วไปที่ไม่ได้แพ้ฝุ่นพวกนี้ หากนานวันสะสมมากขึ้น ก็จะเกิดอาการเรื้อรัง เสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งขึ้นมาได้โดยไม่รู้ตัว"


PM 2.5 มาจากไหน :

รศ.จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลเรื่องที่มาของ PM 2.5 ไว้ว่า จากการศึกษาและงานวิจัยเรื่องฝุ่น เราก็จะรู้กันอยู่แล้วว่าเกิดจากการเผาไหม้ ทั้งจากเครื่องยนต์ของยานพาหนะต่างๆ รวมไปถึงการเผาวัสดุต่างๆ นอกจากนั้นยังมี 'การเผาในพื้นที่โล่ง' อีกด้วย

"การทำไร่เกษตรกรรม บางพื้นที่และบางคนจะมี การเผามวลชีวภาพ (Biomass) เช่น อ้อย ที่เขาจะเผากันเพื่อให้มันตัดง่ายขึ้น หรือบางครั้ง เกษตรกรเขาก็เผาเศษวัสดุการเกษตร เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับการใช้ปลูกรอบต่อไป สิ่งนี้เองทำให้ฝุ่นที่อยู่บนพื้นดิน สามารถขึ้นมาพร้อมการเผาไหม้ จนกระทั่งฟุ้งกระจายไปทั่วอากาศ


การพยายามแก้ปัญหา ลด PM 2.5 ให้ดีขึ้น :

รศ.ดร.รณบรรจบ ระบุว่า ในสถานการณ์การทำงานปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญพยายามมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ในการรณรงค์แก้ไขปัญหา PM 2.5 หลายฝ่ายพยายามพลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อจัดการและควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ

นอกจากนั้นยังต้องมีการสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค กำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิด เช่น บางบริษัทของไทยอาจจะไปทำการเกษตรอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน แล้วมีการเผา ทำให้ฝุ่นมลพิษลอยข้ามประเทศ ถ้าหากสืบรู้ได้ ก็จะจับตัวการมาลงโทษ เป็นต้น ส่วนรถยนต์ก็ต้องใช้เชื้อเพลิงที่สะอาด ซึ่งตอนนี้มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะแต่ก่อนจะมีน้ำมันที่มีสารตะกั่ว แต่ตอนนี้ก็เลิกใช้ไปแล้ว

"อาจจะต้องมีการใช้แนวทางที่เรียกว่า 'ห้วงมาตรการทางเศรษฐศาสตร์' เข้ามาช่วย เช่น อ้อย ถ้าเกิดเผาแล้วเอาไปขาย ร้านรับซื้อก็จะกดราคา ไม่ให้ราคาที่สูงมากนัก เราต้องพยายามให้เกษตรกรตัดมาโดยที่ไม่เผา แล้วให้ราคาที่ดีกว่า สิ่งนี้จะช่วยทำให้เกิดแรงจูงใจลดการเผาวัสดุทางการเกษตร"


แนะนำดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง :

อาจารย์รณบรรจบ กล่าวว่า ถ้าให้ผมเทียบถือว่าปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเราอาจจะไม่ได้รณรงค์กันตลอด และจะเห็นได้ว่า บางทีช่วงธันวาคม ถึง มกราคม บางครั้งค่าเฉลี่ย PM 2.5 หนึ่งวัน เกิน 100 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร

"ปีนี้มาตรฐานของเราปรับลงมาอยู่ที่ 34.5 ไมโครกรัม ต่อ ลูกบาศก์เมตร ถ้าเกินจากนี้ ก็จะเริ่มไม่ปลอดภัย และมีความเสี่ยง เรื่องของเรื่องอยู่ที่สภาพอากาศด้วย อย่างกรุงเทพฯ บางวันอาจจะโชคดี ถ้ามีลมพัดคอยพัดระบายอากาศลงทะเล ให้ถ่ายเท ทำให้ฝุ่นไม่สะสมมากเกินไป"

เวลาเดินทางด้วยรถไฟฟ้ากลับที่พัก บางครั้ง ทีมข่าวฯ สังเกตเห็นว่า แม้ฝุ่นจะเยอะแค่ไหน แต่หลายคนยังเลือกออกกำลังกายตามสถานที่เปิด เช่น สวนสาธารณะ ทางด้าน รศ.ดร.รณบรรจบ แสดงความกังวล และเป็นห่วงต่อทุกคนว่า

การออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือเล่นกีฬาหนักๆ ล้วนมีความเสี่ยง เพราะร่างกายจะสูดเอาอากาศเข้าไปมากกว่าปกติ ฝุ่นอาจจะเข้าไปตกค้างในร่างกายได้มากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ พยายามออกกำลังกายในพื้นที่ปิด และมีเครื่องฟอกอากาศช่วยกำจัดฝุ่นอย่างเพียงพอ

"ตอนนี้เบื้องต้น แนะนำให้ตรวจสอบสภาพอากาศอยู่เสมอ ก่อนจะไปออกกำลังกายว่ามีฝุ่นมากเกินไปไหม หากมากเกิน ก็แนะนำให้ออกกำลังกายในห้อง หรือหากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ที่ต้องออกไปทำกิจกรรม หรือธุระส่วนตัวด้านนอกในวันที่มีฝุ่นมาก แนะนำให้สวมหน้าหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ซึ่งแบบทั่วไปก็สามารถกันฝุ่นได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าอยากได้กันจริงๆ ต้องเป็นแบบ N95 ตอนนี้ต้องป้องกันตัวเองเท่าที่เราจะทำได้"


https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2748942

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม