ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 06-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,426
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ประกาศเข้าสู่ "ฤดูฝุ่น" สั่งคุมเข้มทุกหน่วยงาน แนะวิธีการป้องกันให้ปลอดภัย



"ฝุ่นควัน PM 2.5" เรียกได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่คนไทยจะต้องเผชิญอยู่ทุกปี ตั้งแต่ช่วงเดือนปลายหนาวจนถึงต้นเดือนฤดูแล้ง ซึ่งหลายจังหวัดยังคงได้รับความเดือดร้อน จากค่าฝุ่นที่พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนืออย่าง จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ที่ต้องเจอวิกฤติหนัก ไม่เว้นแม้แต่ในพื้นที่ กทม. ที่ยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่าฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้สร้างปัญหาแค่ด้านมลพิษ แต่ยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับประเทศ เพราะส่งผลกระทบในเรื่องของคุณภาพดิน น้ำ และการเติบโตของสิ่งมีชีวิตในป่า รวมถึงความหลากหลายด้านชีวภาพ โดยเฉพาะเรื่อง "สุขภาพของประชาชน" ซึ่งเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ได้ประกาศเข้าสู่ "ฤดูฝุ่นอย่างเป็นทางการ" โดย ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมอบหมายท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ได้เร่งรัด กำชับ เน้นย้ำให้หน่วยงานดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปี 2567 อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดพื้นที่มุ่งเป้า 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน พื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซาก และการควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ซึ่งเป็นการควบคุมที่ต้นตอของฝุ่น

สำหรับในต้นปี 2567 รัฐบาลได้ปรับกลยุทธ์การสื่อสารด้วยการให้ข้อมูลที่ชัดเจน ตรงประเด็น กลไกการบริหารจัดการ โดยจัดตั้งศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจะสื่อสาร แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น และแนะนำการปฏิบัติตนให้แก่พี่น้องประชาชน ชี้เป้าต้นตอหรือแหล่งกำเนิดฝุ่นของพื้นที่ เช่น การเผาในพื้นที่ป่า นาข้าว อ้อย ข้าวโพด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งให้กับศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด หน่วยงานที่กำกับดูแลแหล่งกำเนิด เพื่อการระงับ ยับยั้งต้นตอ แหล่งที่ก่อให้เกิดฝุ่น

ทางด้าน น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทย ขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝุ่น ซึ่งมีผลมาจากความกดอากาศสูง อัตราการระบายฝุ่นต่ำ ลมสงบทำให้เกิดการสะสมของฝุ่น สถานการณ์วันที่ 5 ม.ค. 2567 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ไปจนถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ขณะที่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือตอนล่าง ว่าต้องเฝ้าระวังช่วงระหว่างวันที่ 5-12 มกราคม 2567 เนื่องจากอัตราการระบายอากาศในพื้นที่ที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งแหล่งกำเนิดหลักที่มีผลต่อสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ การจราจรในพื้นที่และแหล่งกำเนิดจากนอกพื้นที่ ได้แก่ ฝุ่นจากการเผาในที่โล่งในจังหวัดปริมณฑลและโดยรอบ

สำหรับการควบคุมแหล่งกำเนิด ต้องกวดขันดูแลการตรวจวัดควันดำจากรถยนต์ดีเซล ฝุ่นจากเขตก่อสร้าง และการระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้ง อิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้การเผาในที่โล่งจากพื้นที่ต้นลม ส่งผลให้สถานการณ์ในพื้นที่ท้ายลมทวีความรุนแรงได้ยิ่งขึ้น โดยระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ถึง 3 มกราคม 2567 พบจุดความร้อนสะสมในประเทศไทยทั้งสิ้น 1,207 จุด คิดเป็นสัดส่วนในพื้นที่นาข้าว 38% พื้นที่ไร่อ้อย 13% พื้นที่ไร่ข้าวโพด 6% พื้นที่ป่า 11% พื้นที่เกษตรอื่นๆ 17% และพื้นที่อื่น 17% ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องควบคุมจัดการ

สำหรับการป้องกันคือทำให้ร่างกาย แข็งแรง ลดการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 หายใจอากาศบริสุทธิ์ พยายามอยู่ในที่ซึ่งมี PM 2.5 น้อย หรือใช้เครื่องฟอกอากาศ พยายามหลีกเลี่ยงอย่าอยู่กลางแจ้งนาน ให้ทำงานสักระยะแล้วหลบเข้าในอาคาร การใส่หน้ากากจะทำให้อึดอัด โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนยิ่งทำให้ไม่สามารถใส่หน้ากากได้นาน ขณะนี้ หน้ากาก N95 เป็นหน้ากากที่ใช้ป้องกันได้ดีที่สุด


คำแนะนำการดูแลและป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจาก PM 2.5

1. ให้อยู่ภายในอาคารบ้านเรือน หากไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง

2. ปิดประตูหน้าต่างป้องกันฝุ่นเข้า หากปิดไม่ได้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำทำเป็นม่านปิดแทน

3. หากต้องออกนอกบ้าน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก หรือใส่หน้ากากกรองฝุ่น

4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและทำงานหนัก เมื่ออยู่นอกบ้าน

5. ดื่มน้ำมากๆ และไม่สูบบุหรี่ ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก

6. ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศที่มีฝุ่นละออง

7. ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก, ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป

8. ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสีย ทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง.


https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2753029

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม