ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 17-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,422
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


วิจัยสหรัฐค้นพบ 'นาโนพลาสติก' นับแสนๆ ชิ้นใน 'น้ำดื่ม' บรรจุขวดขนาด 1 ลิตร ............... โดย วรุณรัตน์ คัทมาตย์

วิจัยล่าสุด! พบอนุภาค "นาโนพลาสติก" 240,000 ชิ้นใน "น้ำดื่ม" บรรจุขวดขนาด 1 ลิตรตามท้องตลาดในสหรัฐ ซึ่งมากกว่าที่เคยพบในอดีตถึง 100 เท่า! โดยอนุภาคเหล่านี้สามารถเข้าสู่กระแสเลือดและอวัยวะต่างๆ ได้



Key Points:

- งานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ค้นพบอนุภาคนาโนพลาสติก จำนวนเฉลี่ยถึง 240,000 ชิ้นในน้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตร ซึ่งมากกว่างานวิจัยก่อนหน้านี้ 100 เท่า!

- ทีมวิจัยสุ่มตรวจสอบน้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตร จากหลากหลายยี่ห้อในซูเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่งในสหรัฐฯ แล้วนำไปทดลองด้วยการฉายแสงเลเซอร์ชนิดพิเศษ ผลการทดลองพบว่ามีอนุภาคพลาสติกจิ๋วที่เกิดจากพลาสติก 7 ประเภท

- "นาโนพลาสติก" ก่อให้เกิดความกังวลมากกว่า "ไมโครพลาสติก" เพราะพวกมันมีขนาดเล็กกว่ามาก หากปนเปื้อนในน้ำดื่มและอาหารจึงมีแนวโน้มที่จะทะลุผ่านเยื่อบุลำไส้ หรือเข้าสู่กระแสเลือดได้มากกว่า


หลายปีที่ผ่านมามีรายงานเกี่ยวกับการปนเปื้อน ?ไมโครพลาสติก? ในอาหาร แหล่งน้ำ และอากาศ ให้ได้เห็นกันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงหลังมานี้ นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้พบแค่การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกเท่านั้น แต่ยังเริ่มพบ "นาโนพลาสติก" ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน มีงานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) ได้ค้นพบอนุภาคพลาสติกที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จำนวนเฉลี่ยถึง 240,000 ชิ้นในน้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตร ซึ่งมากกว่าที่พบในงานวิจัยชิ้นอื่นๆ ก่อนหน้านี้ถึง 100 เท่า จึงเป็นเรื่องท้าทายบรรทัดฐานด้านความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวดตามท้องตลาดในสหรัฐ


"นาโนพลาสติก" สร้างความกังวลด้านสุขภาพมากกว่า "ไมโครพลาสติก"

"เป่ยซาน หยาน" หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า พลาสติกหลายล้านตันถูกผลิตขึ้นทุกปี อันเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น อุตสาหกรรม, ประมง, ขยะในครัวเรือน และอย่างที่รู้กันว่าในปัจจุบันขยะพลาสติกเหล่านั้นปลดปล่อยไมโครพลาสติก (มีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 1 ไมโครเมตร - 5 มิลลิเมตร) ออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก

การวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าอนุภาคไมโครพลาสติกเป็นพาหะส่งต่อมลพิษและเชื้อโรคมาสู่มนุษย์ได้ แต่ล่าสุดในงานวิจัยครั้งนี้ค้นพบว่ามีอนุภาคที่เล็กกว่านั้น นั่นคือ "นาโนพลาสติก" (มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1 ไมโครเมตร) ปนเปื้อนอยู่ในน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความกังวลมากกว่าไมโครพลาสติก เพราะพวกมันอาจมีแนวโน้มที่จะทะลุผ่านเยื่อบุลำไส้ หรือเข้าสู่กระแสเลือดและสมองได้มากขึ้น

เนื่องจากอนุภาคนาโนพลาสติกมีความกว้างน้อยกว่า 1 ใน 70 ของเส้นผมมนุษย์ จึงมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ และแน่นอนว่ามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเช่นกัน การทำวิจัยครั้งนี้จึงต้องใช้เครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่


การทดลองด้วยแสงเลเซอร์ชนิดใหม่ ทำให้ตรวจจับ "อนุภาคนาโนพลาสติก" ขนาดเล็กจิ๋วได้

ทีมวิจัยได้พัฒนาเทคนิคที่เป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งสามารถตรวจจับอนุภาคนาโนพลาสติกในน้ำได้ โดยพวกเขาสุ่มตรวจสอบน้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตร จำนวน 6 ขวด จากหลากหลายยี่ห้อในซูเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่งในสหรัฐฯ แล้วนำไปทดลองด้วยการฉายแสงเลเซอร์ชนิดพิเศษ ซึ่งลำแสงจะสั่นเมื่อกระทบกับอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วในน้ำ

ผลการทดลองพบว่ามีระดับอนุภาคพลาสติกอยู่ระหว่าง 110,000 - 400,000 ชิ้นต่อตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดทั้งหมด หรือเฉลี่ยแล้วขวดน้ำแต่ละขวดบรรจุ "อนุภาคพลาสติก" ประมาณ 240,000 ชิ้นจากพลาสติก 7 ประเภท ทั้งนี้ขนาดของการสั่นสะเทือนของเลเซอร์ยังระบุประเภทของพลาสติกในน้ำได้ด้วย โดยพบว่า 90% เป็นนาโนพลาสติก และอีก 10% เป็นไมโครพลาสติก ซึ่งบางส่วนก็มาจากตัวขวดเอง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ยังเป็นการศึกษาขนาดเล็ก ยังคงต้องขยายการศึกษาในวงกว้างอีกต่อไป ด้านทีมวิจัยเองก็หวังว่าจะปรับปรุงเทคนิคของพวกเขาเพื่อระบุชนิดของนาโนพลาสติกที่อยู่ในน้ำให้ได้มากขึ้นกว่านี้


ยังไม่มีข้อมูลยืนยันเรื่องความอันตรายจาก "นาโนพลาสติก" ที่ปนเปื้อนในน้ำดื่ม

ขณะเดียวกันก็มีคำถามตามมาว่า นาโนพลาสติกที่พบในน้ำดื่มบรรจุขวดตามผลวิจัยครั้งนี้ จะมีอันตรายต่อผู้บริโภคแค่ไหน? อย่างไร? เรื่องนี้ "ไนซิน เฉียน" นักศึกษาปริญญาเอกสาขาเคมี ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเป็นผู้เขียนรายงานการศึกษาชิ้นนี้คนแรก เปิดเผยว่า ทีมวิจัยยังไม่อาจให้คำตอบได้ว่า การค้นพบนี้ทำให้น้ำดื่มบรรจุขวดมีอันตรายมากขึ้นหรือไม่ นั่นอยู่ระหว่างการตรวจสอบขยายผลต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม เคยมีการศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า อนุภาคนาโนของพลาสติกสามารถเข้าสู่เซลล์และเนื้อเยื่อในอวัยวะสำคัญเคลื่อนที่ผ่านกระแสเลือด และแพร่กระจายสารเคมีสังเคราะห์ที่อาจเป็นอันตรายในร่างกาย ไปถึงเม็ดเลือด ตับ และสมองได้

ขณะที่ เชอรี เมสัน จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย (ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้) กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า เป็นการศึกษาที่น่าประทับใจและแปลกใหม่มาก

"ปัจจุบันอนุภาคพลาสติกปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง แต่ความสามารถในการวัดปริมาณและระบุชนิดอนุภาคพลาสติกเหล่านี้ได้จนถึงระดับนาโนพลาสติกนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ในอนาคต" เชอรีกล่าว


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1108686

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม