ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 18-02-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,403
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


"สะพานข้ามกาลเวลา" ย้อนอดีตสู่ยุคดึกดำบรรพ์ ณ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา



การได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็น "อุทยานธรณีโลกสตูล?" (Satun UNESCO Global Geopark) ในปี พ.ศ. 2561 ช่วยย้ำความสำคัญและความหลากหลายด้านธรณีวิทยาของจังหวัดสตูลได้เป็นอย่างดี โดยหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถเข้าไปเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างสะดวกสบายใกล้ชิด คือ "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา"

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกาทะเลอันดามัน ในคาบมหาสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตกของไทย ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดตลอดแนวฝั่งทะเลในท้องที่ อ.ละงู อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล และ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง

บริเวณที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อยู่ในอำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นพื้นที่ติดริมทะเล มีทัศนียภาพของอ่าวนุ่น หรืออ่าวปอ ซึ่งมีภูมิทัศน์ของเวิ้งอ่าวสวยงามเป็นวงโค้ง มีภูเขาสูงร่มรื่นด้วยแมกไม้เป็นฉากหลัง มองไปในทะเลเห็นหมู่เกาะต่างๆอยู่ไกลลิบๆ พร้อมทั้งเรือประมงท้องถิ่นจอดเรียงรายอยู่ท่ามกลางน้ำทะเลสีเขียวมรกต

จุดขายของอุทยานฯ มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายจุด โดยเฉพาะเกาะจำนวน 22 เกาะ ที่ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ เช่น เกาะเภตรา เกาะเขาใหญ่ เกาะละโละแบนแต เกาะลิดี เกาะบุโหลน เกาะเหลาเหลียง และเกาะเปรามะ ฯลฯ ซึ่งมีรูปร่างแปลกตาเป็นโพรง ถ้ำ หลุมยุบ หน้าผาสูงชัน

แต่มีจุดขายสำคัญอีกแห่งในอุทยานฯ ที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะมาชมได้ตลอดทั้งปีแบบเดย์ทริป โดยไม่ต้องกังวลกับสภาพคลื่นลมฤดูมรสุม รวมทั้งไม่ต้องล่องเรือไปไกล เที่ยวได้ทุกวัย สถานที่นั้น คือ "สะพานข้ามกาลเวลา" ในพื้นที่เขาโต๊ะหงาย

"สะพานข้ามกาลเวลา" ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เป็นทางเดินริมทะเลเพื่อศึกษาธรณีวิทยากับธรรมชาติเลียบชายฝั่ง เป็นส่วนหนึ่งของเขาโต๊ะหงายหน้าผาริมทะเลที่สูงชัน ซึ่งมีปรากฏการณ์ธรรมชาติปรากฏอยู่ในบริเวณช่วงหนึ่งของหน้าผากับการชนกันหรือรอยสัมผัสของหิน 2 ยุค

อุทยานฯ ได้สร้างสะพานคอนกรีตแข็งแรง เป็นทางเดินเลียบชายฝั่ง เรียกว่า สะพานข้ามกาลเวลา เพื่อเป็นแหล่งธรณีวิทยาประเภทแหล่งธรณี โครงสร้างประเภทรอยเลื่อนที่เป็นรอยต่อระหว่างหินในยุคแคมเบรียน (542-488 ล้านปี) กับยุคออร์โดวิเชียน (488-444 ล้านปี)

โดยข้อมูลจากสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนสตูล ระบุว่า ลักษณะของแหล่งธรณีวิทยาจุดนี้ เสมือนเป็นรอยต่อของช่วงเวลามีความสำคัญทางด้านธรณีวิทยา เนื่องจากเป็นจุดเปลี่ยนของหินในยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง ในบริเวณนี้นอกจากเห็นรอยต่อแล้ว ยังพบการเกิดของหินย้อยที่มีลักษณะเป็นหินปูนฉาบ (flow stone) ที่สวยงามเป็นประกายระยิบระยับ ซึ่งเกิดจากการสะท้อนของแสงไฟที่กระทบหน้าผลึกแร่แคลไซต์

ลักษณะธรณีวิทยา เป็นรอยต่อของหินทรายและหินดินดานสีแดงในกลุ่มหินตะรุเตายุคแคมเบรียน กับหินปูนสีเทาดำในกลุ่มหินทุ่งสง ยุคออร์โดวิเชียน โดยเป็นรอยต่อแบบรอยเลื่อน (fault contact) โดยแนวของรอยเลื่อนมีทิศทางใกล้เคียงกับทิศทางการวางตัวของชั้นหิน

ดังนั้น การเดินไปตามสะพานชมธรรมชาติแห่งนี้ จะได้สัมผัสประสบการณ์การเดินเท้าที่เสมือนนำตัวเราก้าวเข้าไปสู่ยุคดึกดำบรรพ์เมื่อหลายล้านปีก่อน โดยมีจุดถ่ายภาพของเนินผา ชั้นหินต่างๆ ขนานไปกับสีมรกตของผืนน้ำทะเลจังหวัดสตูล


https://mgronline.com/travel/detail/9670000014677

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม