ดูแบบคำตอบเดียว
  #10  
เก่า 22-02-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,416
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


เหตุใดกองทัพเรือไทยเลือกจับมือกับกองทัพเรือสหรัฐฯ เพื่อกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด


เรือหลวงสุโขทัยอับปางหลังเผชิญคลื่นลมแรง เมื่อ 18 ธ.ค. 2565
ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES


กว่า 1 ปี 2 เดือนนับจากเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปางลงบริเวณอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2565 ล่าสุดโฆษกกองทัพเรือระบุว่า การสอบสวนหาสาเหตุเรืออับปางคืบหน้าไปแล้ว 90% เหลือเพียงรอหลักฐานจากการกู้เรือเท่านั้น

ภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัยจะเริ่มต้นขึ้นวันที่ 22 ก.พ. นี้ โดยทางกองทัพเรือของไทยร่วมกับกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกาช่วยกันกู้เรือแบบจำกัด แทนที่จะกู้เรือขึ้นมาทั้งลำ ซึ่งทางกองทัพเรือของไทยเคยตั้งงบประมาณไว้ที่ 200 ล้านบาท ก่อนจะยกเลิกแผนดังกล่าวไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2566


18 ธ.ค. 2565 วันเรืออับปาง

ช่วงเวลาประมาณสี่โมงเย็นของวันที่ 18 ธ.ค. 2565 เรือหลวงสุโขทัยเดินทางออกจากฐานทัพเรือสัตหีบ มุ่งหน้าไปร่วมงานคล้ายวันประสูติของ เสด็จเตี่ย หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ จ.ชุมพร แต่ต้องเผชิญกับคลื่นลมแรงในอ่าวไทย จนทำให้เรือเริ่มเอียง น้ำทะลักเข้ามาในตัวเรือ ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าและเครื่องจักร ทำให้มีคำสั่งจากผู้บังคับการเรือให้สละเรือในเวลาต่อมาเมื่อพบว่าเรือเอียง 60 องศา และอับปางลงในเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันเดียวกัน ห่างจากท่าเรือ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 20 ไมล์ทะเล

เรือลำดังกล่าวบรรทุกกำลังพลทั้งหมด 106 นาย เป็นกำลังพลประจำเรือกว่า 70 นาย ขณะที่อีกกว่า 30 นาย ไม่ใช่กำลังพลประจำเรือ แต่มาจากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็นต้น

ข้อมูลล่าสุดพบว่า มีผู้สูญหาย 5 นาย เสียชีวิต 24 นาย และรอดชีวิตกว่า 70 นาย

จากการสำรวจของกองทัพเรือพบว่า เรือหลวงสุโขทัยหนัก 930 ตัน จมอยู่ในลักษณะตั้งตรง เรือเอียงซ้ายประมาณ 8 องศา


แผนกู้เรือแบบเต็มรูปแบบ 200 ล้านบาทที่เป็นหมัน

จากเอกสารขอบเขตของงาน หรือ ทีโออาร์ (Terms of reference: TOR) โครงการงานจ้างกู้และลำเลียงเรือหลวงสุโขทัย ของกองทัพเรือ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 ระบุว่า ต้องการจ้างกู้เรือหลวงสุโขทัยที่อับปางทั้งลำในสภาพตัวเรือภายนอกใกล้เคียงกับผลสำรวจ และลำเลียงไปยังท่าเทียบเรือ ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จากนั้นให้ชำระคราบโคลนภายนอกและภายในตัวเรือให้เรียบร้อย ปรับแต่งสภาวะเรือให้มีความปลอดภัย ลอยลำได้ด้วยตัวเอง ตั้งงบประมาณไว้ที่ 200 ล้านบาท มีแผนใช้งบกลางและงบประมาณของกองทัพเรือเอง

โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานกู้เรืออับปางทั้งลำโดยไม่ตัดเป็นชิ้นส่วน ที่มีขนาดระวางขับน้ำไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน ระดับความลึกไม่น้อยกว่า 50 เมตร สำเร็จในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ยื่นข้อเสนอ ต่อมาพบว่ามีผู้เสนอยื่นซองประมูลโครงการ 16 ราย

วันที่ 13 ก.ย. 2566 ซึ่งมีการแถลงนโยบายของรัฐบาล ทางนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายนโยบายของรัฐบาล โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่พูดถึงความผิดปกติของขั้นตอนการยื่นซองประมูลโครงการกู้เรือสุโขทัยแบบเต็มรูปแบบ จากกรณีที่กองเรือยุทธการยกเลิกการประมูล โดยไม่มีทีโออาร์ใหม่ ไม่เปิดเชิญชวนยื่นซองประมูลใหม่ แต่กลับให้เอกชนที่เคยยื่นซองก่อนหน้านี้เข้ายื่นซองประมูลใหม่ในราคาเดิม

พร้อมกันนี้ ยังพบว่าบริษัทสุดท้ายที่ยื่นซองประมูล เพิ่งจดจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 และมีกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นคุณหญิง นามสกุล "หนุนภักดี" ซึ่งเป็นนามสกุลเดียวกันกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น

"จึงขอตั้งคำถามว่ามีเจตนาควบคุมการตรวจสอบกู้ซากหรือไม่" นายจิรัฏฐ์ สส.พรรคก้าวไกล กล่าว

พล.ร.อ. เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ (ผบ.ทร) ในขณะนั้น ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของ สส.พรรคก้าวไกล ในเวลาต่อมา โดยกล่าวว่า "ไม่มีหรอกครับ คนนี้แค่นามสกุลพ้องกัน ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกัน" พร้อมกับอธิบายว่า 16 บริษัทที่ยื่นซองประมูลต่างส่งเอกสารไม่ครบ คณะกรรมการเปิดซองราคาจึงกำหนดให้แต่ละบริษัทยื่นซองเข้ามาใหม่ พร้อมแจ้งว่าขาดเอกสารใดบ้าง โดยยืนยันว่าไม่มีการล้มประมูล ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์เพื่อล็อคสเปคให้กับบริษัทใด โดยช่วงยื่นซองประมูลรอบที่สอง เกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา

จากนั้นวันที่ 25 ธ.ค. 2566 พบว่า กองเรือยุทธการออกประกาศยกเลิกการจัดจ้างกู้และลำเลียงเรือหลวงสุโขทัย โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอผ่านการคัดเลือกตามที่กองเรือยุทธการกำหนด จึงขอยกเลิกการจัดจ้างดังกล่าว

ในสัญญาจัดซื้อเรือหลวงสุโขทัยระบุว่า ไทยมีข้อตกลงกับกองทัพสหรัฐฯ เรื่องการห้ามไม่ให้ชาติอื่นเข้าถึงเทคโนโลยี รวมทั้งกรณีการกู้ซากเรือต้องให้ทางสหรัฐฯ เป็นผู้ดำเนินการ


ทำไมกองทัพเรือเลือกแผนกู้เรือแบบจำกัดแทน

วันที่ 2 ก.พ. 2567 กองทัพเรือของไทยและกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา เปิดเผยระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 ว่า กองทัพของทั้งสองประเทศจะร่วมกันทำภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด ซึ่งหมายถึงไม่ได้กู้ซากเรือหลวงขึ้นมาทั้งลำเหมือนกับแผนของกองทัพเรือในตอนแรก โดยมีแผนดำเนินการระหว่างวันที่ 19 ก.พ. ? 4 มี.ค. 2567

คอบร้าโกลด์เป็นการฝึกร่วมผสมนานาชาติประจำปีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประวัติยาวนานมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทยและกองกำลังของสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี

แผนการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัดในครั้งนี้ ทางกองทัพเรือจะใช้เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือต่อต้านทุ่นระเบิดจำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์จำนวน 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลางจำนวน 18 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด 40 นาย ร่วมปฏิบัติการ ขณะที่กองทัพเรือสหรัฐฯ จะใช้เรือโอเชียน เวเลอร์ (Ocean Valor) พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด 20 นาย ร่วมสนับสนุนปฏิบัติการ


พล.ร.อ.ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เปิดเผยว่า แผนการกู้เรือในครั้งนี้จะแบ่งออกเป็น

- การค้นหาผู้สูญหายจำนวน 5 คน

- สำรวจหลักฐานใต้น้ำเพื่อนำมาประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริงของกองทัพเรือ

- ทำให้ยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ ที่ติดอยู่กับเรือหลวงสุโขทัยหมดความสามารถ

- กองทัพเรือจะนำอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์บางส่วนขึ้นจากน้ำ โดยปล่อยให้ตัวเรืออยู่ใต้ทะเล

เรือหลวงสุโขทัยประจำการมา 35 ปี เป็นเรือลำที่ 2 ในเรือคอร์เวตชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์ สร้างโดยบริษัทต่อเรือทาโคมา เมืองทาโคมา รัฐวอชิงตัน สหรัฐฯ


กองทัพเรือของสหรัฐฯ พยายามยื่นข้อเสนอช่วยกู้เรือมาโดยตลอด อ้างอิงจากข้อมูลที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สส.พรรคก้าวไกลในขณะนั้น ได้อภิปรายในวันที่ 2 ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566

นายพิจารณ์ บอกว่า กองทัพเรือของสหรัฐฯ เสนอความช่วยเหลือว่าจะกู้เรือให้ฟรี เพราะเรือลำนี้ไทยซื้อจากสหรัฐฯ และทางสหรัฐฯ เองก็ต้องการสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่าอะไรคือเหตุให้เรือล่ม เนื่องจาก "ที่ผ่านมาเรือของเขามีแต่จมลงเพราะสู้รบหรือไม่ก็ชนหินโสโครก ไม่เคยมีที่จมเพราะคลื่นทะเล" โดยมีเงื่อนไขว่าผลการสืบสวนต้องเก็บเป็นความลับระหว่างกองทัพเรือของไทยและกองทัพเรือของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ นายชยพล สท้อนดี ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ยังแถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยเปิดเอกสารจากคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย หรือ Joint United State Military Advisory Group, Thailand (JUSMAGTHAI- จัสแม็กไทย) ที่ทวงถามกองทัพเรือของไทยเป็นครั้งที่ 2 จากกรณีการกู้ซากเรือหลวงสุโขทัย

ในเอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาใจความว่า ทางจัสแม็กไทยต้องการให้กองทัพเรือของไทยเร่งส่งรายงานอุบัติเหตุและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับเรือรบหลวงสุโขทัยตามสัญญา เพื่อส่งรายงานกลับไปยังสหรัฐฯ พร้อมทั้งระบุว่า การกู้เรือหลวงสุโขทัยจะต้องผ่านการรับรองโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อน และหากไทยไม่ทำตาม จะส่งผลต่อการซื้อขายอาวุธระหว่างกันในอนาคต

นายชยพลจึงมีคำถามถึงกองทัพเรือของไทยว่า กองทัพเรือได้มีการคุยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดเพียงใด และกังวลว่าเรื่องนี้อาจกระทบต่อการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในอนาคต ซึ่งอาจทำให้กองทัพเสียโอกาสที่จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2567 เว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหมได้เผยแพร่ข่าวการประชุมร่วมกันระหว่างนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ กมธ.การทหาร สภาผู้แทนราษฎร โดยพบว่าส่วนหนึ่งของเนื้อหาการประชุมหารือ ได้มีการกล่าวถึงภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัยด้วย และเนื้อหาสอดคล้องกับข้อมูลของนายชยพล สส.พรรคก้าวไกล

นายสุทินชี้แจง กมธ.การทหารฯ ว่า การจัดซื้อเรือหลวงสุโขทัยนั้น ไทยมีข้อตกลงกับกองทัพสหรัฐฯ เรื่องการห้ามไม่ให้ชาติอื่นเข้าถึงเทคโนโลยี รวมทั้งกรณีการกู้ซากเรือต้องให้ทางสหรัฐฯ เป็นผู้ดำเนินการ


การตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเรืออับปางไปถึงไหนแล้ว

หลังจากเกิดเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปางลง ทางกองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 2 ชุด

- คณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เรือหลวงสุโขทัยอับปาง มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุ ทั้งด้านความพร้อมของเรือและการปฏิบัติงานของเรือ

- คณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงในการดำเนินการภายหลังจากเรือหลวงสุโขทัยอับปาง มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบการดำเนินการในขั้นตอนของการสละเรือใหญ่ การค้นหาและช่วยเหลือกำลังพลภายหลังประสบเหตุ ว่าเป็นไปตามหลักการและแนวทางการปฏิบัติที่กำหนดไว้หรือไม่


ถึงแม้สังคมและผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจำนวนหนึ่งเสนอแนะว่า ควรมีคณะผู้ตรวจสอบภายนอกหรือคณะกรรมการกลางเข้าไปมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ หรือตรวจสอบกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของกองทัพเรือ แต่ พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือในขณะนั้น เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยเมื่อ ธ.ค. 2565 ว่า ไม่มีระเบียบที่เปิดช่องให้ตั้งคณะผู้ตรวจสอบภายนอกร่วมการสอบสวน แต่ยืนยันว่าจะสอบสวน "อย่างตรงไปตรงมา"

ต่อมา พล.ร.อ.ปกครอง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 ว่าการสอบสวนกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปางคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% สอบปากคำพยานไปแล้ว 289 คน เหลือเพียงพยานวัตถุเรือหลวงสุโขทัยที่ยังได้ไม่ครบ ต้องรอจากขั้นตอนการกู้เรือ โดยยืนยันว่า "ไม่มีความพยายามดึงเรื่องให้ช้า แต่พยายามทำให้เร็ว อยากทำให้ทุกอย่างมีความรอบคอบ"


https://www.bbc.com/thai/articles/cv2vvxk6p26o

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม