ดูแบบคำตอบเดียว
  #6  
เก่า 31-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,408
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


เปิด 4 สถานการณ์ปัญหา-ส่องทิศทางออก "ทวงคืนชายหาดสาธารณะไทย" .............. นราวิชญ์ เชาวน์ดี รายงาน



จากกรณี "ฝรั่งเตะหมอ" สู่กระแส "ทวงคืนชายหาดสาธารณะ" และล่าสุดวันนี้ เวทีเสวนากลางกรุง "ไม่มีใครเป็นเจ้าของชายหาด แต่?"

Beach for life เปิด 4 สถานการณ์ปัญหาสำคัญหาดสาธารณะไทยวันนี้ "ปิดทางเข้า-อ้างสิทธิ-ที่ถูกกัดเซาะ-ที่ตกน้ำที่งอก"

นักวิชาการชี้ "ซับซ้อนทั้งปัญหาและแนวทางแก้" เสนอใช้กลไกบอร์ดชาติจัดการ ด้านเครือข่ายทวงคืนชายหาดเสนอใช้หาดปากบาราเป็นกรณีตัวอย่าง เพราะข้อมูลพร้อม สามารถจบได้เลย


จาก "กรณีฝรั่งเตะหมอ" ถึง "ทวงคืนหาดสาธารณะภูเก็ตและปากบารา"

"สถานการณ์ชายหาดสาธารณะในพื้นที่ภูเก็ตเริ่มจะมีปัญหาจนกลายมาเป็นชายหาดส่วนบุคคลราว ๆ หลังจากปี 2529 เป็นต้นมา เนื่องจากการบูมของการท่องเที่ยวในจังหวัด โดยมีปัญหาหลัก ๆ คือการสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำชายหาดทำให้การเข้าถึงชายหาดยากลำบากมากขึ้น จนนำมาสู่เหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงเมื่อไม่นานมานี้ก็คือเหตุการณ์ชาวต่างชาติทำร้ายหมอที่หาดยามูโดยอ้างว่าหมอเข้ามานั่งในพื้นที่ของตน

เรื่องดังกล่าวทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเหตุใดชายหาดซึ่งถือว่าเป็นสถานที่สาธารณะถึงมีการอ้างสิทธิในการครอบครองได้จนนำมาสู่การตรวจสอบและยืนยันแล้วว่ากรณีดังกล่าวเป็นการรุกล้ำทางสาธารณะจนนำมาสู่การเคลื่อนไหวและเรืยกร้องให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำทั้งในหาดยามูที่เป็นกระแส และบริเวณหาดอื่น ๆ บนเกาะภูเก็ต"

พิเชษฐ์ ปานดำ กลุ่มคนท้องถิ่นดั้งเดิมภูเก็ต กล่าวถึงกรณีฝรั่งเตะหมอที่เป็นที่มาของกระแส ?ทวงคืนชายหาดสาธารณะ? วันนี้ (28 มี.ค. 2567) ในเวที เสวนา "ไม่มีใครเป็นเจ้าของชายหาด แต่?" ซึ่งจัดโดย Beach for life และองค์กรเครือข่าย ณ SEA junction หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

พิเชษฐ์ กล่าวเสริมว่าพื้นที่ชายหาดเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนท้องถิ่นใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อการพักผ่อน การสูญเสียพื้นที่ดังกล่าวทำให้ความตึงเครียดในพื้นที่เกิดขึ้น และถือว่าไม่สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนภูเก็ตเป็นพื้นที่ท้องเที่ยวอย่างที่คนท้องถิ่นต้องการ

นอกจากนั้นอีกหนึ่งชายหาดที่มีปัญหาในเรื่องเอกชนอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งอาจจะไม่ถูกพูดถึงมากนักในช่วงเวลาที่กระแสทวงคืนชายหาดถูกพูดถึงแต่ก็เป็นกรณีที่น่าสนใจเช่นกัน คือกรณีที่เกิดขึ้นที่หาดปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กลุ่มรักษ์อ่าวปากบารา เลขาธิการองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) กล่าวในเวทีเช่นกันว่า หาดดังกล่าวประชาชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์เป็นหาดสาธารณะมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมามีการอ้างสิทธิของเอกชนรายหนึ่งเหนือที่ดินบนชายหาดโดยการนำเสาคอนกรีตมาปักรุกล้ำบริเวณหาดและอ้างว่าตนมีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3ก.

"บริเวณหาดปากบาราเป็นพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะจนกลายสภาพเป็นชายหาดสาธารณะมานานแล้ว จากการตรวจสอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวมีสภาพเป็นชายหาดโดยถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนกลายเป็นชายทะเลเป็นเวลา 47 ปี ตั้งแต่ปี 2518

สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ก็ยังคงมีเสาและมีการก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าใครจะต้องเข้ามารับผิดชอบถ้าจะต้องถอนเอกสารสิทธิ์จะทำอย่างไร" วิโชคศักดิ์ กล่าว


4 ปัญหาใหญ่ "หาดสาธารณะไทย" วันนี้

อภิศักดิ์ ทัศนี หรือน้ำนิ่งจาก กลุ่ม Beach for life เครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับชายหาดมาอย่างยาวนานได้สรุปภาพรวมถึงปัญหาชายหาดที่ได้รับผลกระทบจากการอ้างสิทธิของเอกชนว่ามี 4 ประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ

1. ปัญหาการปิดกั้นการเข้าถึงพื้นที่ชายหาดสาธารณะจนกลายเป็นการยึดชายหาดเป็นพื้นที่ส่วนตัว อย่างเช่นในกรณีที่ชายหาดเเหลมหงา จ.ภูเก็ต ทำให้ประชาชนภูเก็ตออกมาทวงคืนหาดเเหลมหงาจนกลายเป็นหาดสาธารณะอีกครั้ง

2. การรุกล้ำชายหาดสาธารณะโดยการสร้างสิ่งก่อสร้าง เช่นกรณีที่ หาดเเหลมยามู จ.ภูเก็ต ที่วิลล่าหรูสร้างบันไดรุกล้ำชายหาดสาธารณะ จนเกิดดราม่าฝรั่งเตะหมออันนำมาสู่กระแสการทวงคืนชายหาด

3. ที่ดินถูกกัดเซาะชายฝั่งจนกลายเป็นชายหาดสาธารณะ น้ำทะเลท่วมถึง ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์เเต่เอกชนยังคงอ้างสิทธิบนชายหาด สร้างสิ่งปลูกสร้าง อาทิ ชายหาดปากบารา จ.สตูล ซึ่งเมื่อก่อนเคยมีที่ดินแต่ก็ถูกกัดเซาะจนเป็นชายหาดมานานกว่า 47 ปี แต่เอกชนที่ถือเอกสารยังอ้างว่าตนมีสิทธิ และเข้าไปดำเนินการในพื้นที่

4. กรณีที่ตกน้ำและที่งอก เนื่องจากบางพื้นที่ที่มีการสร้าง Jetty (เขื่อนกันทรายและคลื่น) ทำให้เกิดการงอกใหม่ของที่ดินริมชายหาดที่ในอดีตอาจจะจมน้ำอยู่ จนนำสู่การขอออกเอกสารสิทธิ์เป็นที่ส่วนบุคคลทำให้ชายหาดกลายเป็นที่ดิน เช่น กรณีหาดสะกอม จ.สงขลา


ซับซ้อนทั้งตัวปัญหาและแนวทางแก้

"ปัญหาการเข้าถึงชายหาดสาธารณะเกิดขึ้นเยอะแยะมากมายไม่ใช่แค่ภูเก็ตที่เดียว และอาจจะมีหลายพื้นที่ที่เรายังไม่รู้

เรื่องนี้ถ้าจะพูดจริง ๆ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ กรมที่ดิน ท้องถิ่น จะทำอย่างไรให้แต่ละหน่วยงานคุยกันได้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา" น้ำนิ่ง กล่าว

"การแก้ไขปัญหาของพื้นที่ชายหาดจะมีความซับซ้อนเนื่องจากตนมองว่า ชายหาดถือเป็นพื้นที่ริมขอบที่ดิน ริมขอบทะเล ซึ่งตัวกฎหมายในการจัดการจะซ้อนกับกันในหลายหน่วยงานซึ่งมีปัญหามาโดยตลอด บางทีถ้ามีข้อพิพาทระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน แต่ละฝ่ายก็จะนำกฎหมายที่ฝ่ายตนได้ประโยชน์มาใช้

ในกรณีแหลมยามูกฎหมายที่ดินพูดถึงแต่สิทธิของกรรมสิทธิเอกชนแต่ไม่บอกว่าต้องเว้นทางสาธารณะ เลยไม่มีใครคิดเรื่องนี้

เมื่อไร่ที่ออกโฉนด น.ส.4จ. ให้เป็นกรรมสิทธิเอกชนแล้วจะเพิกถอนยาก ปัญหาเรื่องเพิกถอนจะเห็นว่าคนที่ออกให้ตั้งแต่แรกคือกรมที่ดินถ้าจะไปฟ้องศาลสั่งให้ถอนคนที่จะถอนคืออธิบดีกรมที่ดิน ทำให้เราเห็นว่าจะต้องแก้ประมวลกฎหมายที่ดินให้คนที่จะเพิกถอนต้องไม่ใช่คนที่ออก" ธิวัชร์ ดำแก้ว ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว


ชี้ "ขาดบูรณาการหน่วยงานรัฐ" เสนอใช้กลไก "บอร์ดชาติ" จัดการ

ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวในเวทีเสวนาว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ปัญหาชายหาดสาธารณะยังไม่สามารถแก้ได้เป็นเพราะว่ายังไม่มีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยตนคิดว่าสามารถใช้กลไกของ คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ให้เข้ามาช่วยดำเนินการได้

"สำหรับการจัดการในเรื่องทรัพยากรและทะเลชายฝั่ง ผมคิดว่าคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ได้เนื่องจากคณะกรรมการฯ มีอำนาจเสนอนโยบายและแผนการบริหารจัดการให้ทั้งหน่วยงานรัฐต่าง ๆ และครม.ได้" ปริญญา กล่าว

พูลศรี จันทร์คลี่ ผู้อำนวยการส่วนแผนบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง กองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แสดงความเห็นด้วยว่าปัญหานี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงหน่วยงานเดียว และเห็นด้วยกับปริญญาว่าจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ

"ในกรณีไม่มีทางลงไปสู่ชายหาดสาธารณะจะทำอย่างไร ผมคิดว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสามารถเสนอแนะไปยังคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เพื่อเวนคืน หรือขอซื้อพื้นที่ทำทางลงได้

สำหรับเรื่องที่ตกน้ำ คำพิพากษาศาลฎีกาวางหลักไว้แล้วว่าถ้าที่ใดถูกกัดเซาะจนเป็นทางน้ำแล้ว และเจ้าของไม่ได้หวงกันโดยหาทางป้องกันอย่างจริงจังที่ดังกล่าวจะตกเป็นที่ของแผ่นดินทุกครั้ง ต่อให้ในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวงอกกลับคืนมาใหม่ก็จะถือว่าสูญเสียไปแล้ว แต่ปัญหาคือบางครั้งศาลพิพากษาแล้วแต่กรมที่ดินไม่มีการเพิกถอนโฉนด

โดยรวมระบบของเราถือว่าดีประมาณ 80% แล้วแต่ปัญหาคือในทางปฏิบัติไม่มีการทำหน้าที่อย่างจริงจัง ซึ่งคิดว่าในทางกฎหมายไม่พอจะต้องมีเครื่องมือทางสาธารณะเข้ามา เช่น ประชาชนจะต้องร้องเรียนได้ ทำให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมการแก้ปัญหาก็จะง่ายขึ้น" ปริญญา กล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาในรายกรณี

"อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเสนอคือในพื้นที่ตกน้ำกรณีที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นของชาวบ้านไม่ใช่ที่ของนายทุนก็ควรจะมีการเยียวยาชดเชยด้วย" ปริญญา เสนอ

สำหรับบทบาทของคณะกรรมการธิการฯ ธิวัชร์ กล่าวว่า หลังจากนี้ตนจะใช้กระบวนการของคณะฯ โดยอาจจะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องชายหาดโดยเฉพาะเนื่องจากเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ และตนไม่อยากให้จบที่กรณีภูเก็ตแค่ที่เดียว


เสนอใช้หาดปากบารา เป็นกรณีตัวอย่าง

"กรณีปากบาราอาจจะต้องแยกออกเป็น 2 เรื่อง 1. ตรงนั้นเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ 2. การก่อสร้าง ซึ่งการก่อสร้างถ้าไม่มีการขออนุญาตจะต้องรื้อถอนแน่นอน ต่อให้มีเอกสารสิทธิแต่การก่อสร้างก็ต้องขออนุญาต การก่อสร้างต้องได้รับอนุญาต ซึ่งหน่ยวงานที่จะอนุญาตคือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

สำหรับเรื่องที่ว่าที่ดังกล่าวถือเป็นที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) ที่ระบุว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ

จะเห็นว่าไม่มีคำว่าชายหาด แต่ใช้คำว่าที่ชายตลิ่งที่ต้องห้ามออกโฉนด ถ้าออกมาแล้วก็ต้องเพิกถอน แล้วชายหาดเป็นที่ชายตลิ่งหรือไม่ ใช่ มีคำพิพากษาของศาลฎีการับรองมาเต็มไปหมดโดยในการเพิกถอนก็ต้องขออำนาจศาลในการเพิกถอนโดยมีกรมที่ดินเป็นแม่งาน" ปริญญา กล่าว

"ในมุมของผมในกรณีปากบาราที่อ้างว่ามีเอกสาร น.ส.3ก. การเพิกถอนไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากเอกชนมีแค่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งชัดเจนว่าเขาไม่ได้ทำประโยชน์แน่ ๆ เพราะว่าเอกสารจากกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ชี้ชัดว่าเป็นชายหาดมาแล้ว 47 ปี ทำให้กลับไปสู่หน่วยงานที่ดินซึ่งผมคิดว่าเขามีอานาจในการเพิกถอน ข้อเท็จจริงมันชัดว่า พื้นที่ปากบาราเป็นพื้นที่สาธารณะเรียบร้อยแล้ว การให้เอกชนรายได้รายหนึ่งเป็นเจ้าของก็ย่อมจะต้องถูกเพิกถอนไป

ผมคิดว่ากรณีปากบารามีความพร้อมสามารถแก้ไขปัญหาได้เลยเนื่องจากมีความพร้อมและมีข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอแล้วโดยสามารถใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบได้" อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และเครือข่ายทวงคืนชายหาด กล่าว


https://greennews.agency/?p=37434

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม