ดูแบบคำตอบเดียว
  #13  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,403
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


ชัดปีแรก โลกเดือดทำหญ้าทะเลเหง้าเน่า-เต่าทะเลตัวผู้ลด จับตาปะการังฟอกขาว



GreenBrief "ชัดปีแรก ผลกระทบโลกเดือดต่อทะเลไทยหนักระดับ หญ้าทะเลเหง้าเน่า?เต่าทะเลตัวผู้ลด จนขาดสมดุลเพศในการผสมพันธุ์" กรมทะเลเผย พร้อมระบุกำลังจับตา?รับมืออีกวิกฤตใหญ่ "#ปะการังฟอกขาวจากอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่ม"


ทำหญ้าทะเลเหง้าเน่า

"(กรมฯ) พบว่า #ภาวะโลกเดือด สร้างความเสียหายต่อ #หญ้าทะเลทำให้หญ้าทะเลเกิดความเสื่อมโทรมและตายในที่สุดโดยปกติหญ้าทะเลที่ตายใบจะร่วงแล้วงอกขึ้นมาใหม่

แต่ในปีนี้นับเป็นปีแรกที่สถานการณ์โลกเดือดทำให้เหง้าของหญ้าทะเลเกิดการเน่าเปื่อย เนื่องจากดินมีความร้อนสูงกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น จึงส่งผลทำให้หญ้าทะเลเกิดการอืดแห้งนาน แต่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปกติ 30 ? 50 เซนติเมตรทำให้หญ้าทะเลอืดแห้งนานกว่าปกติมากกว่าหนึ่งชั่วโมง

กรมฯได้ส่งทีมนักวิชาการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานและสถาบันการศึกษาดำเนินการค้นคว้าและวิจัยหาสาเหตุการตายของหญ้าทะเลปรากฏว่าภาวะโลกเดือดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมลงและหญ้าทะเลที่หายไปยังส่งผลกระทบต่อพะยูนและเต่าทะเลเพราะหญ้าทะเลคืออาหารของพวกมัน

อย่างไรก็ตามกรมฯได้ดำเนินการปฏิบัติตามมาตรการในการแก้ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมเพื่อเร่งฟื้นฟูสภาพแหล่งหญ้าทะเลให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม"

ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยวันนี้ พร้อมชี้แจงแนวทางการจัดการของกรมฯ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงว่า กำลังติดตามสถานการณ์วิกฤตนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมรับมือ


ทำเต่าทะเลตัวผู้ลดจนขาดสมดุลเพศ

"อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด คือ การขาดความสมดุลเพศของเต่าทะเล เนื่องจากอุณหภูมิเป็นตัวกำหนดเพศของเต่าทะเล ในอดีตสามารถรักษาสมดุลให้มีเพศผู้และเพศเมียอย่างละครึ่ง ปรากฏว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะโลกเดือดทำให้เต่าเพศเมียเยอะขึ้นเพศผู้ก็ลดลง ในส่วนปัญหาที่พบเจอเพศผู้ลดน้อยลงไม่มีการผสมพันธุ์ ทำให้เกิดเป็นไข่ลมและเน่าเสียได้" อธิบดี ทช. กล่าว

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เมื่อ 14 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา ในกรณีผลกระทบโลกเดือดต่อสมดุลเพศเต่าทะเลว่า

"ไม่ว่าเราทุ่มเทขนาดไหน มีบางครั้งที่โลกไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวัง ไข่เต่ามะเฟืองของแม่ 14 กุมภา 120+ ฟอง ไม่ได้รับการผสมทั้งหมด ไม่มีลูกเต่าเกิดแม้แต่ตัวเดียว

ปัญหาไข่ไม่มีเชื้อเกิดทั่วโลก บางแห่งถึงขั้นทำให้เต่ามะเฟืองหายไปจากพื้นที่นั้นถาวร เหตุเพราะเพศของเต่าจะขึ้นกับอุณหภูมิในรัง หากอุณหภูมิสูงเป็นเพศเมีย ต่ำเป็นเพศผู้ แต่โลกร้อนขึ้น ทรายร้อนขึ้น เต่าเกือบทั้งหมดฟักเป็นเพศเมีย เหลือตัวผู้เพียงน้อยนิด ยิ่งเวลาผ่านไป โลกร้อนขึ้นและร้อนขึ้น ตัวผู้ยิ่งน้อยลงและน้อยลง แม่เต่าบางตัวเจอตัวผู้ผสมพันธุ์เพียงไม่มาก ทำให้สัดส่วนของไข่ไม่มีเชื้อสูงขึ้น

แต่สำหรับรังนี้ ไม่มีเลย แม่เต่าไม่เจอคู่ของเธอเลย ทั้งที่เธอขึ้นมาวางไข่ในวันที่ 14 กุมภา วันแห่งความรัก เธออยากมีความรัก แต่โลกที่มนุษย์ทำให้เปลี่ยนไป ไม่ยินยอมให้เธอมีรัก และไม่ยอมให้เธอมีลูก" ดร.ธรณ์ ระบุ


จับตา ปะการังฟอกขาว

"กรมฯ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และสัตว์ทะเลหายาก ได้ติดตามสถานการณ์โลกเดือดอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมความพร้อมในการรับมือและดำเนินการวางแผนเฝ้าระวังสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม โดยในปีนี้ได้คาดการณ์ว่าจะเกิด ปะการังฟอกขาวเป็นวิกฤตโลก ส่งผลกระทบด้านการเจริญเติบโตของปะการัง ซึ่งปกติกว่าปะการังจะกลับคืนมาสภาพเดิมได้นั้น ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ? 10 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ ภายใน 10 ปีได้เกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาวรายใหญ่ 2 ครั้งทำให้ปะการังเติบโตไม่ทันส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเล

จากรายงานขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA เผยถึงภาวะ ?ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่? รอบที่ 4 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลกส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และส่งผลต่อแนวปะการังทั่วโลก

อย่างไรก็ตามกรมฯไม่ได้นิ่งนอนใจได้ดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์ปะการังรวมถึงกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาวโดยมีระบบติดตามเฝ้าระวังการตรวจวัดอุณหภูมิใต้ทะเลหากพบน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติ

กรมฯจะดำเนินการตามกฎระเบียบและข้อบังคับที่กำหนดโดยการลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาต่อปะการังรวมถึงลดภัยคุกคามต่างๆที่ทำให้ปะการังเครียดเช่นกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลกิจกรรมดำน้ำดูปะการังและการปล่อยน้ำเสียลงในทะเลเป็นต้น

นอกจากนี้ กรมฯ ได้เปิดโอกาสให้เครือข่ายชุมชนชายฝั่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เมื่อพบจุดปะการังฟอกขาวที่รุนแรง หรือ มีแนวโน้มที่กำลังจะตาย ให้รีบแจ้งเบาะแสไปยังสำนักงานภายในพื้นที่สังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล หรือโทรไปที่เบอร์ 1362 สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อที่กรมฯ จะดำเนินการประเมินและพิจารณาในการตัดสินใจย้ายปะการังไปไว้ในที่ปลอดภัยบริเวณพื้นที่ทะเลที่มีอุณหภูมิเย็น เพื่อปะการังจะฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิมอีกครั้ง" ปิ่นสักก์ เปิดเผยเพิ่มเติม


พัชรวาทสั่งกรมทะเลฯ "เตรียมพร้อมรับมือ-สร้างความตระหนักประชาชน"

"ปัจจุบันโลกของเราได้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทั่วโลก ต่างต้องเผชิญหน้ากับการแปรปรวนของสภาพอากาศแบบสุดขั้วที่เรียกว่า ?ภาวะโลกเดือด? ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเลคือสิ่งที่ระบบนิเวศทางทะเลกำลังเผชิญกับผลกระทบหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นหญ้าทะเลเกิดความเสื่อมโทรมอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติและการเกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงนี้นับว่าเป็นสัญญาณเตือนของวิกฤตทะเลเดือด

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ตนในฐานะผู้นำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์ดังกล่าวจึงได้หารือกับนายจตุพรบุรุษพัฒน์ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเร่งหาแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการจัดการและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามที่ได้ประกาศไว้

พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ อันเป็นทรัพยากรสำคัญของระบบนิเวศทางทะเล

นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกเดือดให้กับประชาชนนับเป็นเรื่องที่สำคัญ ควรมีการจัดเวทีประชุมให้ทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตโลกเดือด การปล่อยของเสีย และการทิ้งขยะลงในทะเล รวมถึงดึงภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และเครือข่ายอนุรักษ์เข้ามามีบทบาทในการปกป้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น

โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนเรื่องใกล้ตัวให้เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบ ปรับเปลี่ยนทัศนคติและรูปแบบการใช้ชีวิตชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งรับ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดทั้งร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำไปสู่การเปลี่ยนโลกเพื่อ "ลดโลกเดือด" ต่อไป"

พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายจัดการปัญหาดังกล่าวล่าสุด


https://greennews.agency/?p=37591

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม