ดูแบบคำตอบเดียว
  #17  
เก่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,403
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


"โลกเดือด" ส่งผลอย่างไรกับ "ทะเลไทย" และมีอะไรบ้างที่เราต้องเฝ้าระวัง


SHORT CUT

- อ.ธรณ์ เผย "สวัสดีวัน Earth Day ด้วยความร้อน 43 องศา ทะเลร้อนเกิน 32 องศา ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ไม่รักโลกตอนนี้ ก็ไม่เหลือเวลาให้รักแล้วครับ"

- อ่าวไทยร้อนเกิน 32 องศา, เกิดปรากฏการณ์ "หญ้านึ่ง", แพลงก์ตอนบลูม, ไข่เต่ามะเฟืองไม่มีเชื้อ, ปะการังเกาะยา จ.ตรัง ฟอกขาวแล้ว

- พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ ทช. รับมือปะการังฟอกขาว




เมืองไทยอากาศร้อนทะลุ 43 องศา บนบกก็ว่าร้อนตับจะแตกแล้ว ดำลงน้ำก็ร้อนพอกัน อ.ธรณ์ เปิดเผยว่า วัดอุณหภูมิท้องทะเลช่วง 7 โมงเช้า ได้ 32 องศาเข้าไปแล้ว มารีเช็กกันหน่อยว่า ทะเลไทยในยุคโลกเดือดได้รับผลกระทบยังไงบ้าง?


โลกเดือด ทะเลเดือดยิ่งกว่า!

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้วว่า โลกกำลังเจอกับปะการังฟอกขาวระดับหายนะ (Global Coral Bleaching Event) ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 4 ของโลก และถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลมาจากอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น

เป็นเหตุให้ขณะนี้ กว่า 53 ประเทศทั่วโลกกำลังเจอกับปะการังฟอกขาว ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเลย เพราะปะการังเหล่านี้ถือเป็นที่อิงอาศัยให้กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ และคอยมอบความอุดมสมบูรณ์ให้กับประเทศต่าง ๆ แต่ดูเหมือนว่า "The Giverแห่งท้องทะเล" กำลังถูกทะเลเดือดเล่นงานแบบไม่ให้พักยก


"สวัสดีวัน Earth Day ด้วยความร้อน 43 องศา ทะเลร้อนเกิน 32 องศา ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ไม่รักโลกตอนนี้ ก็ไม่เหลือเวลาให้รักแล้วครับ"

นี่คือประโยคสั้น ๆ จาก ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ อ.ธรณ์ ในแบบที่เรารู้จัก แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เวลาที่เช้ามาก ๆ ท้องทะเลก็มิได้เย็นตามความเข้าใจ เราต้องยอมรับและตื่นตัวกันอย่างจริงจังได้แล้ว เพื่อหาวิธี "ทุเลา" ทะเลไทย เพราะสายเกินไปแล้วที่จะกลับไปแก้...


เนื่องในโอกาสวันคุ้มครองโลก (Earth Day) หรือวันที่ 22 เมษายนของทุกปี สปริงนิวส์ถือโอกาสรวบรวมปัญหาโลกเดือดกับทะเลไทยมาให้อ่านกัน เอาแค่เฉพาะปี 2024 ทะเลไทยเจอวิกฤตจากโลกเดือดไปแล้วกี่กระทง


อ่าวไทยร้อนเกิน 32 องศา

ประเดิมด้วยอุณหภูมิน้ำ ขณะนี้โลกเดือด แดดจัด ผนึกกำลังกันทำให้ท้องทะเลอ่าวไทยกลายเป็น "หม้อไฟ" โดยพบว่าตอนนี้อ่าวไทยอุณหภูมิพุ่งทะลุ 32.5 องศาไปแล้ว ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ แม้ในตอนกลางคืน ช่วงที่ไม่มีแดด ต้องแต่แสงพระจันทร์ อุณหภูมิน้ำทะเลอ่าวไทยก็ยังแตะ 32 องศา โดยรวมแล้ว อุณหภูมิอ่าวไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากปีที่แล้วประมาณ 1.5 องศา ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องปกติเอาเสียเลย


เกิดปรากฏการณ์ "หญ้านึ่ง" อันดามันใต้ ตรัง-กระบี่

เบื้องต้น หญ้าทะเลที่อันดามันใต้ จังหวัดตรัง ? กระบี่ (ตอนล่าง) ลากลามไปจนถึงพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสตูล เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "หญ้านึ่ง" นอกจากนี้ น้ำที่ลดต่ำลง ผนวกกับแดดแรงทำให้หญ้าทะเลไหม้และตายไปหมด ส่งผลโดยตรงให้พะยูนในพื้นที่กระจายกันไปหาอาหารในแหล่งอื่น


บางแสน จ.ชลบุรี เกิดแพลงก์ตอนบลูม เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นสีเขียว

จำข่าวทะเลบางแสนสีเขียวกันได้ไหม แม้จะได้รับการยืนยันแล้วว่าไม่เป็นอันตราย และยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ดี แพลงก์ตอนบลูมถือเป็นอีก 1 เหตุการณ์ที่มีต้นตอมาจากโลกเดือด

เพราะเดิมที แพลงก์ตอนบลูมจะเกิดเฉพาะช่วงหน้าฝนเท่านั้น แต่ในยุคโลกเดือด แพลงก์ตอนบลูมโผล่ให้เห็นกันตั้งแต่ต้นปีเลยทีเดียว และในหนึ่งปีมักเกิดแค่ 15 ครั้ง แต่ปีที่ผ่านมาเกิดไปทั้งสิ้น 70 ครั้ง แม้จะไม่เป็นอันตรายต่อคน แต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ


ไข่เต่ามะเฟืองไม่มีเชื้อ และมีเต่าตัวผู้น้อยลง

แม่เต่ามะเฟือง 14 กุมภา จำนวน 120 ฟอง ที่ตั้งไว้ริมชายหาด พบว่าไข่ทุกใบไม่ได้รับการผสม ไม่มีลูกเต่าเกิดแม้แต่ตัวเดียว สิ่งนี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่าง แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้เต่ามะเฟืองตัวผู้หายากขึ้นทุกวัน ๆ

สาเหตุเพราะว่า เพศของเต่าจะขึ้นตรงกับอุณหภูมิในรัง หากโลกร้อนจะเกิดเป็นเต่าเพศเมีย หากอุณหภูมิต่ำจะเป็นเพศผู้ จึงไม่แปลกใจเลยที่เราเหลือเต่าตัวผู้เพียงน้อยนิด


ปะการังเกาะยา จ.ตรัง ฟอกขาวแล้ว 1%

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวด้วยวิธีสุ่มตรวจ และติดเครื่องวัดอุณหภูมิน้ำทะเลที่บริเวณเกาะยา จังหวัดตรัง เบื้องต้นพบว่า ปะการังในบริเวณดังกล่าวเริ่มมีสีซีดเซียว คิดเป็น 1% ของพื้นที่สำรวจ และน้ำทะเลมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 31.8 องศา


เฝ้าระวังปะการังฟอกขาวอ่าวไทย-อันดามัน

เบื้องต้น พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เตรียมรับมือสถานการณ์ปะการังฟอกขาว และเดินหน้าสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ "ภาวะโลกเดือด" ให้กับประชาชน

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือและดำเนินการวางแผนเฝ้าระวังสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม โดยในปีนี้ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดปะการังฟอกขาวเป็นวิกฤตโลก

ที่มา: Thon Thamrongnawasawat


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/849716
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม