ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,439
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


"น้ำท่วมรุนแรง คลื่นความร้อนสูง แล้งยาวนาน ไฟป่าพุ่ง" สภาพอากาศสุดขั้วที่โลกกำลังเผชิญ ............. โดย มาร์ก พอยน์ทิง และ เอสมี สตอลลาร์ด บีบีซีนิวส์ แผนกข่าวภูมิอากาศและวิทยาศาสตร์


ที่มาของภาพ,REUTERS

การศึกษาใหม่ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เผชิญกับฝนที่หนักและถี่ขึ้น และนี่คือ 4 สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ที่ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)


1.ฝนตกหนักสุดขั้ว น้ำท่วมรุนแรง

สำหรับทุก ๆ 1 องศาเซลเซียสที่อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ชั้นบรรยากาศจะสามารถเก็บกักความชื้นได้เพิ่มขึ้นประมาณ 7%

สิ่งนี้อาจส่งผลให้เกิดละอองน้ำฝนมากขึ้นและฝนตกหนักขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นลงและในพื้นที่ที่แคบลง

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า สภาพอากาศสุดขั้วแต่ละเหตุการณ์ สามารถเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ โดยพิจารณาจากสาเหตุตามธรรมชาติและสาเหตุจากมนุษย์

กรณีฝนตกหนักที่นครดูไบและประเทศโอมาน ในเดือน เม.ย. 2024 เป็นเรื่องยากที่จะสรุปได้อย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทมากน้อยเพียงใด เนื่องจากฝนตกหนักในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นได้ยาก ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อเปรียบเทียบน้อยลง

แต่กลุ่มวิเคราะห์สภาพอากาศโลก (WWA) ชี้ว่า ปริมาณฝนประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะหนักขึ้น 10-40% และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน่าจะเป็นคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุด

ในเดือนเดียวกันนั้น ยังพบเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในบางพื้นที่ของแอฟริกาตะวันออกด้วย

แม้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทอย่างไรในเหตุการณ์นั้น แต่ WWA พบว่า สถานการณ์ฝนตกหนักในภูมิภาคเดียวกันช่วงเดือน ต.ค. และ พ.ย. 2023 นั้นเลวร้ายลง เนื่องจากการผสมผสานกันระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศธรรมชาติที่เรียกว่า "ปรากฏการณ์ไอโอดี (Indian Ocean Dipole-IOD)? ซึ่งเป็นการสลับขั้วของน้ำอุ่นและน้ำเย็นในมหาสมุทรอินเดีย

นอกจากนี้ ยังพบว่าเมื่อ ก.ย. 2023 น้ำท่วมรุนแรงสร้างความสูญเสียต่อชีวิตประชาชนทางตอนเหนือของประเทศลิเบีย

ฝนที่ตกลงมานี้ มีโอกาสเกิดขึ้นเพิ่มสูงถึง 50 เท่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มั่นคงหลายปีติดต่อกัน กำลังส่งผลกระทบต่อการเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์เช่นนี้

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ขององค์การสหประชาชาติ รายงานว่า สถานการณ์ฝนตกหนักเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่บกส่วนใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ ทาง IPCC ยังระบุด้วยว่า รูปแบบนี้จะยังคงดำเนินต่อไป หากอุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น


2.คลื่นความร้อนสูงขึ้น และยาวนานกว่าเดิม

แม้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพอากาศร้อนสุดขั้ว

การกระจายตัวของอุณหภูมิประจำวันจะเปลี่ยนไปทางที่อุ่นขึ้น ทำให้มีแนวโน้มว่าจะเกิดวันที่มีสภาพอากาศร้อนจัดบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น

เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2024 คลื่นความร้อนรุนแรงพัดผ่านภูมิภาคซาเฮลของแอฟริกา ส่งผลให้สาธารณรัฐมาลีมีอุณหภูมิสูงถึง 48.5 องศาเซลเซียส สถานการณ์นี้เชื่อมโยงกับจำนวนผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น

WWA พบว่า อุณหภูมิระดับนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ และมันกำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเมื่อโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง

ในสหราชอาณาจักร พบว่า เดือน ก.ค. 2022 อุณหภูมิพุ่งสูงแตะ 40 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรกเท่าที่เคยมีการบันทึกข้อมูล ซึ่งต่อมาพบว่าสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ โดย WWA ระบุว่า เหตุการณ์เช่นนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า คลื่นความร้อนคงอยู่นานขึ้นในหลายพื้นที่ รวมถึงสหราชอาณาจักรด้วย

สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นจากโดมความร้อนซึ่งเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศสูง ส่งผลให้อากาศร้อนถูกกดลงมาและติดอยู่ในบริเวณนั้น ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นในพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น เมืองต่าง ๆ

มีทฤษฎีหนึ่งชี้ว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นในแถบอาร์กติก ซึ่งร้อนขึ้นเกือบสี่เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก กำลังส่งผลให้กระแสลมกรด (jet stream) ซึ่งเป็นลมแรงที่พัดอยู่บนชั้นบรรยากาศไหลช้าลง ส่งผลต่อการเกิดโดมความร้อนได้ง่ายขึ้น


3. ความแห้งแล้งที่ยาวนานขึ้น

การเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับภัยแล้งแต่ละครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ยาก

ปริมาณน้ำที่เรามีใช้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เพียงอุณหภูมิและฝนเท่านั้น และระบบสภาพอากาศตามธรรมชาติก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน โดยกรณีภัยแล้งในแอฟริกาใต้ช่วงต้นปี 2024 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง

แต่คลื่นความร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถทำให้ภัยแล้งเลวร้ายลงได้ เนื่องจากความร้อนทำให้ดินแห้งเร็วขึ้น ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศด้านบนร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่ความร้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้น

ในช่วงที่มีอากาศร้อน ความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากภาคเกษตรกรรม ยิ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่มีอยู่

บางพื้นที่ในแอฟริกาตะวันออกเผชิญกับฤดูฝนที่แล้งต่อเนื่องถึง 5 ฤดูกาลต่อเนื่องกันในช่วงปี 2020 และ 2022 ส่งผลให้ภูมิภาคนี้ประสบกับภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 40 ปี ภัยแล้งดังกล่าวทำให้ประชาชนกว่า 1.2 ล้านคนในโซมาเลียต้องย้ายถิ่นฐาน

กลุ่มวิเคราะห์สภาพอากาศโลก ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ภัยแล้งลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 100 เท่า

นอกจากนี้ยังพบว่าเบื้องหลังภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบอย่างน้อย 50 ปีของป่าฝนแอมะซอนช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ยังเกิดจากภาวะโลกร้อนซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ด้วย


4. การเพิ่มขึ้นของชนวนไฟป่า

ไฟป่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในหลายพื้นที่ของโลก การชี้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุหรือทำให้ไฟป่าครั้งใดรุนแรงขึ้นนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน

แต่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้สภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการแพร่กระจายของไฟป่ามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น

ความร้อนที่รุนแรงยาวนาน จะดึงความชื้นออกจากดินและพืชมากขึ้น ต่อมาพบว่าสภาพแห้งกรังเหล่านี้ จะเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดไฟป่าซึ่งสามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีลมแรง

อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังอาจเพิ่มโอกาสเกิดฟ้าผ่าในป่าทางเหนือสุดของโลก อันส่งผลให้เกิดไฟป่าได้อีกด้วย

แคนาดาประสบกับฤดูไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2023 โดยมีพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้ไปประมาณ 18 ล้านเฮกเตอร์ หรือ 113 ล้านไร่

กลุ่มวิเคราะห์สภาพอากาศโลก ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเอื้อให้เกิด "สภาพอากาศที่เหมาะสมให้เกิดไฟไหม้รุนแรง" เป็น 2 เท่า ในพื้นที่ทางตะวันออกของแคนาดา ซึ่งช่วยให้ไฟป่าลุกลามเป็นวงกว้างด้วย

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) คาดการณ์ว่า สภาวะไฟป่ารุนแรงสุดขั้วจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลกในอนาคต เนื่องจากผลกระทบร่วมกันของการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทาง UNEP ยังประเมินด้วยว่า จำนวนไฟป่าที่รุนแรงที่สุดอาจเพิ่มขึ้นสูงถึง 50% ภายในปี 2100


https://www.bbc.com/thai/articles/c3g9j6dy6keo

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม