ดูแบบคำตอบเดียว
  #23  
เก่า 24-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


สภาพอากาศแปรปรวน!!สัญญาณวิกฤติ“สิ่งมีชีวิต”



หลายวันที่ผ่านมาสภาพอากาศบ้านเราเกิดความแปรปรวน มีฝนตกหนัก ทำให้อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว สร้างความเย็นสบายให้ประชาชนทั่วกรุงเทพฯ แต่หนาวจัดสำหรับผู้คนในต่างจังหวัด ซึ่งการที่อากาศเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลานี้หลายคนยังคงตื่นตระหนกว่า สาเหตุเกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ และการระเบิดของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นหรือเปล่า รวมทั้งจะมีผลกระทบรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกของเราได้หรือไม่ อย่างไร...?!?

ต่อข้อซักถามข้างต้น ต่อศักดิ์ วานิชขจร อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้บอกเล่าไขความกระจ่างว่า จากการที่สภาพอากาศในประเทศไทยเกิดความแปรปรวน มีฝนตก และมีอากาศเย็นลงนั้น สาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของลักษณะอากาศทางธรรมชาติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น หรือเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ หรือมีการระเบิดของนิวเคลียร์แต่อย่างใด

โดยสภาพอากาศหนาวเย็นที่เกิดขึ้นในระลอกแรกที่ผ่านมามีตัวแปร 2 ตัวที่เกี่ยวข้องกันคือ คลื่นกระแสอากาศทางตะวันตกได้พัดเอาความชื้นจากทะเลอันดามันและเอาความเย็นจากภูเขาหิมาลัยมาสมทบกับมวลอากาศเย็นของประเทศจีนแผ่ตัวลงมาถึงประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิปรับลดลงอย่างรวดเร็วประมาณ 7-8 องศา ส่งผลให้ทั่วทั้งประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะทางภาคเหนือและยังคงมีอากาศหนาวเย็นอีกระลอกหนึ่ง แต่ไม่หนาวเย็นเท่าระลอกแรก เพราะมีตัวการเดียวคือ มวลอากาศเย็นในประเทศจีนแผ่ตัวลงมา ทำให้สภาพอากาศไม่หนาวเท่ากับครั้งแรก ซึ่งการที่มวลอากาศเย็นที่ประเทศจีนเป็นรอบปกติอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันในอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรงอีกครั้งหนึ่งเช่นกัน เรือเล็กควรงดการเดินเรือ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเคยเกิดสภาพอากาศแบบนี้มาแล้ว แต่ไม่ได้มีทุกปี หลายๆปีจะมีสักครั้งหนึ่ง อาจถือว่าเป็นความผิดปกติในรอบฤดูกาลของอากาศก็ได้ เพราะเป็นการเคลื่อนตัวของสภาพลมฟ้าอากาศโดยมีสภาพแวดล้อมต่างๆเป็นปัจจัยร่วมด้วย

เมื่อสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วฉับพลันเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อ สิ่งมีชีวิตตามมาอย่างแน่นอนไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ซึ่งหากเตรียมสภาพร่างกายไม่พร้อมอาจเจ็บไข้ได้ป่วยถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อยร่างกายอ่อนแอ จึงมีข่าวการเสียชีวิตเพราะอากาศหนาวให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง สำหรับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น พืชพรรณ ต้นไม้และสัตว์นั้นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดย รศ.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า สภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างฉับพลันเป็นเหตุการณ์ที่ถือว่าไม่ปกติ โดยเกิดจากการที่มวลอากาศหนาวทางเหนือของทวีปเอเชียขยับเข้ามาทางใต้ชนกับมวลอากาศที่ร้อนกว่าทำให้ฝนตกอากาศเย็นลงบวกเข้ากับความเย็นของอากาศจากทางเหนือของทวีปทำให้อากาศหนาวเย็น

สภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนเริ่มมีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากอากาศ เปลี่ยนหรือแม้กระทั่งสัตว์ เช่น กระรอก หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไปเริ่มไม่ออกหาอาหารกินถึงแม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีขนอยู่รอบตัวสามารถเก็บกักความร้อน เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในระดับที่ทำให้อวัยวะและการทำงานของเซลล์ต่างๆ สามารถดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก็ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างฉับพลันในระดับหนึ่งซึ่งไม่ถึงกับรุนแรงจนเสียชีวิต

ในขณะที่ทางตอนเหนือของประเทศ ไทยความหนาวเย็นได้มีผลกระทบทำให้นกในธรรมชาติอย่างน้อย 2 ชนิดเสียชีวิต คือ นกนางแอ่นตะโพกแดงและนกนางแอ่นพง ซึ่งความจริงนกทั้ง 2 ชนิดถึงแม้ว่าจะเป็นนกนางแอ่นเหมือนกันแต่ในทางชีววิทยาถือว่าเป็นนกที่ไม่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน นกทั้งสองชนิดมีลักษณะร่วมกันก็คือ มีขนาดเล็กทำให้พื้นที่ผิวต่อมวลมีค่าสูง สูญเสียความร้อนได้ง่าย ต้องกินอาหารจำนวนมากเพื่อจะรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นทำให้ระบบต่างๆของร่างกายทุกระดับสามารถทำงานได้ ดังนั้นนกทั้ง 2 ชนิดจึงมีปัญหาร่วมกันคือสามารถเสียความร้อนได้เร็ว แต่ถ้าได้หาอาหารซึ่งเป็นแมลงมาเปลี่ยนเป็นความร้อนรักษาร่างกายไว้ได้ก็จะไม่มีปัญหา แต่อากาศเย็นอย่างฉับพลันเช่นนี้ทำให้แมลงตายไปเป็นจำนวนมากซึ่งหมายถึงอาหารของพวกมันก็ลดลงหายไปด้วย การจะจับกินแมลงให้เพียงพอเพื่อมาผ่านขบวนการเผาผลาญในร่างกายจึงมีปัญหามาก จนไม่เพียงพอและกระทบต่อชีวิตของพวกมันในที่สุด

นอกจากบรรดานกแล้ว กลุ่มสัตว์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจนถึงตายได้ก็คือ สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีขนมากนัก อย่างเช่น วัว เป็นต้น โดยวัวของไทยนอกจากไม่มีขนแล้วยังไม่ค่อยสะสมไขมันใต้ผิวหนังอีกด้วย อากาศที่หนาวลงทำให้พวกมันสูญเสียความร้อนจากร่างกายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายจนในที่สุดสามารถตายได้ ยิ่งเป็นสัตว์เลี้ยงด้วยแล้วยิ่งอ่อนแอ และหากยังมีอายุน้อยก็ยิ่งได้รับผลกระทบมาก การแก้ไขนอกจากทำให้พวกมันอบอุ่น เช่น การผิงไฟและให้อาหารก็อาจจะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามเมื่อสภาพอากาศกลับสู่สภาพปกติแล้วเราจะเห็นว่าไม่มีการปรากฏ การตายของพืชพรรณและต้นไม้เนื่องจากสรีรวิทยาของต้นไม้ไม่ไวต่อการเปลี่ยน แปลงของภูมิอากาศอย่างเช่นในสัตว์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต้องยาวนานกว่านี้จึงกระทบต่อการอยู่รอดของพืชได้ และถ้าอากาศเปลี่ยนแปลงนานกว่า เช่น หนาวเย็นยาวนานกว่านี้แน่นอนสัตว์ต่างๆจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก ส่วนพืชอาจจะได้รับผลกระทบเนื่องจากเมื่อหนาวมาก ทำให้น้ำน้อยลงจะไม่สามารถอยู่รอดได้ และถ้ามีลมแรงด้วยก็จะพัดพาทำให้ต้นไม้ตายได้

โดยต้นไม้บางชนิดเท่านั้นที่สามารถอยู่รอดได้ เช่น ต้นสนชนิดต่างๆ ดังจะเห็นได้จากผลการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในยุคน้ำแข็งสุดท้ายของโลกเมื่อหมื่นกว่าปีที่ผ่านมาทำให้มีการกระจายของสนสองใบและสนสามใบเข้ามาในประเทศไทยและยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่หลายๆแห่งรวมทั้งในภาคอีสาน เพราะเมื่อแพร่กระจายเข้ามาแล้วในที่สุดก็สามารถปรับตัวอยู่รอดถึงแม้ว่าอากาศจะอบอุ่นและร้อนขึ้นเรื่อยๆก็ตาม ดังนั้นจึงถือว่าโชคดีที่การเปลี่ยนแปลงของอากาศในช่วงที่ผ่านมาเป็นแค่ช่วงสั้นๆ มีผลกระทบต่อสัตว์อยู่บ้าง แต่ไม่ผลกระทบต่อพืชและระบบนิเวศทั่วไป ทำให้มีพืชพรรณดำรงอยู่เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถคาดเดาสภาพการเคลื่อนตัวของมวล ลม ฟ้า อากาศได้ อาจจะต้องประสบกับสภาพอากาศแปรปรวนได้ทุกเมื่อ แต่หากเรารู้จักติดตามข่าวสารรอบๆตัวและเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก็จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย รวมทั้งดูแลพืชพรรณและสัตว์ต่าง ๆ ด้วยเพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่จะต้องพึ่งพากันต่อไปในอนาคต.


“นอกจากบรรดานกแล้ว กลุ่มสัตว์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจนถึงตายได้ ก็คือ สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีขนมากนัก อย่างเช่น วัว เป็นต้น โดยวัวของไทยนอกจากไม่มีขนแล้วยังไม่ค่อยสะสมไขมันใต้ผิวหนังอีกด้วย อากาศที่หนาวลงจะทำให้วัวสูญเสียความร้อนจากร่างกายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายจนในที่สุดสามารถตายได้”


ความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินไหวกับสภาพอากาศเปลี่ยน

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดิน ไหวที่ประเทศญี่ปุ่นและเกิดคลื่นยักษ์สึนามิหรือการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดย รศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า การเกิดแผ่นดินไหวนั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงใต้พื้นดิน เกี่ยวข้องกับการปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ เนื่องจากพลวัตใต้พื้นโลก ส่วนสภาพอากาศเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่อยู่เหนือโลก น้ำในทะเล น้ำแข็งขั้วโลก ความแห้งแล้งอื่นๆ ดังนั้นทั้งสองอย่างจึงไม่มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ซึ่งแผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาลไม่ว่าจะฤดูร้อน ฤดูหนาว หรือฤดูอื่นๆ ทำนองเดียวกัน สภาพอากาศเองก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเช่นกัน.




จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 24 มีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม