ดูแบบคำตอบเดียว
  #20  
เก่า 20-03-2011
แมลงปอ แมลงปอ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 698
Default

เดลินิวส์


เช็กระดับความรุนแรง อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์



เหตุการณ์สึนามิล่าสุดในญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สร้างความหวาดผวาให้กับประชาชน จ.ฟูกูชิมา และในกรุงโตเกียว ชาวญี่ปุ่นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ทั้งการอพยพออกจากพื้นที่ในรัศมี 20 กม. ควรพักอาศัยอยู่ในบ้านปิดอย่างมิดชิด เพื่อความปลอดภัย หลังจากพบว่าระดับของสารกัมมันตรังสีจากเตาปฏิกรณ์ไม่คงที่ บางขณะพุ่งไปจนถึงระดับอันตราย จากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิชิ ของบริษัทโตเกียว อิเล็คทริค พาวเวอร์ (เทปโก้) ที่เกิดอย่างต่อเนื่อง 3 เตา จากจำนวน 6 เตา

จากข้อมูลของเว็บไซต์สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่าแม้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะได้รับการออกแบบให้มีความปลอดภัยสูงแต่อาจเกิดเหตุขัดข้องตามปกติเหมือนที่เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้าทั่วไปได้ โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ใช่ตัวเครื่องปฏิกรณ์ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความบกพร่องของอุปกรณ์ การเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน หรือความประมาทเลินเล่อของผู้ปฏิบัติงาน เช่น ไอน้ำรั่ว ท่อน้ำแตก ไฟฟ้าลัดวงจร หรือหม้อแปลงระเบิด อย่างไรก็ตามเมื่อมีเหตุเกิดในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประชาชนทั่วไปจะมีความเข้าใจว่าเป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ เพื่อป้องกันการสับสน สำนักงานพลังการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ร่วมกับองค์กร Nuclear Energy Agency /Organization for Economic Cooperation and Development (NEA/OECD) จึงได้เริ่มทดลองกำหนดมาตรการสำหรับใช้รายงานอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นเมื่อปี 2533 ทำนองเดียวกับมาตราริคเตอร์ (Richter) ที่ใช้รายงานแผ่นดินไหว เรียกว่า มาตราอินเนส (The International Nuclear Event Scale, INNES) ซึ่งกำหนดเป็นสถานการณ์ 7 ระดับ โดยระดับที่ 1-3 เป็นระดับแจ้งเหตุขัดข้อง ซึ่งอาจขึ้นในการปฏิบัติงานปกติ ส่วนระดับที่ 4-7 เป็นระดับอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ระดับที่ 1 เหตุผิดปกติ (Anomaly) การทำงานของอุปกรณ์ผิดปกติหรือเกิดความบกพร่องในการปฏิบัติงาน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายทางรังสีแต่แสดงให้เห็นว่าการเตรียมการด้านความปลอดภัยยังไม่สมบูรณ์ ระดับที่ 2 เหตุขัดข้อง (Incident) เหตุขัดข้องทางเทคนิค หรือเหตุผิดปกติ ซึ่งแม้จะยังไม่มีผลต่อความปลอดภัยของสถานปฏิบัติงาน แต่มีผลให้ต้องปรับปรุงเกณฑ์ความปลอดภัย ระดับ 3 เหตุขัดข้องรุนแรง (Serious Incident) เหตุขัดข้องที่ทำให้เกิดมีการแพร่กระจายของสารรังสีออกสู่ภายนอกสถานปฏิบัติงานเกินค่าที่กำหนด ทำให้บุคคลภายนอกได้รับปริมาณรังสีในขนาดหนึ่งในสิบของมิลลิซีเวิร์ต (มิลลิซีเวิร์ต คือหน่วยย่อยของหน่วยวัดปริมาณรังสีที่ร่างกายได้รับ) ระดับ 4 อุบัติเหตุเฉพาะภายในบริเวณ (Accident Mainly in Installation) การเกิดอุบัติเหตุเหนือความคาดหมาย แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดความเสียหายบางส่วนยังผลให้สารรังสีรั่วไหลออกสู่สภาวะแวดล้อม ทำให้บุคคลภายนอกได้รับรังสีทั่วร่างกาย 2-3 มิลลิซีเวิร์ต ยังไม่จำเป็นต้องมีการใช้แผนฉุกเฉินทางรังสีแต่อาจมีการควบคุมปริมาณรังสีในผลิตภัณฑ์อาหารในบริเวณใกล้เคียง ผู้ปฏิบัติงานได้รับผล กระทบทางรังสีอย่างรุนแรง (ประมาณ 1 ซีเวิร์ต) ซึ่งเหตุการณ์ล่าสุดที่ญี่ปุ่นในขณะนี้ จัดอยู่ในระดับ 4

ระดับ 5 อุบัติเหตุที่เกิดอันตรายถึงภายนอก (Accident With Off Site Risks ) เกิดอุบัติเหตุที่เกิดความเสียหายต่อแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์จากการแตกหัก หรือหลอมละลาย ผลของอุบัติเหตุทำให้มีการปลดปล่อยสารรังสีเทียบเท่า 100-1,000 เทราเบคเคอเรล (เบคเคอเรล คือหน่วยวัดความแรงรังสีของสารรังสีที่มีอัตราการสลายตัว 1 ครั้งใน 1 วินาที 1 เทราเบคเคอเรล=10 เบคเคอเรล ) ของไอโอดีน-131 กระทั่ง จำเป็นต้องใช้แผนฉุกเฉินทางรังสี ระดับ 6 อุบัติเหตุรุนแรง (Serious Accident) อุบัติเหตุที่เกิดความเสียหายต่อแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างรุนแรงจากผลของอุบัติเหตุทำให้มีการปลดปล่อยสารรังสีออกมาในระดับเทียบเท่ากับ 1,000-10,000 เทราเบคเคอเรลของไอโอดีน-131 จำเป็นต้องใช้แผนฉุกเฉินทางรังสีและแผนป้องกันสาธารณภัยในบริเวณใกล้เคียงเต็มอัตรา ระดับ 7 อุบัติเหตุรุนแรงที่สุด (Major Accident ) อุบัติเหตุที่เกิดความเสียหายต่อแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างรุนแรงมากทำให้มีการปลดปล่อยสารรังสีในระดับที่มากกว่า 10,000 เทราเบคเคอเรล ของไอโอดีน-131 หรืออุบัติเหตุที่มีอันตรายทางรังสีอย่างรุนแรงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวและเป็นบริเวณกว้างติดต่อกับประเทศอื่น ๆ จำเป็นต้องใช้แผนฉุกเฉินทางรังสีและแผนป้องกันสาธารณภัยเต็มอัตรา

ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงอุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ว่า ในส่วนของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ยังอยู่ ดีเชื้อเพลิงที่มีสารกัมมันตรังสีใช้ในการต้มน้ำยังปกติอยู่ใต้ดินไม่สามารถก่อให้เกิดการระเบิดของแท่งเชื้อเพลิง แต่แรงดันน้ำที่อยู่ในอาคารคลุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้นมีความดันมากเกินไป เพราะหลักการทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นคือการต้มน้ำแล้วใช้ไอน้ำมาปั่นไฟฟ้า แต่เกิดปัญหาเครื่องทำความเย็นไม่ทำงานเพราะไม่มีไฟฟ้า แรงดันมีความร้อนเกินไปจึงต้องเปิดเพื่อให้แรงดันไอน้ำออกมาป้องกันการเกิดการระเบิด เท่ากับปล่อยน้ำหรือไฮโดรเจนออกมา ซึ่งมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี แต่มีปริมาณไม่มาก ขนาดที่ออกมาเจือจางมาก ไม่ส่งผลต่อร่างกายอย่างเฉียบพลัน แต่สิ่งที่น่าห่วงคือคนที่อยู่ใกล้ในรัศมี เพื่อความปลอดภัยต้องอพยพผู้คนมาให้ห่างออกมา 20 เมตรเมื่อมีการปล่อยแรงดันน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีออกมา รวมทั้งกรณีใช้น้ำทะเลมาดับความร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง แต่ ณ เวลานี้ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกวิธีนี้จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

นับตั้งแต่มีการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 2495 มีเหตุการณ์ที่จัดเป็นอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จริง ๆ เพียง 9 ครั้ง และเหตุการณ์ที่จัดเป็นเหตุขัดข้องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 13 ครั้ง ครั้งร้ายแรงสุดเกิดขึ้นในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในประเทศยูเครน ปี 2529 เกิดเพลิงไหม้หลังจากการระเบิดของไอน้ำ มีจำนวนผู้เสียชีวิต 31 คน ต้องอพยพประชาชนในรัศมี 30 กม.และสารกัมมันตรังสีแพร่กระจายไปทั่วยุโรป.

รู้ทันนิวเคลียร์

ในระยะที่ผู้คนยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับนิวเคลียร์ เว็บไซต์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้รวบรวมคำถามที่ถูกถามบ่อยของประชาชนที่สงสัยไว้

ถาม : ลูกเรือและกัปตันเครื่องบินบนเครื่องบินที่จะบินผ่านน่านฟ้าในบริเวณที่เกิดเหตุจะปลอดภัยหรือไม่ ต้องมีการป้องกันอย่างไร

ตอบ : ปัจจุบันสายการบินถูกสั่งห้ามบินผ่านพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับปริมาณรังสีสูง เช่นในบริเวณฟุกุชิมา ในกรณีที่บินผ่านสนามบินนาริตะ ที่กรุงโตเกียว เชื่อว่าถ้าได้รับรังสีจากภายนอกร่างกายจะอยู่ในระดับต่ำมาก จึงไม่มีผลกระทบใด ๆ

ถาม : ลำตัวเครื่องบิน จะมีการเปรอะเปื้อนเป็นอันตรายหรือไม่

ตอบ : การเปรอะเปื้อนหากมี น่าจะอยู่ในปริมาณต่ำ ด้วยเหตุพื้นผิวเครื่องบินเรียบ วัสดุกัมมันตรังสีจะฝังตัวเกาะติดน้อย อีกทั้งความเร็วของเครื่องบินจะทำให้ฝุ่นผงปลิวหายไป หากกังวลสามารถใช้ทิซชูชุบน้ำหรือแอลกอฮอล์แล้วส่งมาให้สำนักงานปรมาณูฯ ตรวจสอบ

ถาม : ฝนที่ตกในเมืองไทยจะมีผลหรือไม่

ตอบ : ฝนตกที่เมืองไทยไม่มีผลโดยสิ้นเชิง แต่ฝนตกที่เกิดเหตุจะเป็นผลดีช่วยลดการฟุ้งกระจายของวัสดุกัมมันตรังสี น้ำฝนจะช่วยชะล้างวัสุดกัมมันตรังสีจากอากาศลงสู่น้ำและดิน

ถาม : ระดับรังสีที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกายมีกี่ระดับ และมีผลอย่างไรบ้าง

ตอบ : ปริมาณรังสี 0-250 มิลลิซีเวิร์ต ไม่ปรากฏอาการ ปริมาณรังสี 250-500 มิลลิซีเวิร์ต เม็ดโลหิตลดลงชั่วคราว ปริมาณรังสี 500-1,000 มิลลิซีเวิร์ต คลื่นไส้ อ่อนเพลีย จำนวนเม็ดเลือดเปลี่ยนแปลง ปริมาณรังสี 2,000 มิลลิซีเวิร์ต คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บป่วยผมร่วง ปริมาณ รังสี 4,000 มิลลิซีเวิร์ต โอกาสเสียชีวิต 50% ปริมาณรังสี 6,000 มิลลิซีเวิร์ต โอกาสเสียชีวิต 80-100%


ญี่ปุ่นฉีดน้ำเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต่อ



ญี่ปุ่นฉีดพ่นน้ำทำความเย็นให้เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมาต่อในเช้านี้ หลังเว้นช่วงไปเมื่อคืนที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นสานต่อการฉีดพ่นน้ำ ทำความเย็นให้เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมา ที่ประสบปัญหาในเช้าวันนี้ หลังเว้นช่วงไปหลายชั่วโมงเมื่อคืนที่ผ่านมา ในความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความหายนะจากนิวเคลียร์ โดยรถดับเพลิงของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น เริ่มฉีดน้ำทำความเย็นให้เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (7.00 น. ตามเวลาในไทย) ขณะที่หน่วยดับเพลิงกรุงโตเกียว ซึ่งฉีดพ่นน้ำใส่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ติดต่อกัน 13 ชั่วโมง และหยุดพักเมื่อเวลา 3.40 น. (1.40 น. ในไทย) เตรียมจะฉีดน้ำต่อเช่นกันในวันนี้

นายคาสึยะ คูวาสึกะ โฆษกสำนักงานดับเพลิงโตเกียว กล่าวว่า รถดับเพลิง 3 คันฉีดพ่นน้ำแรงดันสูงประมาณ 2,000 ตันเมื่อวานนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิง 50 คน ติดตั้งอุปกรณ์ลดการสัมผัสกัมมันตภาพรังสีระดับสูงของมนุษย์ และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าดับเพลิง ที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการรายใด สัมผัสกับกัมมันตภาพรังสีระดับสูงเกินปกติในเหตุการณ์นี้.


ญี่ปุ่นตัวเลขตาย-สูญหายใกล้2หมื่น


ญี่ปุ่นตัวเลขตาย-สูญหายใกล้2หมื่น ความหวังที่จะพบผู้รอดชีวิตหมดสิ้นลงแล้ว หลังหิมะตก

วันนี้(20มี.ค.)สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น แถลงว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตหรือสูญหาย ล่าสุดเมื่อเวลา 23.00 น. คืนวันเสาร์ (21.00 น. ตามเวลาในไทย) เพิ่มขึ้นเกือบถึง 20,000 รายแล้ว โดยผู้เสียชีวิตเท่าที่ได้รับการยืนยัน 7,653 ศพ ส่วนผู้สูญหายที่ขึ้นบัญชีอย่างเป็นทางการมี 11,746 ราย รวมเป็น 19,399 ราย และความหวังที่จะพบผู้รอดชีวิต หลงเหลืออยู่ตามใต้ซากปรักหักพัง หมดสิ้นลงแล้ว หลังจากคลื่นความหนาวฉับพลัน ทำให้มีหิมะแผ่ปกคลุมพื้นที่ ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์.





แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย แมลงปอ : 20-03-2011 เมื่อ 11:26
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม