ดูแบบคำตอบเดียว
  #15  
เก่า 09-08-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


สัญญาณเตือนภัย.. 'ปาย' วันเดียว "ดินไหว" 30 ครั้ง


เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ชาวบ้านใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน หลายกลุ่มถกเถียงกันในหัวข้อที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากหลายคนรู้สึกเหมือนมีใครมาเขย่าตัวเป็นระยะๆ ตั้งแต่บ่ายจนถึงเย็น เมื่อหันไปมองรอบๆ ก็ไม่เห็นอะไรผิดปกติ เล่าให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงฟังกลับถูกมองว่า เป็นพวกละเมอกลางวัน เมาค้าง คิดมาก เพ้อเจ้อ ฯลฯ ความจริงแล้ววันนั้นอาจเป็นบันทึกใหม่ของสถิติ "แผ่นดินไหว" สำหรับชาวปายเลยทีเดียว ?!!

เริ่มตั้งแต่ตี 5 กับ 27 นาที 28 วินาที เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.6 ริกเตอร์ ที่ประเทศพม่า บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ วัดระยะห่างจากไทยได้ 115 กิโลเมตร ผ่านไปราว 10 ชั่วโมง กรมอุตุนิยมวิทยาได้รับรายงานเกิดแผ่นดินไหวที่ภาคเหนือของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ อ.ปาย แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ตั้งแต่เวลา 15.43-21.50 น. มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดมากถึง 14 ครั้งด้วยกัน ขนาดตั้งแต่ 2.0-3.2 ริกเตอร์ ช่วง 6 โมงเย็นเป็นต้นไป

เวลา 18.07 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.1 ริกเตอร์ พอถึงเวลา 18.35 น. ความรุนแรงเพิ่มเป็น 3.0 ริกเตอร์ เวลา 18.45 น. วัดได้ 2.2 ริกเตอร์ จากนั้นเวลา 19.17 น. เพิ่มเป็น 2.5 ริกเตอร์ ผ่านไปอีก 22 นาที เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.0 ริกเตอร์ จนล่วงเข้าเช้าตรู่ของอีกวันก็ยังวัดระดับแผ่นดินไหวได้อีก ฯลฯ

วันถัดมา "อดิศร ฟุ้งขจร" ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงใหม่ อธิบายให้สื่อมวลชนฟังว่า แผ่นดินไหวที่ภาคเหนือเกิดขึ้นถี่ในระยะนี้ คาดว่าเป็นการปลดปล่อยพลังของรอยเลื่อนกลุ่มแผ่นดินไหว ในเชิงเทคนิคถือเป็นลักษณะที่สื่อถึงพฤติกรรมของรอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าจับตา เพราะยังไม่รู้ว่ากลุ่มแผ่นดินไหวจะเลื่อนเข้าสู่ภาคเหนือของไทยหรือไม่ แต่ยอมรับว่ามีโอกาส แม้จะไม่สามารถคาดเดาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

โดยภาคเหนือตอนบนมี 14 รอยเลื่อนที่ยังมีพลัง คงต้องเฝ้าจับตาดูทั้ง 14 รอยเลื่อนว่า ทำไมถึงเกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างถี่ในช่วงนี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างหรือไม่ ที่สำคัญรอยเลื่อนในกลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงกับรอยเลื่อนที่เกิดแผ่นดินไหวในพม่า ลาว และจีนทั้งหมด

"รอยเลื่อนมีพลัง" (active fault) หมายถึง รอยเลื่อนที่จะมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต และต้องมีการเคลื่อนตัวอย่างน้อย 1 ครั้งภายในระยะเวลา 1 หมื่นปี

แต่ที่สร้างความกังวลให้ชาวปายมาก ก็คือ คำพูดส่งท้ายของอดิศรที่เตือนว่า ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในภาคเหนือหรือไม่ หากเตรียมตัวพร้อมไว้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย โดยเฉพาะการตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในตัวบ้าน ที่อาจเป็นอันตรายหากเกิดแผ่นดินไหว ตรวจสอบโครงสร้างอาคารว่ายังแข็งแรงหรือไม่ ที่สำคัญคือควรมีการซ้อมหนีภัยแผ่นดินไหว เพราะถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จริงจะได้หนีทัน

"รพีภูมิพัฒน์ เสมอภพ" นักธรณีวิทยา สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลว่า วันที่ 26 กรกฎาคม 2553 เครื่องคอมพิวเตอร์ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแผ่นดินไหวส่งเสียงร้องเตือนตลอดเวลาและแจ้งเหตุแผ่นดินไหวที่ อ.ปาย คาดว่าเฉพาะวันนั้นที่ปายอาจมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นมากกว่า 30 ครั้งด้วยกัน แต่เป็นขนาดเล็กไม่เกิน 3.0 ริกเตอร์ บางคนอาจรู้สึกได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้สึกว่ามีแผ่นดินไหว

"เป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะเท่าที่ศึกษาสถิติย้อนหลังไม่พบบันทึกว่า อ.ปาย เคยเกิดแผ่นดินไหวถี่ขนาดนี้มาก่อน ภายในวันเดียวไหวต่อเนื่องกว่า 30 ครั้ง ตรวจสอบพบว่าศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ ต.ทุ่งยาว อ.ปาย หากดูในแผนที่แล้วแผ่นดินไหวทั้งหมดเกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกัน มีชาวบ้าวโทรแจ้งเหตุเข้ามาหลายราย แต่ยังไม่ได้ประกาศเตือนภัยทางทีวี เพราะเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก" นักธรณีวิทยากล่าว

ด้าน ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าศูนย์วิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า บริเวณภาคเหนือตอนบนมีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่บริเวณ "รอยเลื่อนแม่จัน" กับ "รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน" แต่แผ่นดินไหวที่เกิดใน จ.แม่ฮ่องสอนไม่น่าเป็นห่วงเท่า อ.แม่จัน จ.เชียงราย เพราะมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า เป็นเมืองใหญ่มีชุมชนหนาแน่น สถิติเก่าบันทึกว่ารอยเลื่อนแม่จันเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ส่วน อ.ปาย เคยเกิดสูงสุดประมาณ 5.0 ริกเตอร์

สิ่งที่ต้องระวังคือแม้แผ่นดินไหวจะขนาดไม่ใหญ่ แต่เคยทำให้เกิดดินถล่มสร้างความเสียหายมหาศาลมาแล้ว โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เขตดินถล่ม ประกอบกับช่วงนี้เป็นฤดูฝนด้วย !?!

คำเตือนนี้สร้างความหวาดผวาให้ชาวปายพอสมควร เพราะเคยมีประสบการณ์โดนน้ำท่วมดินถล่มอย่างหนักเมื่อปี 2548 ทั้งดินโคลนและท่อนซุงนับหมื่นท่อนไหลมาตามกระแสน้ำพัดให้เมืองท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองสามหมอกแทบกลายเป็นเมืองร้างภายในค่ำคืนเดียว

ขณะนี้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแม่ฮ่องสอนแจ้งเตือนไปยังทุก อำเภอให้เฝ้าระวังและเตรียมรับมือภาวะน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มช่วงหน้า ฝนนี้ โดยเฉพาะ อ.ปาย ซึ่งเป็น 1 ใน 89 พื้นที่สีแดงของ จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากมีข้อมูลว่าป่าต้นน้ำถูกทำลายไป สิ้นเสียงเตือนภัยได้ไม่กี่ชั่วโมง เวลา 07.30 น. วันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา น้ำป่าก็พัดพาดินโคลนและเศษไม้จากลำห้วยแม่ฮี้เข้าท่วมบ้านเรือนใน ต.แม่ฮี้ อ.ปาย เสียหายไปกว่า 70 หลังคาเรือน


หลายคนสงสัยว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นถี่หลายระลอกใน อ.ปาย ที่ผ่านมาจะทำให้รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนฉีกขยายจากเดิมหรือไม่ ?!!

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) อธิบายว่า การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กไม่มีส่วนทำให้รอยแยกของแผ่นเปลือกโลกขยายออกมากกว่าเดิม เนื่องจากกระบวนการขยับตัวของแผ่นเปลือกโลก หากจะแยกออกจากกันหรือบิดเบี้ยวไปต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ล้านปี

ตามปกติแล้วก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะมีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเตือนก่อน หรือที่เรียกว่า "ฟอร์ช็อก" (Foreshock) และเมื่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่สิ้นสุดลงก็จะมี "อาฟเตอร์ช็อก" (Aftershock) ตามมาอีกหลายระลอก

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ปายยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นฟอร์ช็อกหรืออาฟเตอร์ช็อก เพราะวันนั้นอาจไหวสูงสุดแค่ระดับ 3.0 ริกเตอร์ก็ได้ รศ.ดร.เป็นหนึ่งย้ำว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดวันไหน สิ่งเดียวที่ชาวบ้านทำได้คือระมัดระวังตัว และถ้าเกิดหายนะขึ้นมาก็ต้องอพยพให้เร็วที่สุด



จาก .......... คม ชัด ลึก วันที่ 9 สิงหาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม