ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 25-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,300
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


โลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว! อุณหภูมิโลกเพิ่ม 1 องศา ทำอายุสั้นลง 'ครึ่งปี'



"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ล่าสุดงานวิจัยเปิดเผยว่า เมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเพียง 1 องศา จะทำให้อายุโดยเฉลี่ยของมนุษย์สั้นลงครึ่งปี

โลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว! จากการวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS Climate "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศา ทำให้คนอายุสั้นลงถึงครึ่งปี ถือเป็นอีกหนึ่งผลกระทบร้ายแรงของภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์


อุณหภูมิ และปริมาณน้ำฝน สัมพันธ์กับอายุขัย

อามิท รอย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีชาห์จาลาล ในบังกลาเทศ ทำการศึกษาหาความเชื่อมโยงที่มีความซับซ้อนระหว่างอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และอายุขัยของสิ่งมีชีวิตใน 191 ประเทศในตลอด 80 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 1940-2020 โดยใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว เพื่อควบคุมความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ ทำให้ได้ข้อสรุปใหม่เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และชีวิตมนุษย์

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนา "ดัชนีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชิงประกอบ" ที่รวบรวมข้อมูลอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝน เพื่อให้เห็นภาพของปัญหาได้ละเอียดยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้ง 2 ปัจจัย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับส่งผลต่อสุขภาพ และปัจจัยด้านสาธารณสุขหลายประกาศ อีกทั้งยังเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน รับมือยาก เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วม คลื่นความร้อน ไปจนถึงภัยทางอ้อมแต่ก็สร้างความเสียหายไม่แพ้กัน ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ และปัญหาสุขภาพจิต แม้ว่าผลกระทบเช่นนี้สามารถสังเกตได้ และบันทึกไว้อย่างดี แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีการวิจัยที่สร้างความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับอายุขัยมาก่อน


อุณหภูมิเพิ่ม 1 องศา ทำอายุสั้นลง 'ครึ่งปี'

ผลการศึกษาพบว่า อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียล มีความเชื่อมโยงกับอายุขัยโดยเฉลี่ยของมนุษย์ที่ลดลงประมาณ 0.44 ปี หรือเทียบเท่ากับ 6 เดือน 1 สัปดาห์ สอดคล้องกับดัชนีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชิงประกอบเพิ่มขึ้นถึง 10 จุด ทั้งอุณหภูมิ และปริมาณน้ำฝน ส่งผลให้อายุขัยลดลง 6 เดือนเช่นเดียวกัน

เมื่อพิจารณาเฉพาะปริมาณน้ำฝน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอาจสร้างประโยชน์หรือส่งผลเสียได้ทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ ที่มีฝนตกหนักอยู่แล้วหรือพื้นที่ ที่ประสบภัยแล้ง

ทั้งนี้ อายุคาดเฉลี่ยหมายถึง ระยะเวลาที่มนุษย์อาจมีชีวิตอยู่ได้ โดยพิจารณาจากปัจจัยทางประชากร และส่วนบุคคล ขณะที่อายุขัยคือ อายุเฉลี่ยสูงสุดของประชากรกลุ่มหนึ่งๆ ที่ถูกสังเกตว่ามีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้

การศึกษานี้ยังแสดงให้เห็นว่ากลุ่มเปราะบางต่างๆ เช่น ผู้หญิง และประชากรในประเทศกำลังพัฒนาที่มีระบบการรักษาพยาบาลที่ไม่ดี และมีบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ จะได้รับผลกระทบโดยตรง สิ่งนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาให้ตรงเป้าหมาย และเท่าเทียม โดยให้ความสำคัญกับประชากรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ทั้งนี้ นักวิจัยยังต้องทำการศึกษาที่เจาะลึกถึงผลกระทบของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ไฟป่า สึนามิ ที่มีปัจจัยอื่นๆ ประกอบไม่ได้มีเพียงแค่อุณหภูมิ และปริมาณฝนเพียงเท่านั้น


คนทั้งโลกต้องช่วยกันลดโลกร้อน

ดร. รอย ยังหวังว่าดัชนีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชิงประกอบจะสร้างมาตรฐานการสนทนาระดับโลกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกลายเป็นตัวชี้วัดที่ใช้งานได้สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ พร้อมส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อต่อสู้กับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังเป็นวิธีที่สำคัญลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีที่สุด ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมเชิงรุกเพื่อช่วยให้ชุมชนปรับตัวเข้ากับรูปแบบสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และรับมือกับสถานการณ์ที่คาดการณ์ได้ยากขึ้นให้ครอบคลุมได้มากที่สุด

"ภัยคุกคามระดับโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนหลายพันล้านคน ตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะในวิกฤติด้านสาธารณสุข"

"เราต้องร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างปฏิบัติการเชิงรุก ถือเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องอายุขัยและปกป้องสุขภาพของประชากรทั่วโลก" ดร.รอย กล่าวสรุป


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1109991


******************************************************************************************************


หน้าร้อนปีนี้จะมี "น้ำ"เพียงพอหรือไม่ "เอลนีโญ" ถล่มทำฝนน้อย - แล้งหนัก



หน้าร้อนปีนี้จะมี "น้ำ"เพียงพอหรือไม่ "แอลนีโญ" ถล่มทำฝนน้อย - แล้งหนัก
จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.เมื่อ 16 ม.ค.67) ในหัวข้อเรื่อง รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ ระบุว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)ได้บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และสรุปสถานการณ์น้ำระหว่างวันที่ 9 -15 ม.ค.2567 มีดังนี้

1. สภาพอากาศ และการคาดการณ์ฝนปัจจุบันพบว่าปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรง จะอ่อนลงเป็นเอลนีโญกำลังปานกลาง และอ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนพ.ค.2567 ซึ่งช่วงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมีผลทำให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ (ม.ค. - พ.ค.2567)

สภาพอากาศ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทำให้มีลมตะวันออก และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากทะเลเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน

ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมา จะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งเกิดขึ้นได้ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้มีกำลังแรงขึ้นทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 15-18 ม.ค.2567 จากนั้นในช่วงวันที่ 18-20 ม.ค.2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจะมีกำลังอ่อนลง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง

2. สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ และการคาดการณ์ โดย สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำภาพรวมประเทศ ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 11 ม.ค.2567) มีปริมาณน้ำ 60,337 ล้านลูกบาศก์เมตร (73%) น้อยกว่าปี 2566 จำนวน 4,025 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนมีปริมาณน้ำใช้การ 36,124 ล้านลูกบาศก์เมตร (62%) มีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำกระเสียว และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด

ส่วนการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ต้นฤดูฝน ปี 2567 (วันที่ 1 พ.ค.2567) จะมีปริมาณน้ำ 19,661 ล้านลูกบาศก์เมตร (47%) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 17,787 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่า 1,874 ล้านลูกบาศก์เมตร

ต้นฤดูแล้ง ปี 2567/68 (วันที่ 1 พ.ย.2567) จะมีปริมาณน้ำ 32,835 ล้านลูกบาศก์เมตร(69%) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 32,849 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่า 14 ล้านลูกบาศก์เมตร

3. พื้นที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม ในช่วงวันที่ 9-15 ม.ค.2567 ไม่พบพื้นที่แจ้งอพยพน้ำหลากดินถล่ม

ด้านพื้นที่เกิดอุทกภัย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

4. การลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ในช่วงวันที่ 8-12 ม.ค.2567 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ มุกดาหาร อุบลราชธานี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ศักยภาพการผลิตน้ำประปาต่ำกว่ามาตรฐาน และขาดการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ จึงได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นโดยการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือ เช่น การจัดหาน้ำอุปโภคบริโภค การสูบน้ำระยะไกลเพื่อนำน้ำมาเก็บในแหล่งน้ำชุมชน การสำรวจศักยภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ การอบรม และให้ความรู้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบำรุงรักษาระบบผลิตประปาหมู่บ้าน เป็นต้น สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวโดยการเสนอแผนงานโครงการผ่านระบบ Thai Water Plan เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ

จากข้อมูลที่มีอยู่สถานการณ์ "น้ำ" ในประเทศไทย ยังพอจัดการได้หากไม่มีปัจจัยอื่นมากระทบ ซึ่งคาถาสำคัญของทุกคนคือ การประหยัด และรู้จักคุณค่าน้ำทุกหยด จึงจะทำให้หน้าร้อนปีนี้น่าจะมี "น้ำ" เพียงพอแม้ "เอลนีโญ" จะทำฝนน้อย-แล้งหนักมากก็ตาม


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1109623

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม