ดูแบบคำตอบเดียว
  #118  
เก่า 24-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default


ตรวจสอบบ้านหลัง 'น้ำ' ลด ทำความสะอาดหรือต้อง รื้อ!



หลังเกิดมหาอุทกภัย เป็นเหตุให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องอพยพออกจากบ้าน เนื่องด้วยมวลน้ำครั้งนี้ ไม่ได้ท่วมเพียงระดับพื้นชั้นล่างเท่านั้น หากยังเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งบางพื้นที่อ่วมตั้งแต่ชั้นหนึ่งกระทั่งเกือบถึงชั้นสอง คำถามที่ตามมาคือ บ้านที่ทิ้งไปในขณะน้ำท่วมเป็นเวลานานนั้น จะกลับเข้าไปอยู่ได้หรือไม่ และต้องถึงกับรื้อหรือเปล่า? วันนี้ Special Report จะพาไปไขคำตอบกับผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเรียนรู้ “วิธีตรวจสอบความผิดปกติของโครงสร้างหลักในบ้าน” รวมถึง “สิ่งที่ควรทำ และต้องห้าม! หลังน้ำลด”

อาจารย์ธเนศ วีระศิริ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ หรือ วสท. และ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีชนบท คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยกับเดลินิวส์ออนไลน์ว่า จากประสบการณ์การลงพื้นที่ตรวจสอบน้ำท่วมขังอาคารต่าง ๆ พบว่าอาคารไม้ หรือ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนใหญ่ ไม่ได้รับความเสียหายถึงขนาดรื้อทิ้ง แต่ถามว่ามีหรือไม่ที่พบความเสียหายก็คือมี

ดังนั้นวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ หรือ วสท. จึงมีนโยบายที่จะใช้ความรู้ ความสามารถ และระดมวิศวกรอาสา ซึ่งปัจจุบันได้ 173 ท่านแล้ว เตรียมจะเข้าไปช่วยประชาชนตรวจบ้าน ทางด้านวิศวกรรม ไฟฟ้า สุขาภิบาล รวมทั้งโครงสร้าง ฐานราก เพื่อให้ประชาชนมีความสบายใจ หมดความกังวลใจ โดยจะบริการฟรี ตรวจฟรี ภายใต้ “ศูนย์ตรวจสอบอาคารด้านวิศวกรรมหลังอุทกภัย” ทั้งนี้ ขั้นตอนดังกล่าวอยู่ระหว่างรอเวลา ให้เป็นไปตามลำดับ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ที่ 080-812-3733 หรือ 080-812-3743 และจะมีการเพิ่มหมายเลขในภายหลัง

“สำหรับกรณีน้ำลดแล้ว มีคำแนะนำคือ ก่อนเข้าบ้านควรเตรียมถุงเท้า บู๊ทยาง ถุงมือยาง รวมทั้งหน้ากากป้องกันมลภาวะ เพราะน้ำท่วมขังจะมีการปนเปื้อน เตรียมแว่นตาในลักษณะป้องกันไว้ด้วย รวมทั้งอุปกรณ์ตรวจวัดไฟ เช่น ไขควงวัดไฟ จากนั้น ทำความสะอาดรอบนอกบ้าน กำจัดตะไคร่ ส่วนน้ำที่ยังขังต้องหาทางระบายออก แม้จะเป็นลักษณะท่วมติดพื้น

นอกจากนั้น สิ่งสำคัญคือ เมื่อเข้าไปในตัวบ้านแล้ว อย่าแตะสวิทซ์ไฟโดยเด็ดขาด ยังไม่ควรสับคัทเอาท์เชื่อมต่อแม้จะเห็นว่าแห้ง หรือ พยายามทำความสะอาดผิวภายนอกแล้วก็ตาม อย่ามั่นใจว่าข้างในไม่มีน้ำอยู่ ควรตามช่างมาถอดดู เช็ดทำความสะอาดเต้าปลั๊กไฟต่างๆ เพราะหากสับคัทเอาท์จะเกิดการลัดวงจร ทำให้ระบบไฟฟ้าเสียทั้งบ้าน” อาจารย์ธเนศ กล่าว

อาจารย์ธเนศ กล่าวต่อถึง หลักทำความสะอาดห้องน้ำ โดยต้องตรวจดูการอุดตัน ล้างท่อระบายน้ำ กำจัดถุงขยะ เศษพลาสติก รวมถึงถุงทรายที่เคยอัดไว้ก่อนออกจากบ้าน จากนั้น กดชักโครกดูว่าน้ำไหลดีหรือไม่ ถัดมา เช็คมิเตอร์น้ำ หากปิดวาล์วแล้วมิเตอร์ยังหมุนแสดงว่าท่อรั่ว อาจมีอะไรกดทับทำให้แตกร้าว หรือ หากเปิดวาวว์แล้วมิเตอร์ไม่ทำงานก็ผิดปกติเช่นกัน

พรม ผ้า หรือ โซฟาที่วางอยู่ชั้นล่างถูกน้ำท่วมถึง จะอุ้มน้ำ ต้องนำออกนอกบ้านผึ่งแดด แต่การทำความสะอาดพรมค่อนข้างลำบาก หากไม่มั่นใจควรทิ้ง อย่าปล่อยเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อโรค ต่อมา สังเกตการบวมตัวของฝ้าเพดาน หากบวมให้ตามช่างมาถอดออก ป้องกันเหตุร่วงหล่น จากนั้น ทำความสะอาดพื้น ผนัง เสา แล้วเช็ดให้แห้ง

“อย่าลืมตรวจคาน พื้น และผนัง แอ่นหรือไม่ มีรอยร้าวที่ผิดปกติไปจากเดิมก่อนจะออกจากบ้านหรือเปล่า เสาโย้ไหม หากเป็นไม้อาจเกิดลักษณะบวม ปล่อยทิ้งไว้นานเสี่ยงแตกได้ ส่วนกรณีบ้านอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ให้สังเกตแนวรั้วด้านที่อยู่ชิดแม่น้ำลำคลองว่าโน้มเอียงเข้าหาบ้าน หรือ เอียงออกฝั่งลำคลองหรือไม่ เพราะรั้วมีแนวโน้มจะล้ม จากนั้น สังเกตว่ามีรอยแยกของดินขนานคลองหรือเปล่า เป็นข้อบ่งชี้ว่าดินอาจจะสไลด์ แต่ไม่เสมอไป สำหรับ กรณีบ้านวางอยู่บนเสาเข็ม ให้ตรวจว่าดินฐานรากยุบตัวลง หรือ มีรอยแตกไหม ถ้าไม่มีแสดงว่าเสาเข็มยังรับแรงได้ ดังนั้น หากพบสิ่งผิดปกติข้างต้น ควรติดต่อวิศวกรเข้าตรวจสอบ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน” อาจารย์ธเนศ ให้คำแนะนำ

การตรวจสอบความผิดปกติหลังจากทิ้งบ้านไปนานช่วงน้ำท่วม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำเป็นอันดับต้นๆที่ทุกคนควรทำ เพราะโครงสร้างของบ้านอาจได้รับผลกระทบร้ายแรงกว่าที่เราคิดจากปัญหาน้ำท่วม การตรวจสอบอย่างจริงจังและไม่ประมาทจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้บ้านของทุกครอบครัวกลับมาอยู่ได้อย่างปลอดภัยอีกครั้ง




จาก ....................... เดลินิวส์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม