ดูแบบคำตอบเดียว
  #12  
เก่า 30-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default


โรคผิวหนัง หลังน้ำท่วมดูแลป้องกันก่อนเรื้อรัง...!!



โรคผิวหนังเป็นโรคที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยมักจะพบเสมอหลังเกิดภาวะน้ำท่วม แต่หลายคนมักไม่ค่อยใส่ใจดูแลเท่าที่ควรจนทำให้เกิดปัญหาเรื่องเท้าเปื่อย เป็นแผล ลอก คันและเจ็บแสบ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจจะกลายเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นๆหายๆ และรักษาไม่หายขาด ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

แพทย์หญิงวลัยอร ปรัชญพฤทธิ์ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ความรู้ว่า หลังจากเกิดภาวะน้ำท่วมทำให้ผู้ประสบภัยต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพหลากหลายด้าน เนื่องจากเมื่อเกิดน้ำท่วมแล้วจะส่งผลให้แหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคปนเปื้อนกระแสน้ำที่พัดพาสิ่งสกปรก เชื้อโรค ของเสียที่เคยถูกเก็บไว้ในที่มิดชิดหรือสารเคมีกระจายออกเป็นวงกว้างทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป สัตว์และแมลงไม่มีที่อยู่อาศัยจึงออกจากถิ่นที่อยู่เพ่นพ่านทั่วไปและกลายเป็นพาหะนำเชื้อโรคในที่สุด ที่สำคัญพาหะนำโรคต่างๆ ยังสามารถเจริญเติบโตได้ดี ส่งผลให้ปริมาณเชื้อโรคมีจำนวนเพิ่มขึ้นและแพร่ได้อย่างรวดเร็ว จึงมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย โดยสภาพผิวดินหลังน้ำท่วมมีความเหมาะสมสำหรับการแพร่พันธุ์ของยุง ซึ่งโรคหลายชนิดที่เกิดจากยุงเป็นพาหะจึงมีโอกาสระบาดสูงขึ้นหลังน้ำท่วม

ปัญหาด้านสุขภาพที่จะเกิดหลังน้ำท่วมนั้นมีทั้งอาการเจ็บป่วยในระยะแรกและระยะยาว ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องร่วงจากการติดเชื้อจากอาหารเป็นพิษ โรคเลปโตสไปโรซิส (หรือโรคฉี่หนู) โรคผิวหนังจากการสัมผัสกับสารเคมีสิ่งสกปรกหรือติดเชื้อที่ผิวหนังไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราหรือหนอนพยาธิ โรคผิวหนังจากแมลง สัตว์มีพิษกัดต่อยซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่สบายจากการถูกกัดต่อยแล้ว ในภายหลังหากได้รับเชื้อโรคเข้าไปด้วยอาจทำให้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

โรคผิวหนังมักพบหลังน้ำท่วม เรียกว่า “โรคน้ำกัดเท้า” เนื่องจากเราเดินย่ำน้ำบ่อยๆ หรือยืนแช่น้ำนานๆจนเท้าเปื่อย โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้าบริเวณที่ผิวหนังเปื่อยนี้เป็นจุดอ่อนทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ดังนั้นหลังเสร็จกิจธุระนอกบ้านแล้วควรรีบล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า หากเท้ามีบาดแผลควรชะล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งโรคน้ำกัดเท้าในระยะแรกนี้ยังไม่มีเชื้อรา เป็นเพียงอาการระคายเคืองจากความเปียกชื้นและสิ่งสกปรกในน้ำ ทำให้เท้าเปื่อย ลอก แดง คันและแสบ การรักษาในระยะนี้ควรใช้ยาทาสเตียรอยด์อ่อนๆ เช่น 0.02 Triamcinolone cream หรือ 3% vioform in 0.02% Triamcinolone cream ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา เพราะยาเชื้อราบางชนิดจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและแสบมากขึ้น

สำหรับผิวที่เปื่อยเป็นแผล เมื่อสัมผัสกับสิ่งสกปรกที่เจือปนอยู่ในน้ำจะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย เมื่อมีการติดเชื้อ แบคทีเรียจะทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง เป็นหนองและปวด ต้องให้การรักษาโดยการรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมกับการชะล้างบริเวณแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำด่างทับทิม แล้วทายาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ หากปล่อยให้มีอาการโรคน้ำกัดเท้าอยู่นาน ผิวที่ลอกเปื่อยและชื้นจะติดเชื้อรา ทำให้เป็นโรคเชื้อราที่ซอกเท้ามีอาการบวมแดง มีขุยขาวเปียก มีกลิ่นเหม็นและถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเรื้อรัง เชื้อราจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในผิวหนังรักษาหายยาก ถึงแม้จะใช้ยาทาจนอาการดีขึ้นดูเหมือนหายดีแล้ว แต่มักจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ เมื่อเท้าอับชื้นขึ้นเมื่อใดก็จะเกิดเชื้อราลุกลาม ขึ้นมาใหม่ทำให้เกิดอาการเป็นๆหายๆเป็นประจำ ไม่หายขาด

ดังนั้นการดูแลป้องกันโรคเชื้อราที่เท้าไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกต้องรักษาความสะอาดให้เท้าแห้งอยู่เสมอเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคนี้ และควรให้ความสนใจเป็นพิเศษที่บริเวณซอกนิ้วเท้า เมื่อเช็ดให้แห้งแล้วให้ทายารักษาโรคเชื้อรา แต่ถ้ามีอาการรุนแรงและเรื้อรัง ทายาไม่ได้ผลควรไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงต่อตับและไต ควรรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเองแม้ว่าจะดีขึ้นแล้วก็ตาม การหยุดยาเร็วเกินไปขณะที่เชื้อยังไม่หมดก็มีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีกได้ง่าย นอกจากนี้ผู้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมควรระมัดระวังเมื่อเดินลุยน้ำเพราะอาจถูกของมีคมทิ่มตำ ทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคต่างๆได้เช่นกัน รวมทั้งอาจติดเชื้อบาดทะยักตามมาได้ เมื่อประสบเหตุดังกล่าวควรไปทำแผลที่หน่วยบริการสาธารณสุขทันที และยิ่งถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเชื้อบาดทะยักมาก่อนควรปรึกษาแพทย์

อย่างไรก็ตามการป้องกันมักดีกว่าและมีประสิทธิภาพที่สุด ด้วยการหลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ หากจำเป็นต้องลุยน้ำให้สวมรองเท้าบู๊ต กันน้ำสกปรกกัดเท้า อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันของมีคมในน้ำทิ่มตำเท้าหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย หลังจากลุยน้ำให้รีบทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ เช็ดเท้าให้แห้ง หากมีบาดแผลที่ผิวหนังไม่ควรสัมผัสถูกน้ำสกปรก หากลุยน้ำแล้วเกิดผื่นที่ผิวหนังควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและทายาหรือรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อให้อาการโรคผิวหนังหายขาด ไม่เป็นเรื้อรังสร้างความรำคาญเจ็บปวดและเสียเวลาในการรักษาในภายหลัง.


**********************************************


แนะวิธีปรุงอาหารลดเสี่ยงโรคขณะน้ำท่วม

ในช่วงวิกฤติน้ำท่วมสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สำคัญยามคับขันเช่นนี้ คือ การปรุงอาหาร เพราะหากเราประกอบอาหารไม่สะอาดจะยิ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายทำให้เจ็บป่วยได้ ดังนั้นใครที่ต้องการจะไปตั้งศูนย์ปรุงประกอบอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือปรุงอาหารรับประทานเองเคล็ดลับสุขภาพดีวันนี้มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการปรุงอาหารให้สะอาดถูกหลักอนามัยเพื่อป้องกันโรคมาฝากกันค่ะ

ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย ให้ความรู้ว่า การประกอบอาหารในจุดที่ให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมจะต้องเน้นที่ความสะอาดปลอดภัยซึ่งทางกรมอนามัยได้มอบให้ศูนย์อนามัยเขตในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมให้การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและคำแนะนำที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือประชาชนที่รับผิดชอบจัดเตรียมและปรุงอาหารในพื้นที่ได้อย่างสะอาด ปลอดภัย และได้คุณค่าทางโภชนาการ โดยยึดตามเกณฑ์ที่กรมอนามัยกำหนดตั้งแต่อาหารสดต้องไม่มีกลิ่น อาหารแห้งต้องไม่มีเชื้อราและไม่นำอาหารกระป๋องที่บุบ บวม หมดอายุมาปรุงอาหาร

สำหรับพื้นที่ที่เราจะเลือกประกอบอาหารนั้นต้องเป็นพื้นที่หรือสถานที่ทำครัวที่ให้ไกลห้องส้วมและที่เก็บขยะ ที่ระบายน้ำเสียหรือที่เก็บสารเคมี โดยหลีกเลี่ยงการเตรียมหรือปรุงอาหารบนพื้น ควรมีโต๊ะเตรียมปรุงอาหารที่สูงจากพื้นป้องกันการปนเปื้อน ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหาร เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเขียงควรแยกเขียงหั่นเนื้อ หั่นผักและอาหารปรุงสุก โดยเฉพาะเขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์ต้องล้างขจัดคราบไขมันด้วยน้ำยาล้างจาน แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด และห้ามนำผ้าที่สกปรกมาเช็ด เพราะจะเป็นสื่อที่นำเชื้อโรคมาปนเปื้อนอาหารที่มีการหั่น สับ บนเขียงได้

“ก่อนปรุงอาหารควรมีการล้างวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงทุกครั้ง โดยเฉพาะผักซึ่งอาจมีการปนเปื้อนคราบดินที่เกิดจากน้ำท่วมต้องล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง ส่วนผักบางอย่าง เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปให้ล้างน้ำหลายๆครั้งหรือแช่น้ำปูนใสนาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดก่อนจะนำไปปรุงประกอบอาหาร ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารต้องปฏิบัติตนเองให้ถูกสุขลักษณะด้วย เช่น ล้างมือก่อนปรุงอาหาร ไม่ใช้มือจับอาหารปรุงสำเร็จโดยตรง ถ้ามือมีแผลต้องปิดแผลให้มิดชิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอาหารโดยตรง”

ส่วนการบรรจุอาหารที่ปรุงสุกแล้วเพื่อส่งต่อให้ผู้ประสบภัยรับประทานนั้นควรใส่ในภาชนะที่สะอาด ไม่ควรทิ้งระยะนานเกิน 2-4 ชั่วโมง หลังปรุงและบรรจุอาหาร ควรระบุวันและเวลาในการรับประทานให้ชัดเจนก่อนส่งให้กับผู้ประสบภัย เพราะหากเก็บนานเกินไปอาจทำให้อาหารบูดและเสียได้ โดยอาหารที่ปรุงควรเป็นอาหารประเภททอดหรือผัดเพราะไม่บูดและเสียง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ลาบ ยำ พล่าต่างๆ

นอกจากนี้การกำจัดขยะในจุดปรุงอาหารจะต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารทำด้วยวัสดุไม่รั่วซึม เช่น พลาสติก หากใช้ปี๊บควรมีถุงพลาสติกรองอีกชั้นหนึ่ง ถังขยะต้องมีฝาปิดและมีการแยกขยะเป็นสองถังคือ ถังขยะเปียกและถังขยะแห้งเพื่อง่ายต่อการกำจัด ทั้งนี้สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การใช้ส้วมเนื่องจากประชาชนที่อาศัยในศูนย์พักพิงมีจำนวนมาก ผู้ใช้จึงต้องให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะอย่างถูกต้อง โดยไม่ทิ้งวัสดุอื่นนอกจากกระดาษชำระลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม เพื่อสุขอนามัยที่ดีและป้องกันโรคในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ อุจจาระร่วง บิด เป็นต้น

เมื่อทราบแบบนี้แล้ว อย่าลืมดูแลเรื่องความสะอาดในการปรุงอาหารที่เราจะรับประทานหรืออาหารที่ปรุงให้แก่ผู้ประสบภัยให้มีความปลอดภัยด้วยนะคะ เพราะจะได้ไม่เป็นการซ้ำเติมสุขภาพของตัวเองและผู้ประสบอุทกภัยนั่นเอง.




จาก ..................... เดลินิวส์ วาไรตี้ วันที่ 30 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม