ดูแบบคำตอบเดียว
  #7  
เก่า 05-12-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default


พระราชาผู้ไม่เคยทิ้งประชาชน ..... (3)

หลังจากเสด็จไปทรงศึกษาต่อในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่นานก็เกิดสงครามขึ้นในยุโรป และต่อมาสงครามได้ขยายไปแทบทุกภูมิภาคของโลก จนได้ชื่อว่าเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างสงคราม พระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ดังเดิม มิได้ทรงอพยพลี้ภัยสงครามไปยังที่ซึ่งปลอดภัยกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเป็นห่วงการศึกษาของพระราชโอรส พระราชธิดา ทรงเกรงว่าถ้าแปรพระราชฐานไปประทับที่ประเทศอื่นก็จะขาดการฝึกฝน และทรงเชื่อมั่นว่า ชาติต่างๆ คงจะเคารพความเป็นกลางของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และจะไม่รุกราน แม้ว่าจะไม่มีชาติใดเข้ารุกรานประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่กระนั้น ประเทศนี้ก็พลอยได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก เนื่องจากขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น จนถึงกับต้องมีการใช้บัตรปันส่วนอาหารและข้าวของเครื่องใช้ พระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงวางพระองค์ผิดแผกจากชาวสวิสคนอื่นๆ หรือทรงเรียกร้องสิทธิพิเศษ ทรงรับบัตรปันส่วนเช่นเดียวกับครอบครัวชาวสวิสคนอื่นๆ หรือทรงเรียกร้องสิทธิพิเศษ ทรงรับบัตรปันส่วนเช่นเดียวกับครอบครัวชาวสวิสทั่วๆไป เมื่อเสด็จไปโรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็ทรงจักรยาน ไม่ได้ใช้รถพระที่นั่ง เพราะน้ำมันขาดแคลน สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงใช้ขี้เถ้าแทนสบู่ ทรงทำเนยและเก็บผลไม้มาทำแยมเก็บไว้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเล่าพระราชทานว่า "ทูลหม่อมพ่อทรงเล่าว่า ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ลำบากเหมือนกัน"

พ.ศ.2488 พระเจ้าอยู่หัวทรงสอบไล่มัธยมปลายได้แล้ว ก็เสด็จเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ แผนกวิชาวิทยาศาสตร์ พระบรมเชษฐาทรงเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อ 2 ปีก่อน ทรงเลือกเรียนวิชานิติศาสตร์ ส่วนพระเชษฐภคินีทรงศึกษาวิชาเคมี

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติ รัฐบาลไทยได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนครชั่วคราว เพื่อบำรุงขวัญชาวไทยให้ชุ่มชื่นภายหลังมหาสงคราม พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชชนนีได้โดยเสด็จกลับประเทศไทยด้วย ถึงกรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2488 ระหว่างประทับที่กรุงเทพฯ พระเจ้าอยู่หัวได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมเชษฐา เสด็จเยี่ยมราษฎรตามต่างจังหวัดและชานเมืองกรุงเทพฯ หลายครั้ง ทรงสนพระราชหฤทัยในทุกข์สุขของราษฎรและการทำมาหากินเลี้ยงชีพ ทั้งยังได้ตามเสด็จประพาสสำเพ็ง พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ชาวจีนในสำเพ็งได้เข้าเฝ้าฯ ชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด

ประชาชนชื่นชมเทิดทูนสมเด็จพระบรมเชษฐา รักและนิยมสมเด็จพระอนุชา สองพระองค์งามทั้งพระรูปโฉมและพระราชจริยวัตร พระอัธยาศัยอันอ่อนโยน ไม่ถือพระองค์ ประทับใจเหล่าพสกนิกรที่คอยแห่แหนเฝ้ารับเสด็จทุกหนทุกแห่ง

ประชาชนสุขใจอยู่ได้ไม่ทันไร ทุกข์ก็ย้อนกลับมาหา เช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ก่อนกำหนดวันเสด็จพระราชดำเนินจากประเทศไทยเพียง 4 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนเสด็จสวรรคต

ข่าวสวรรคตนำความเศร้าโศกสลดมาสู่ชาวไทยในเวลานั้นอย่างใหญ่หลวง แต่ก็ไม่อาจเทียบได้กับความทุกข์ระทมอย่างลึกซึ้งของสมเด็จพระบรมราชชนนี ที่ทรงเฝ้าถนอมถวายพระอภิบาลมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และของสมเด็จพระอนุชาที่ทรงใกล้ชิดสนิทสนมและร่วมทุกข์ร่วมสุขมาโดยตลอด ในท่ามกลางความทุกข์เทวษ พระเจ้าอยู่หัวได้รับคำกราบบังคมทูลอัญเชิญของรัฐบาลให้เสด็จขึ้นทรงราชย์

หลังจากประทับอยู่จนถึงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.2489 พระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ โดยเหตุที่พระเจ้าอยู่หัวจะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุข พระองค์จึงทรงเปลี่ยนแนวทางการศึกษาใหม่ ทรงศึกษาวิชาสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อเตรียมพระองค์ให้พร้อมที่จะเป็นผู้ปกครองที่ดี

เมื่อว่างจากพระราชกิจในการศึกษา พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสชนบทและประเทศใกล้เคียง เช่น อิตาลี และฝรั่งเศส ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะทอดพระเนตรสถานที่สำคัญตามเมืองต่างๆ และชมทัศนียภาพที่งดงามและเงียบสงบในชนบท ในฤดูหนาว มักจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถที่สถานที่ตากอากาศบนเขาสูง เพื่อทรงสกี การออกกำลังพระวรกาย ทำให้พระอนามัยแข็งแรง และทรงสำราญพระราชหฤทัย

ประชาชนชาวไทยแม้จะอยู่ห่างไกล แต่เฝ้าคอยฟังข่าวพระเจ้าอยู่หัวจากทางหนังสือพิมพ์ เมื่อรู้ข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญดี ต่างก็รู้สึกเป็นสุข แต่แล้วถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2491 ได้เกิดเหตุร้ายที่สะเทือนขวัญประชาชนยิ่งนัก

พระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์พระอาการสาหัส เมื่อรัฐบาลและหนังสือพิมพ์แถลงข่าวให้ทราบทั่วกันว่าพระอาการดีขึ้นมากแล้ว แต่ราษฎรก็ยังรู้สึกวิตกเป็นห่วงใย และตั้งความหวังว่าคงจะทรงพระสำราญขึ้นในเร็ววัน

เหตุการณ์ร้ายแรงในปลาย พ.ศ.2491 ผ่านพ้นไปแล้ว ติดตามมาด้วยเหตุการณ์ที่น่าชื่นชมยินดี เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2492 พระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งขณะนั้นยังทรงเป็นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาคนโตของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้านักขัตรมงคลกิติยากร) อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร

พระเจ้าอยู่หัวทรงพบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ครั้งแรกที่กรุงปารีส เมื่อ พ.ศ. 2490 ขณะนั้นพระบิดาทรงเป็นอัครราชทูตอยู่ ณ กรุงปารีส ต่อมาได้เสด็จไปกรุงปารีสอีกหลายครั้งด้วยพระราชกิจต่างๆ ท่านอัครราชทูตและครอบครัวได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเสมอ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีฯ ทรงพาครอบครัวมาเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการ พระเจ้าอยู่หัวทรงขอให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์พำนักที่โลซานน์เพื่อเฝ้าฯ ถวายการรักษาพยาบาลด้วย

ปีต่อมา พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนิวัตพระนคร พร้อมด้วยหม่อมราชวงสิริกิติ์ ใน พ.ศ. 2493 นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีสำคัญ 3 พิธี คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบรมเชษฐา พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

งานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสจัดขึ้น ณ พระตำหนักใหม่วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 วันนั้นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระตำหนักชั้นบนพร้อมด้วยหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ถวายดอกไม้ธูปเทียนแพแด่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตอนกลางคืนมีงานพระราชทานเลี้ยงเป็นการภายใน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในหมู่พระประยูรญาติและข้าราชบริพารใกล้ชิดไม่เกิน 20 คน นับเป็นงานฉลองพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสที่เล็กที่สุดงานหนึ่ง

ต่อมา วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเปล่งพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม หลังจากนั้นมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม