ดูแบบคำตอบเดียว
  #18  
เก่า 20-11-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


แผ่นดินไหว "พม่า" เขย่าขวัญผวาถึงกรุงเทพฯ



แผ่นดินไหว เป็นภัยธรรมชาติและหนึ่งในปรากฏการณ์ที่มนุษยชาติยังไม่เข้าใจถ่องแท้ และพยากรณ์ไม่ได้

ประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชาติที่ภัยธรรมชาติไม่ค่อยจะเข้ามา กล้ำกราย

แต่ปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นจากพิบัติภัยต่างๆ

แม้แต่แผ่นดินไหว ที่คนไทยคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ก็ยังมีโอกาสให้ได้สัมผัสกันอยู่บ่อยขึ้น

ล่าสุดคนไทยจำนวนหนึ่งที่อยู่บนที่สูงในภาคเหนือและตึกสูงใน กทม. ต้องเผชิญกับ "แรงสั่นสะเทือน" ชวนหวาดผวาหัวใจกันตั้งแต่เช้าวันที่ 11 พ.ย.2555 ที่ผ่านมา อันเป็นผลกระทบมาจากแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ ในเมืองสะแกงของประเทศพม่า

เหตุธรณีพิโรธข้ามชาติครั้งนี้ สร้างความตื่นตระหนกและวิตกกังวลไปทั่ว

ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษา พิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักธรณีวิทยาชั้นนำของประเทศ ได้ให้ข้อมูลผ่าน "ข่าวสด หลาก&หลาย" ถึงภัยทางธรรมชาติในครั้งนี้เอาไว้ ดังนี้

แผ่นดินไหว 6.8 ริกเตอร์ดังกล่าว เกิดจากการเคลื่อนที่ของรอยเลื่อนสะแกง พาดผ่านเมืองสะแกงของพม่า จัดเป็นรอยเลื่อนในแนวนอน เรียกว่า "ทรานส์ฟอร์ม ฟอลต์" ทำให้สามารถส่งแรงสั่นสะเทือนไปได้ไกล

โดยเฉพาะเมื่อแรงสั่นสะเทือนผ่านชั้นหินมาเจอดินอ่อน อันเป็นลักษณะชั้นดินของกรุงเทพมหานคร มีความลึกสูงสุดราว 20 เมตร จะทำให้ความเร็วในการเคลื่อนที่ของแรงสั่นสะเทือนเพิ่มขึ้น อีกทั้งตึกสูงจะต้องมีฐานรากลึกลงไปในชั้นดิน จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้ที่อยู่ชั้นบนๆ ของตึกจึงสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ชัดเจน

ขณะที่ผู้ที่อยู่บนตึกเตี้ยๆนั้น จะไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนดังกล่าว

แผ่นดินไหว 6.8 ริกเตอร์ ถือว่ารุนแรง เพราะ 6.5 ริกเตอร์ขึ้นไปนั้นจัดเป็นแผ่นดินไหวที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้างต่างๆได้ ซึ่งแผ่นดินไหวระดับนี้เกิดขึ้นทั่วโลก เฉลี่ย 12 ครั้งต่อปี และส่วนใหญ่แล้วรอยเลื่อนประเภทนี้จะไม่ส่งผลให้มีแผ่นดินไหวตามหลัง หรือ "อาฟเตอร์ช็อก" ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมตามมา ซึ่งเท่าที่ติดตามพบอาฟเตอร์ช็อกตามมา 4-5 ครั้ง ครั้งที่แรงที่สุด คือราว 5.8 ริกเตอร์

คาดว่าจะไม่มีแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงเท่านี้เกิดขึ้นตามมาอีกแล้วในจุดเดิม

ส่วนการเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนอื่นที่อาจได้รับผลกระทบนั้นเป็นไปได้

แต่โดยส่วนตัว ไม่ให้น้ำหนักกับรอยเลื่อน "แม่ฮ่องสอน" ตามที่บางฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเป็นรอยเลื่อนแนวยืน คือเคลื่อนที่ขึ้นลง

ดังนั้นการที่จะถูกกระตุ้นจากรอยเลื่อนสะแกง ซึ่งเป็นรอยเลื่อนแนวนอน จึงเป็นไปได้น้อย

นอกจากนี้ ในอดีตที่ผ่านมานั้น รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนเคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2-4 ริกเตอร์เท่านั้น ถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก

อย่างไรก็ตาม รอยเลื่อนสะแกงเป็นรอยเลื่อนที่ต่อเนื่องขึ้นมาจากทะเลอันดามัน จึงอาจส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อน "ระนอง" ของไทยได้ โดยรอยเลื่อนดังกล่าวไม่ได้เคลื่อนที่มานานแล้ว และในอดีตที่ผ่านมาก็ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเพียง 2-4 ริกเตอร์เช่นกัน



ทว่า รอยเลื่อนที่น่าจะมีโอกาสได้รับผลกระทบมากกว่าน่าจะเป็นรอยเลื่อนที่เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวในรัฐฉานของพม่า เมื่อเดือนมี.ค.54

รวมทั้งรอยเลื่อนบริเวณมณฑลยูนนานและเสฉวนของจีน โดยทั้งหมดเป็นรอยเลื่อนที่มีลักษณะเกยกัน เรียกว่า "ทรัสต์ ฟอลต์" และในอดีตเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 6 ริกเตอร์มาแล้ว ถือเป็นรอยเลื่อนที่อยู่เหนือประเทศไทยขึ้นไป

แต่การที่จะไปเจาะจงว่ารอยเลื่อนใดจะ ได้รับผลกระทบนั้น ไม่มีใครรู้ และไม่มี นักวิทยาศาสตร์คนใดจะฟันธงได้

สําหรับในส่วนของ "ความเสี่ยง" ของประเทศไทยต่อการเกิดแผ่นดินไหว

ที่ผ่านมาไทยไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ มีแต่ระดับเล็กถึงปานกลาง

เมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลกที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ถือว่าไทยเสี่ยงน้อยมากๆ

อาทิ จุดที่เสี่ยงที่สุดของไทย เช่น รอยเลื่อนมีพลังทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ยาวลงไปจนถึงรอยเลื่อนแขนง หรือรอยเลื่อนสาขา ในภาคใต้อย่างรอยเลื่อนระนอง และสุราษฎร์ธานี ก็ยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าจุดที่เสี่ยงน้อยที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งมาก

ส่วนกรุงเทพมหานคร คงไม่มีจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว เพราะมีรอยเลื่อนที่ตายแล้ว แม้จะฟื้นได้แต่ถือว่ายากมากเนื่องจากสภาพทางธรณีวิทยา กล่าวคือ การพัฒนาการของเปลือกโลกบริเวณนี้ ย้อนกลับไปราว 20-30 ล้านปี เป็นจุดที่แผ่นดินเคยมุดตัวกัน แต่ปัจจุบันตำแหน่งการมุดตัวเปลี่ยนไปอยู่ในทะเลอันดามันแล้ว

ไทยมีกฎหมายควบคุมสิ่งปลูกสร้าง และหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้อยู่ อาทิ คณะกรรมการแผ่นดินไหวแห่งชาติ

คิดว่าตึกสูงก็น่าจะมีการออกแบบป้องกันแผ่นดินไหวอยู่แล้ว จึงไม่น่าเป็นห่วง สามารถรับมือได้ทั้งการสั่นไหวภายในประเทศ (แผ่นดินไหวขนาดเล็ก) และการสั่นไหวจากจุดศูนย์กลางในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกรณีอย่างหลังเป็นสิ่งที่ไทยพบเจอมากกว่า

มีข้อมูลทางวิชาการใหม่จากนักวิจัยญี่ปุ่น ในกรณีศึกษาความเสียหายจากการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ ที่จ.เซ็นได ของญี่ปุ่น โดยแรงสั่นสะเทือนในครั้งนั้นส่งผลให้ตึกที่มีความสูงบางแห่งที่ จ.โอซาก้า ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวไปกว่า 1,000 กิโลเมตร เกิดรอยร้าวขึ้นที่ชั้น 7-24

สาเหตุของการสั่นสะเทือนของตึกสูงนั้น เป็นเพราะมีฐานรากลึก เหมือนการดีดไม้บรรทัดยาวๆที่ปลายด้านหนึ่งและส่งผลให้ปลายอีกด้านหนึ่งสั่นสะเทือน ซึ่งสาเหตุของตึกร้าวที่ญี่ปุ่นมาจากแรงสั่นสะเทือนแบบ "คลื่นยาว"

ขณะที่ในกรณีของไทยนั้นน่าจะเป็น "คลื่นพื้นผิว" ไม่ใช่คลื่นยาว แต่จะต้องมีการศึกษาวิจัยเชิงลึกต่อไป รวมทั้งควรมีการทำแบบจำลองแผ่นดินไหว ตลอดจนอาจต้องมีการทบทวนแผนที่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวของไทยใหม่ด้วย

นอกจากนี้ ศ.ดร.ธนวัฒน์ยังวิพากษ์วิจารณ์การที่กลุ่มนักวิชาการ บางกลุ่มนำลักษณะความเสียหายของกรุงเม็กซิโก ซิตี จากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งประเทศเม็กซิโก เมื่อปี 2528 มาผูกโยงกับลักษณะการได้รับรู้แรงสั่นสะเทือนของไทยจากแผ่นดินไหวในประเทศพม่าครั้งล่าสุดด้วยว่า ไม่สามารถ ผูกโยงกันได้ เพราะมีความแตกต่างกัน

โดยในครั้งนั้น ตึกสูงในกรุงเม็กซิโก ซิตี ตั้งแต่ชั้น 7 ขึ้นไปได้รับความเสียหายทั้งที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางกว่า 350 กิโลเมตร ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นไปไม่ได้ จึงเกิดการศึกษา พบว่ากรุงเม็กซิโก ซิตี ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นทะเลสาบเก่า ทำให้มีชั้นดินอ่อนลึกลงไปกว่า 300 เมตร รวมทั้งลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ

แตกต่างจากกรุงเทพฯ ที่มีชั้นดินอ่อนหนาเพียง 20 เมตรเท่านั้น

รวมทั้งลักษณะภูมิประเทศเป็นแบบเปิดลงไปสู่อ่าวไทยด้วย

ศ.ดร.ธนวัฒน์มองว่า เรื่องแผ่นดินไหวในประเทศไทยจำเป็นต้องมีข้อสรุปในทางวิชาการ

ดังนั้นการศึกษาวิจัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น

โดยส่วนตัวคิดว่าคนไทยกลัวเรื่องแผ่นดินไหวมากกว่าน้ำท่วม แต่จริงๆ แล้วน้ำท่วมนั้นสร้างความเสียหายมากกว่า แม้กระทั่งการกัดเซาะชายฝั่งที่สร้างความเสียหายมากกว่าหลายร้อยเท่า แต่คนกลับไม่ค่อยกลัว

สาเหตุอาจเป็นเพราะแผ่นดินไหวเป็นพิบัติภัยที่มนุษย์ไม่สามารถเตือนภัยล่วงหน้าได้ แม้แต่ในประเทศที่มีนักวิชาการแผ่นดินไหวหลายร้อยคน อย่างสหรัฐหรือญี่ปุ่นก็ไม่เคยพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหว มีแค่ไทยประเทศเดียวที่ในอดีตมีการทำนายออกมาเป็นซีรีส์ ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลทางวิชาการ และสร้างความเสียหายจนกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความต่อเนื่องของความกลัวมานาน ทำให้คนไทยกลัวแผ่นดินไหวมาก

คนไทยจำเป็นต้องปรับทัศนคติใหม่ ด้วยการรับฟังข้อมูลที่ถูกต้อง

มิฉะนั้นอาจต้องพบกับความเสียหายระยะยาว จากความกลัวเกินเหตุของคนไทยเอง

"ในบรรดาพิบัติภัยทั้งปวงที่สามารถสร้างความเสียหายให้ประเทศไทย ผมคิดว่าแผ่นดินไหวถือเป็นพิบัติภัยที่ประเทศไทยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด" ศ.ดร.ธนวัฒน์กล่าว

นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)

...แม้ทุกโครงสร้างของอาคารในกทม.จะมีรากฐานที่มั่นคง แต่ก็ต้องตรวจสอบให้แน่ใจ...

เนื่องจากภัยธรรมชาติเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แม้กรณีแผ่นดินไหวในพม่าจะไม่ได้เกิดในไทยโดยตรง แต่ก็สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะในอาคารสูง หรืออาคารที่มีอายุการใช้งานมานาน

ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อม ติดตามเฝ้าระวัง พร้อมรับฟังปัญหาร่วมกัน และซักซ้อมความเข้าใจให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกโดยกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์เตือน ภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

กรมอุตุนิยมวิทยา มีภารกิจหลักด้านพัฒนาระบบตรวจวัดแผ่นดินไหว ติดตั้งเครื่องมือวัดอัตราเร่งของพื้นดิน จัดทำฐานข้อมูลแผ่นดินไหว แจ้งเหตุแผ่นดินไหว พร้อมประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านแผ่นดินไหวให้ประชาชนรับทราบ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีหน้าที่แจ้งเตือนสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหว

ด้านปภ.จะฝึกซ้อมแผนจัดระบบสื่อสาร ฝึกอบรมอาสาสมัคร อพยพประชาชน ช่วยผู้ประสบภัย จัดสถานที่พักชั่วคราว และตั้งศูนย์รับและแจกของบริจาค กรมโยธาธิการและผังเมืองจะดำเนินการออกกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทานคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว

แม้ทุกโครงสร้างของอาคารในกทม. จะมีรากฐานที่มั่นคง แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบให้แน่ใจถึงความปลอดภัยด้วย

ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ จะพัฒนาระบบตรวจวัดแผ่นดินไหวเฉพาะพื้นที่ของหน่วยงาน และกรมทรัพยากรธรณีจะมีหน้าที่ด้านการสำรวจรอยเลื่อนมีพลัง ประเมินความเสี่ยงภัยของพื้นที่ ทั้งนี้เมื่อแต่ละหน่วยงานได้เสนอมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหว ก็จะนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อหาแนวทางในการเตรียมความพร้อมไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะเน้นความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก

เพื่อเป็นตัวอย่างแก่หน่วยงานอื่นๆ ได้สั่งการให้ทส.ทำแผนซ้อมรับมือแผ่นดินไหว ก่อนหน่วยงานอื่นๆ เพราะตึกทส.เองก็เป็นตึกสูง 20 ชั้น โดยจะซักซ้อมทำความเข้าใจเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในตึกว่า หากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ขึ้นมานั้นจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง




จาก .................. ข่าวสด วันที่ 20 พฤศจิกายน 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม