ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 02-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


มองย้อน 5 ประเด็นร้อนสิ่งแวดล้อมปีหมู การพัฒนาที่ไร้ความยั่งยืนยังเป็นปัญหาหลัก ........ (ต่อ)


ภาพถ่ายดาวเทียมพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากิบิส จากเว็บไซต์ https://www.windy.com


2. ท่วมแล้งรุนแรงพร้อมๆกัน สภาพอากาศแปรปรวนป่วนทั่วทุกภูมิภาค

เป็นที่ชัดเจนจากสถานการณ์สภาพอากาศที่แปรปรวนผิดปกติไปทั่วโลกว่าปีนี้เป็นปีเราประสบกับผลพวงจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยประสบมา ทั้งจากเหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ในป่าอเมซอน ไฟป่าครั้งใหญ่ในออสเตรเลียที่คุกคามถิ่นอาศัยของโคอาล่า จนสัตว์สัญลักษณ์ของออสเตรเลียชนิดนี้ตกในสภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ยิ่งขึ้น ไปจนถึงพายุรุนแรงหลายลูกที่พัดเข้าถล่มญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องช่วงกลางปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์ความแปรปรวนของภูมิอากาศโลกกระทบถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยเช่นกัน โดยตั้งแต่ต้นปี ไทยก็ต้องพบกับพายุโซนร้อน ?ปาบึก? พัดถล่มชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกในเดือนมกราคม นับเป็นพายุลูกแรกที่พัดถล่มพื้นที่นี้นับตั้งแต่มีการบันทึกประวัติการเกิดพายุในไทย

ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศยังไม่หยุดอยู่เท่านั้น เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนแต่กลับกลายเป็นว่าปีนี้ปริมาณน้ำฝนกลับตกน้อยผิดปกติเป็นประวัติการณ์เช่นกัน สภาวะภัยแล้วรุนแรงยังส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้ประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต้องประสบกับสภาวะขาดแคลนน้ำอย่างหนักตั้งแต่ยังไม่หมดฤดูมรสุม

จากสถานการณ์ความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นผลพวงมาจากสภาวะโลกร้อน และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการนานาชาติว่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ และเวลาในการแก้ไขสถานการณ์กำลังหมดไปทุกที

อย่างไรก็ดี เรายังไม่เห็นท่าทีที่กระตือรือร้นนักจากภาครัฐในการเร่งผลักดันแผนลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้าหมายข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ตั้งเป้าควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้พุ่งสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือแม้แต่ภาครัฐไทยเองก็ยังไม่มีการปรับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contributions หรือ NDCs) ของตน ให้มีความท้าทายยิ่งขึ้น เพื่อเติมช่องโหว่ของความพยายามลดก๊าซเรือนกระจก (emission gap) ที่ยังถ่างกว้าง ซ้ำร้ายยังมีความพยายามจากภาคอุตสาหกรรมที่ยังผลักดันให้เกิดโครงการที่ส่งผลเสียต่อเป้าหมายการลดโลกร้อน

วิกฤตสภาวะโลกร้อนจึงเป็นเรื่องร้อนที่ชาวโลกยังต้องจับตา และเร่งหาทางแก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุดก่อนที่อนาคตของเราจะตกอยู่กับความไม่แน่นอนเช่นเดียวกับสภาพภูมิอากาศโลก


สภาพแม่น้ำโขงลดต่ำผิดฤดูกาลเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม เผยให้เห็นป่าไคร้กลางแม่น้ำโขงแหังตายเพราะผลจากการขึ้นลงอย่างผิดปกติของแม่น้ำโขงในปีที่ผ่านมา //ขอบคุณภาพจาก: Chainarong Setthachua


1. เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าและการพัฒนาขนานใหญ่ ต้นตอแม่น้ำโขงวิบัติ

ปี พ.ศ.2562 นับได้ว่าเป็นปีที่เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนนานาชาติที่เข้าไปลงทุนสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงสายประธาน ทั้งจากการทดลองเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเขื่อนไชยะบุรีในเดือนเมษายน และเริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าส่งขายไทยอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม ความคืบหน้าโครงการเขื่อนดอนสะโฮงที่มีแผนจ่ายไฟไปยังกัมพูชาในเดือนมกราคมนี้ หรือการประกาศเตรียมสร้างเขื่อนหลวงพระบาง อันจะเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าโครงการล่าสุดบนลำน้ำโขงเมื่อเดือนตุลาคม

ความเคลื่อนไหวในวงการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในปีที่ผ่านมา สอดรับกับสภาพความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วของระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยพบว่าการขึ้นลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีความผันผวนรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่ระดับน้ำโขงลดลงต่ำสุดในรอบ 50 ปี ทั้งๆที่อยู่ในช่วงฤดูฝน และแม่น้ำยังคงมีความผันผวนรุนแรงไปจนตลอดทั้งปี

จากสภาพการณ์ความผันผวนรุนแรงของกระแสน้ำในแม่น้ำโขง ทำให้ระบบนิเวศของแม่น้ำเกิดความเสียหายอย่างหนัก ปลาจำนวนมากติดตื้นแห้งตาย ไม่สามารถว่ายน้ำขึ้นไปวางไข่ในฤดูน้ำหลากได้ จนสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงปีที่ผ่านมาเรายังได้เห็นปรากฎการณ์ที่แม่น้ำโขงเปลี่ยนสี จากสีปูนขุ่น กลายเป็นสีฟ้าคราม ซึ่งชี้ให้เห็นผลกระทบต่อการไหลของตะกอนจากการสร้างเขื่อนอย่างชัดเจน เนื่องจากน้ำใสปราศจากตะกอนดังกล่าวจะกัดเซาะพาเอาตะกอนออกจากตลิ่งและท้องน้ำเพื่อคืนสมดุลตะกอน นำไปส่การพังทลายของตลิ่งในที่สุด

จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบต่อเนื่องจากการสร้างและดำเนินการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่น้ำโขง กำลังทำให้ระบบนิเวศแม่น้ำโขง อันเป็นฐานทรัพยากรสำคัญที่อุ้มชูผู้คนหลายสิบล้านคน ตลอดสองฝั่งแม่น้ำใน 5 ประเทศ ใกล้ถึงจุดแตกหักเข้าไปทุกที จนอาจสร้างภัยร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต หากแต่ยังไม่มีทีท่าว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคจะทบทวนแผนการลงทุนเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่น้ำโขง และลงมือแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมจึงเลือกให้กรณีแม่น้ำโขงวิบัติให้เป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สาหัสที่สุดในปี พ.ศ. 2562 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้


https://greennews.agency/?p=19958

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม