ดูแบบคำตอบเดียว
  #10  
เก่า 05-12-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,359
Default


พระอัจฉริยภาพ ด้านบริหารจัดการน้ำ



การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี ในปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกส่วนใหญ่ทุกภาคของประเทศเป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝน และน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอตามที่พืชต้องการเป็นผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น ทรงให้ความสำคัญในลักษณะ "น้ำคือชีวิต" ดังพระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17มีนาคม 2529ความว่าตอนหนึ่งว่า

“...น้ำคือชีวิต หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้าไม่มีคนน้ำอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”

ดังนั้น จะเห็นว่าตลอดระยะเวลาแห่งการทรงงานในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายในการพระราชทานความช่วยเหลือราษฎรเหล่านั้น จนก่อเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนกว่า 3,000 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำกว่า 2,000 โครงการ ที่ได้สร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนในทั่วทุกภูมิภาค

สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มี 5 ประเภท

1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูก และอุปโภค บริโภค ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ และฝายทดน้ำ

2. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร

3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

4. โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม

5. โครงการบรรเทาอุทกภัย

อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรเป็นสำคัญ แต่ก็มีการพัฒนาแหล่งน้ำหลายโครงการที่มีวัตถุประสงค์หลายๆ อย่าง พร้อมกันไป โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริสามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติเป็นส่วนรวม ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว พอสรุปได้ดังนี้

1. ช่วยให้พื้นที่เพาะปลูกมีน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ช่วยให้ได้ผลิตผลมากขึ้น และสามารถทำการเพาะปลูกครั้งที่สองได้ เป็นการช่วยให้ราษฎร มีรายได้มากขึ้น

2. ในบางท้องที่เคยมีน้ำท่วมขัง จนไม่สามารถใช้ทำการเพาะปลูกได้ หรือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น บริเวณขอบพรุ ทำให้พื้นที่แห้งลงจนสามารถจัดสรรให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองเข้าทำกินได้ ช่วยให้ไม่ไปบุกรุกทำลายป่าหาที่ทำกินแห่งอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเป็นการช่วยรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรของชาติไว้ได้

3. เมื่อมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ ไว้ ก็มีการปล่อยพันธุ์ปลา ทำให้ราษฎรตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง สามารถมีปลาบริโภคภายในครอบครัว หรือเสริมรายได้ขึ้น

4. ช่วยให้ราษฎรมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่สะอาดอย่าง พอเพียงตลอดปี ทำให้ราษฎรมีสุขภาพพลานามัยดีขึ้น และยังช่วยให้มีแหล่งน้ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์ด้วย

5. บางโครงการจะเป็นประเภท เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตชุมชนเมืองใหญ่ เช่น กทม. และปริมณฑล ช่วยลดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐบาลเป็นอันมาก

6. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ จะช่วยให้ราษฎรที่อยู่ในป่าเขาในท้องที่ทุรกันดารได้มีไฟฟ้าใช้ สำหรับแสงสว่างในครัวเรือนได้บ้าง

7. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร อันเนื่อง มาจากพระราชดำริ โดยการสร้างฝายเก็บกักน้ำบริเวณต้นน้ำลำธาร เป็นชั้นๆ พร้อมระบบกระจายน้ำจากฝายต่างๆ ไปสู่พื้นที่สองฝั่งของลำธาร ทำให้พื้นดินชุ่มชื้น และป่าไม้ตามแนวสองฝั่งลำธาร เขียวชอุ่มตลอดปี ลักษณะเป็นป่าเปียกสำหรับป้องกันไฟป่าเป็นแนว กระจายไปทั่วบริเวณต้นน้ำ ลำธาร ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ไว้ต่อไป

โครงการแก้วิกฤตให้ราษฎร

ครั้งอดีตการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมุ่งเน้นเพียงการจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อให้มีน้ำต้นทุนเพียงพอใช้ในการประกอบกิจกรรมโดยไม่ขาดแคลน ส่วนการบริหารทรัพยากรน้ำในส่วนของการจัดการและการอนุรักษ์ถือเป็นเรื่องที่รองลงมา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยังไม่มีปัญหาเกิดขึ้นกับทรัพยากรน้ำที่เป็นต้นทุนเหล่านั้น

แต่เมื่อมาถึงกาลเวลาที่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวและการเติบโตของเมือง การเปลี่ยนแปลงภาวะสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในพื้นที่หลายๆแห่ง ดังเช่นพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยรอบ เฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯ มหานครที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ มีผู้คนจากทุกภูมิภาคหลั่งไหลเข้ามาทำงาน ศึกษาเล่าเรียน หรือประกอบกิจกรรมต่างๆ จากพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเป็นผืนนากว้างใหญ่แปรเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านจัดสรร ศูนย์การค้า โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งชุมชน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนสร้างปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ และปัญหาน้ำท่วมอันมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน จากพื้นที่ที่เคยใช้ทำนา สามารถรองรับน้ำเหนือหลากและน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ไว้ได้อย่างไม่สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับราษฎร

ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับราษฎร ซึ่งบางเรื่องราษฎรต้องประสบกับปัญหาอย่างหนักหน่วง และด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ให้กับราษฎรอย่างต่อเนื่อง อันเป็นที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ได้สรุปโครงการที่สำคัญๆ ให้ทราบดังนี้

โครงการแก้มลิง ได้ทรงเรียนรู้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์พระชนมายุ 5 พรรษา จากลิงในกรงที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเลี้ยงที่วังสระปทุม เอากล้วยไปให้เขากิน เขาจะเคี้ยวแล้วบางส่วนจะกลืนเข้าท้อง บางส่วนเก็บไว้ที่กระพุ้งแก้ม ถ้ามากเกินไปเขาจะคายออกมาไม่มากเกินไปหรือไม่น้อยเกินไป เขาจะรู้โดยสัญชาตญาณ กล้วยที่เก็บไว้ที่แก้มจะนำมาเคี้ยวและกลืนเข้าท้องอีกเมื่อหิว จึงเปรียบได้กับแก้มลิงเก็บน้ำ เช่นที่บึงหนองบอน จะต้องทราบว่าเก็บน้ำได้เท่าใด จะเก็บไว้ใช้ได้เท่าใด น้ำจะลงจากเหนือเท่าใด เพราะถ้าน้ำมากก็จะท่วม ต้องคายทิ้ง หรือเก็บตามแก้มลิงอื่นๆ แต่ถ้าน้ำท่วมน้อยแก้มลิงก็ไม่เต็ม น้ำไม่พอใช้ในฤดูแล้ง ดังนั้น จึงต้องทราบปริมาณน้ำที่ไหลมาแต่ละปี ปริมาณที่แก้มลิง (ทั้งหมด) จะเก็บได้ (และเมื่อเข้าฤดูแล้ง) จะต้องคาย (พร่อง) น้ำเท่าใด จะเก็บไว้ใช้เท่าใดต้องคำนวณให้ทราบ

ปริมณฑล กรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออกมีปัญหาการระบายน้ำไม่มากนัก เพราะมีการสร้างคันกั้นน้ำรอบกรุงเทพฯ มีคลองระบายน้ำจากด้านเหนือออกสู่ทะเล ริมทะเลมีเครื่องสูบน้ำออกทะเลจำนวนมาก มีประตูปิดเปิดน้ำ คลองทุกคลองที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ เช่น คลองบางซื่อ คลองสามเสน คลองบางลำพู และคลองพระโขนง เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2526 เรื่อยมา ปัจจุบันกรุงเทพฯได้เตรียมทำแก้มลิงไว้จำนวนมาก ราว 20 แห่ง พื้นที่ก็กว้างขวางกว่าเขตตะวันตก น้ำกระจายตัวได้มากกว่า

สำหรับสระเก็บน้ำพระราม 9 ระหว่างคลอง 5 และคลอง 6 ควรปล่อยน้ำออกมาบ้าง แต่ระดับน้ำตามคลองต่างๆคงจะสูงอยู่ก็ต้องหาทางระบายให้ลดลงบ้างพยายามให้ระบายออกเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ด้านตะวันตกระบายน้ำมาจากกรุงเทพฯ ถ้าปล่อยมาทั้งหมดจะท่วมเมืองสมุทรสาคร จึงต้องใช้คลองสนามชัย และคลองมหาชัย เป็นแก้มลิง และหาทางระบายน้ำออกทะเลให้มากที่สุด แต่ก็ยังไม่พอ น้ำยังไหลไปสมุทรสาครได้ อยากให้หาทางระบายน้ำออกทะเลให้มากกว่านี้ นอกจากนั้นน้ำที่ระบายออกไปยังไหลกลับมาทางเหนือได้อีก ให้มีการคำนวณว่าน้ำไหลออกไปเท่าใด ไหลกลับมาเท่าใด ไหลลงทะเลเท่าใด อยากให้ทราบปริมาณ และอยากให้ไหลลงทมะเลให้หมดทางด้านประตูของชลประทานรู้สึกว่าจะได้ผล ขอให้มีการประสานการบริหารจัดการระหว่างกรมชลประทาน กรุงเทพมหานครและสมุทรสาคร ให้ระบายน้ำออกทางเดียวกัน

แม่น้ำเจ้าพระยาก็เช่นเดียวกันที่คลองลัดโพธิ์ อำเภอพระประแดง น้ำเมื่อปล่อยลงไปแล้ว ต้อง(บริหารจัดการ) ไม่ให้ย้อนกลับมาอีก น้ำขึ้นมาต้องให้ไปอยู่ช่วงกระเพาะหมู หรือคลองเตย ซึ่งมีระยะทางถึง 17 กิโลเมตร อย่าให้ขึ้นไปด้านเหนืออีก จะทำให้ป้องกันน้ำท่วมได้มาก ลักษณะลำน้ำที่เหมือนกระเพาะหมูยังมีอีกหลายแห่งต้องช่วยกันดูแลนำมาใช้ประโยชน์

กล่าวได้ว่างานพัฒนาแหล่งน้ำนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำทุกอย่างทุกขั้นตอน ดังที่ ปราโมทย์ ไม้กลัด เล่าให้หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งฟัง เมื่อวันที่ 5-10 ตุลาคม 2538 ดังนี้

“...งานของพระองค์ท่านมีตั้งแต่ ถ้าขาดแคลน ก็จัดหาน้ำ และเมื่อน้ำท่วม น้ำมากก็จัดการบรรเทาให้น้อยลง เมื่อมีน้ำเน่าเสีย ก็ต้อองมีการจัดการทำงานด้านน้ำทั้งหมด ท่านจะทราบปัญหาอย่างละเอียด...”




จาก ................... ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ วันที่ 2 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม