ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 15-07-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,204
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


โลกยังร้อนไม่หยุดแม้เจอโควิด ย้ำนานาชาติเร่งลดปล่อยคาร์บอน ก่อนหลุดเป้าความตกลงปารีส ................ โดย ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

นักภูมิอากาศเตือน โลกเสี่ยงพลาดเป้าหยุดสภาวะโลกร้อนตามความตกลงปารีส และอาจต้องเผชิญกับผลกระทบใหญ่หลวงจากภัยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศแบบสุดขั้ว หลังองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) คาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกยังคงมีแนวโน้มไต่ระดับสูงขึ้น จนอาจพุ่งทะลุเส้นตายคุมโลกร้อนที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2563 WMO เปิดเผยรายงานการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกช่วงระหว่างปี พ.ศ.2563 ? พ.ศ.2568 ซึ่งชี้ว่า สภาวะโลกร้อนจะยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยในขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกได้เพิ่มขึ้นถึงระดับ 1 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว และคาดว่าภายในไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจได้เห็นอุณหภูมิของโลกทะยานขึ้นในระดับ 0.91 ? 1.59 องศาเซลเซียส ทะลุกรอบเส้นตายการควบคุมสภาวะโลกร้อนตามเป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ตั้งเป้าควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส


ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นกลุ่มควันไฟพวยพุ่งจากทุ่งทุนดราที่กำลังถูกไฟป่าเผาผลาญ บริเวณแม่น้ำ Berezovka ในประเทศรัสเซีย //ขอบคุณภาพจาก: Maxar Technologies

จากการประเมินปัจจัยผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ ตลอดจนปัจจัยด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ส่งอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศโลก โดยใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ชั้นนำ ทีมนักอุตุนิยมวิทยาชี้ว่า ในระหว่างช่วง 5 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มประมาณ 70% ที่อุณหภูมิเฉลี่ยในบางช่วงเดือนจะมีอุณหภูมิสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มราว 20% ที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีจะมีอุณหภูมิสูงแตะระดับ 1.5 องศาเซลเซียส นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขนานใหญ่ทั่วโลก

Petteri Taalas เลขาธิการ WMO กล่าวว่า ผลการพยากรณ์ดังกล่าวได้ย้ำเตือนถึงความท้าทายใหญ่หลวงของประชาคมโลกในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกภายในศตวรรษนี้ ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส

"แม้ว่าอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงระหว่างการระบาดไวรัส COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงปีนี้ลดต่ำลงด้วย อย่างไรก็ดี WMO ย้ำเตือนว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่สามารถทดแทนการดำเนินมาตรการแก้ไขโลกร้อนอย่างเป็นระบบได้ เนื่องจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ชั่วคราวจากผลพวงการระบาดไวรัส COVID-19 ไม่สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในชั้นบรรยากาศ ที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนได้" Petteri ระบุ

"ในขณะที่ปีนี้เราได้เห็นพิษภัยของไวรัส COVID-19 ที่ก่อให้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจไปทั่วโลก ผลพวงจากความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งส่งผลกระทบใหญ่หลวงและยาวนานต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก ดังนั้นประชาคมโลกจึงควรใช้โอกาสนี้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน เพื่อให้เราสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมหลังวิกฤต COVID-19 ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน"


กราฟสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยเดือนพฤษภาคมของโลก แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิของโลกกำลังทะยานสูงขึ้นจนเข้าใกล้จุดอันตรายที่ 1.5 องศาเซลเซียส //ขอบคุณภาพจาก: NASA GISS Data

ในขณะที่ Niklas Hagelberg ผู้ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวย้ำว่า ผลการพยากรณ์ที่ชี้ถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาวงการวิทยาศาสตร์ได้แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงสภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นแทบทุกๆ ปี อย่างไรก็ดี เราได้เรียนรู้บทเรียนราคาแพงจากวิกฤตการระบาดไวรัส COVID-19 ทั่วโลกในปีนี้ว่า มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพิงความมั่นคงของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์อย่างยิ่ง

"วิกฤตการระบาดไวรัส COVID-19 เปิดโอกาสให้มนุษยชาติได้ตั้งคำถามต่อระบบต่างๆ ที่ขับเคลื่อนสังคมของเรา ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งที่เราจะกลับมาทบทวนระบบเศรษฐกิจและสังคมโลก เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางการพัฒนาที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน" Niklas กล่าว

UNEP อธิบายว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการป้องกันผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้ว เพราะเมื่ออุณหภูมิโลกขยับขึ้นไปถึง1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อนรุนแรง สร้างความเสียหายอย่างประเมินค่ามิได้ต่อทั้งระบบนิเวศ สังคม และความเป็นอยู่ของมนุษย์

"มีการศึกษาและงานวิจัยวิทยาศาสตร์จำนวนมากยืนยันว่า หากโลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้แนวปะการังทั่วโลกกว่า 70% ฟอกขาว, ภัยพิบัติเกี่ยวกับสภาพอากาศจะยิ่งเกิดถี่และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น, นอกจากนี้ ถิ่นที่อยู่อาศัยครึ่งหนึ่งของประชากรแมลงจะถูกทำลาย ส่งผลกระทบต่อพืชที่พึ่งพิงแมลงผสมเกสร และนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนอาหารในที่สุด" UNEP ระบุ


แผนภาพเปรียบเทียบอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในเดือนพฤษภาคมปีนี้ กับค่าเฉลี่ยมาตรฐาน แสดงให้เห็นว่าโลกกำลังร้อนขึ้นอย่างชัดเจน //ขอบคุณภาพจาก: UN Environment

UNEP ยังรายงานอีกว่า ปี พ.ศ.2563 ยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งในปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการตรวจวัด โดยระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพุ่งสูงจนทำลายสถิติเดือนพฤษภาคมที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ในขณะที่เดือนมิถุนายนนี้ก็ร้อนไม่แพ้กัน และรั้งตำแหน่งเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดเป็นลำดับสอง สภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติช่วงเดือนมิถุนายนในแถบขั้วโลกเหนือยังก่อให้เกิดไฟป่าครั้งร้ายแรง เผาไหม้ทุ่งทุนดราในแถบไซบีเรียเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณกว่า 59 เมกกะตัน ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เสริมให้อุณหภูมิโลกยิ่งสูงขึ้น

แนวโน้มสภาพอากาศทั่วโลกที่ร้อนขึ้นอย่างผิดปกติในปีนี้ สอดคล้องกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงที่ทำลายสถิติสูงสุดอีกครั้ง จากการตรวจวัดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ สถานีตรวจวัดบนยอดเขา Mauna Loa โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NOAA) ซึ่งพบว่าค่าเฉลี่ยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศในวันดังกล่าวพุ่งสูงถึง 418.32 ppm

ในขณะที่ในปีนี้ ประเทศไทยก็เผชิญกับสภาพอากาศร้อนผิดปกติเช่นกัน จากการเก็บข้อมูลสถิติสภาพภูมิอากาศทั่วโลก โดย Maximiliano Herrera นับตั้งแต่เริ่มวันขึ้นปีใหม่ จนถึงวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยในของประเทศไทยในเดือนมีนาคม และเดือนมิถุนายน ได้พุ่งสูงจนทำลายสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนสูงสุดเท่าที่เคยมีการตรวจวัด


https://greennews.agency/?p=21389

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม