ดูแบบคำตอบเดียว
  #6  
เก่า 30-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,355
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


เปิดแผนที่ฉบับสมบูรณ์ "ซีแลนเดีย" ทวีปสาบสูญและทวีปที่ 8 ของโลกเป็นครั้งแรก


The continent of Zealandia
ซีแลนเดียมีพื้นที่กว่า 5 ล้านตารางกิโลเมตร


อริสโตเติล เอราโตสเทแนส ปโตเลมี เคยให้คำอธิบายถึงทวีปแห่งที่ 8 ของโลกเอาไว้ แม้จะถูกครหาว่าเป็นเพียง "ทวีปในจินตนาการ" ส่วนนักเขียนแผนที่แห่งนาลอส ขนานนามทวีปแห่งนี้ไว้ว่า เทอร์รา ออสตราลิส อินค็อกนิตา หรือในภาษาละตินที่แปลว่า "ดินแดนปริศนาทางใต้"

ชาวกรีกยุคโบราณเชื่อว่า ทวีปแห่งนี้น่าจะอยู่อีกฟากของโลก ตามหลักความสมมาตรทางเรขาคณิต

เมื่อปี 1642 อาเบล ทาสแมน นักเดินเรือชาวดัตช์มากประสบการณ์ ออกเดินทางไปในซีกโลกใต้เพราะเชื่อมั่นเหลือเกินว่าต้องมีทวีปขนาดใหญ่ที่ยังไม่มีใครค้นพบ

เขาไปได้ไกลสุดแค่เกาะนิวซีแลนด์ และเกิดการปะทะต่อสู้กับชนเผ่าเมารี เป็นเหตุให้ชาวยุโรปเสียชีวิตไป 4 ราย นั่นเป็นจุดจบของการเดินทางในครั้งนั้น และเขาไม่ได้แม้แต่ลงไปเหยียบบนเกาะนิวซีแลนด์

จากวันนั้น ผ่านมา 375 ปี ก่อนที่โลกจะสามารถยืนยันการดำรงอยู่ของทวีปแห่งที่ 8 ของโลก ที่เรียกว่า "ซีแลนเดีย" ได้

หากมองผิวเผิน จะมองไม่เห็นทวีปแห่งนี้ เพราะพื้นที่กว่า 94% อยู่ใต้น้ำ แต่ล่าสุด ได้มีการวาดภาพแผนที่ทวีปที่ชาวเมารีเรียกว่า "เตรีอู อามาวอี" เรียบร้อยแล้ว

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันจีเอ็นเอส ไซแอนส์ (GNS Science) ได้วาดแผนที่อย่างละเอียด แสดงถึงเขตแดนของทวีปซีแลนเดีย ต่อยอดจากการตรวจสอบตัวอย่างก้อนหินที่ขุดลอกขึ้นมาจากใต้พื้นทะเล โดยผลการศึกษานี้ ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารเทคโทนิกส์

ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังได้เปิดเผยขนาดพื้นที่บนพื้นผิวทวีปว่าอยู่ที่ 5 ล้านตารางกิโลเมตร

แล้วการที่ซีแลนเดีย ซึ่งจมอยู่ใต้มหาสมุทรเกือบทั้งหมด ได้รับการยอมรับว่าเป็นทวีปได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องตอบด้วยหลักธรณีวิทยา

จุดเริ่มต้นของทวีปซีแลนเดีย มีความเชื่อมโยงกับมหาทวีปโบราณกอนด์วานา ที่แตกย่อยออกมาเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน กำเนิดเป็นทวีปต่าง ๆ ที่เรารู้จักในทุกวันนี้

ซีแลนเดีย แยกตัวออกมาจากมหาทวีปกอนด์วานา เมื่อราว 80 ล้านปีก่อน แต่ความแตกต่างของซีแลนเดียกับทวีปใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นแอนตาร์กติกาและออสเตรเลีย (โอเชียนเนีย) ก็คือดินแดนส่วนใหญ่ของซีแลนเดียยังจมอยู่ใต้ทะเล

ส่วนเดียวของทวีปที่ปรากฏให้เห็นเหนือผิวทะเล คือหมู่เกาะนิวซีแลนด์ นิวแคลิโดเดนีย (ดินแดนของฝรั่งเศส) รวมถึงเกาะลอร์ด ฮาว ไอส์แลนด์ และเกาะบอลส์พีระมิด ของออสเตรเลีย

ด้วยเหตุที่ทวีปซีแลนเดียอยู่ใต้ทะเล ทำให้มีการศึกษาเกี่ยวกับทวีปนี้ค่อนข้างกระจัดกระจาย ส่งผลให้การประเมินรูปร่างและขอบเขตของมันไม่ชัดเจน กระทั่งไม่นานมานี้ ก็ยังมีการวาดแผนที่ได้สำเร็จเฉพาะส่วนใต้ของทวีปเท่านั้น

นักธรณีวิทยา นิค มอร์ติเมอร์ เป็นผู้นำการศึกษานี้ และได้เดินหน้าวาดแผนที่ทวีปซีแลนเดียส่วนที่เหลืออีก 2 ใน 3 "การศึกษานี้ทำให้การทำแผนที่ผืนดินและพื้นที่นอกชายฝั่ง รวมพื้นที่ 5 ล้านตารางกิโลเมตร เสร็จสมบูรณ์" ผลการศึกษาระบุ

ทีมนักธรณีวิทยาและนักแผ่นดินไหววิทยา ได้ศึกษาตัวอย่างหินที่ขุดลอกขึ้นมาจากใต้พื้นทะเล ตะกอนที่ได้จากการเจาะพื้นทะเล และตัวอย่างหินและตะกอนที่พบตามแนวชายฝั่ง

นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์และสืบอายุของหินบะซอลต์ หินกรวด และหินทราย โดยพวกเขาค้นพบว่า หินทรายที่ได้จากทวีปซีแลนเดีย มาจากยุคครีเทเชียสตอนปลาย เมื่อประมาณ 95 ล้านปีก่อน ไม่เพียงเท่านั้น ทวีปซีแลนเดียยังมีหินคอบเบิลแกรนิต และหินกรวดภูเขาไฟจากยุคครีเทเชียสตอนต้น (130-110 ล้านปีก่อน) ส่วนหินบะซอลต์นั้น มีอายุย้อนไปถึงยุคอีโอซีน เมื่อ 40 ล้านปีก่อน

การตรวจสอบอายุของก้อนหิน และการตีความค่าผิดปกติของสนามแม่เหล็ก ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สร้างแผนที่พื้นที่ทางธรณีวิทยาขนาดใหญ่ทั่วทวีปซีแลนเดียตอนเหนือออกมาได้

นับแต่การค้นพบที่มีการบันทึกเอาไว้โดย อาเบล แทสแมน เมื่อปี 1942 ผู้ซึ่งต่อมาได้มอบชื่อของเขาไปตั้งชื่อเกาะที่เรียกว่า แทสแมเนีย ด้วย นักสำรวจและนักวิทยาศาสตร์มากมายที่พยายามตามหาทวีปซีแลนเดียได้เดินทางผ่านผืนน้ำเหนือทวีปแห่งนี้ โดยไม่รู้ตัวเลยว่าสิ่งที่พวกเขากำลังตามหาอยู่ใต้ทะเลลงไปนั่นเอง

คำบอกใบ้แรกว่าทวีปซีแลนเดียมีอยู่จริงมาจากนักธรรมชาติวิทยาชาวสกอตแลนด์ เซอร์ เจมส์ เฮคเตอร์ เขาเข้าร่วมการเดินเรือสำรวจเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไปจากชายฝั่งทางใต้ของเกาะนิวซีแลนด์ในปี 1985

หลังจากศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาของเกาะต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว เขาสรุปว่า นิวซีแลนด์ "เป็นสิ่งที่หลงเหลือของเทือกเขาที่ก่อตัวเป็นยอดของบริเวณทวีปขนาดใหญ่ที่เหยียดยาวจากทิศใต้ไปจนถึงทิศตะวันออก ซึ่งตอนนี้จมน้ำอยู่..."

จนกระทั่งในปี 1995 นักธรณีฟิสิกส์ชาวอเมริกัน บรูซ ลูเยนดิค ออกมาย้ำอีกครั้งว่าบริเวณดังกล่าวถือเป็นทวีป และก็เรียกมันว่าซีแลนเดีย

โดยปกติเปลือกโลกในส่วนที่เป็นพื้นทวีปมักมีความหนาประมาณ 40 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าหนากว่าเปลือกโลกในส่วนที่เป็นมหาสมุทร ซึ่งอยู่ที่ราว 10 กิโลเมตร

แต่ด้วยการบีบอัด ทำให้ซีแลนเดียยืดขยายออกไปอย่างมาก จนเปลือกทวีปลดความหนาลงเหลือเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น

จนในที่สุด ทวีปที่เปลือกโลกค่อนข้างบางแห่งนี้ก็ได้จมลงใต้มหาสมุทร แม้จะไม่ได้จมลึกเท่ากับเปลือกโลกมหาสมุทรทั่วไป แต่ก็อันตรธานหายไปใต้ทะเล

นักวิทยาศาสตร์โต้แย้งว่า ความหนาของเปลือกโลกของซีแลนเดีย และประเภทของก้อนหินที่พบ ทำให้ถือได้ว่ามันเป็นทวีป

ทั้งนี้ เรื่องนี้มีความสำคัญมากกว่าแค่ความสนใจทางวิทยาศาสตร์

เนื่องจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea) บอกว่า ประเทศต่าง ๆ สามารถขยายพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไปไกลกว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตัวเอง (200 ไมล์ทะเล หรือ 370 กม. จากชายฝั่งประเทศ) ได้ เพื่อเข้าครอบครอง "ไหล่ทวีปส่วนที่ขยายออกไป" ซึ่งหมายถึงการครอบครองแหล่งสินแร่และน้ำมันในพื้นที่ด้วย

ดังนั้น หากนิวซีแลนด์สามารถพิสูจน์ได้ว่า นิวซีแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของทวีปที่มีขนาดใหญ่กว่า นั่นหมายความว่า นิวซีแลนด์จะสามารถขยายขอบเขตดินแดนไปได้จากปัจจุบันถึง 6 เท่า และนั่นหมายถึงงบประมาณเพื่อการสำรวจทางทะเลที่มากขึ้นด้วย


https://www.bbc.com/thai/articles/c99qr14lp1do

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม