ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 26-03-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,110
Default

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


ลด ละ เลิก พฤติกรรมทำโลกร้อน



จากบทความที่แล้วได้นำเสนอเรื่องราวของ ปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเกิดขึ้นจากการผันแปร เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยมีเหตุจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น

อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น มาจากการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศโลกที่มีก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง (Greenhouse effects) เก็บกักรังสีความร้อนจากผิวโลก แล้วคายรังสีความร้อนกลับลงมาทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยก๊าซเรือนกระจก ประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไซด์ ก๊าซโอโซน สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน และฮาโลคาร์บอน โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซที่มีความเข้มข้นสูงสุดในชั้นบรรยากาศ ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า ในปี 2018 ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ อยู่ที่ 407.8 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) สูงกว่าปี 2017 ซึ่งอยู่ที่ 405.5 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm)


ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากไหน?

ทุกกิจกรรมในชีวิตของมนุษย์ต่างก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ อาทิ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง การผลิตในภาคอุตสาหกรรม กระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้า เมื่อความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามเป็นต้น

ในชีวิตประจำวัน เราสามารถลดละการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างไรบ้าง


1. ร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว-ลดการเผาป่า

เพราะต้นไม้จะดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาปรุงเป็นอาหารต้นไม้ 1 ต้น จะเก็บก๊าซคาร์บอนอยู่ในเนื้อไม้ประมาณ 50% เช่น ถ้าปลูกไผ่รวก 1 ต้น แล้วเติบโตจนกระทั่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอก 130 เซนติเมตร ไผ่รวกต้นนี้จะมีปริมาณกักเก็บคาร์บอนได้ 7,146.25 กิโลกรัม

การเผาป่า เผาพื้นที่เกษตร นอกจากจะสร้างมลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังทำลายป่าซึ่งเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญอีกด้วย


2. ลดขยะ-ลดก๊าซเรือนกระจก

ข้อมูลจากสรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561 โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า คนไทยสร้างขยะอยู่ที่ 1.15 กิโลกรัม/คน/วัน เพิ่มขึ้น0.02 กิโลกรัม จากปี 2560ซึ่งอยู่ที่ 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน เฉพาะในกรุงเทพฯ มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นกว่า 4.85 ล้านตัน แต่มีขยะที่คัดแยกนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 0.92 ล้านตัน หรือ 19% ของปริมาณขยะในกรุงเทพฯ ส่วนจำนวน 3.93 ล้านตันที่เหลือนำไปฝังกลบ โดยหลุมฝังกลบขยะ เป็นแหล่งกำเนินของก๊าซมีเทนที่มีศักยภาพจะทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

หยิบเอากฎ 3R มาใช้เพื่อจัดการขยะในชีวิตประจำวัน คือ Reduce ลดปริมาณการสร้างขยะใหม่ Reuse นำกลับมาใช้ซ้ำ เช่น ถุงพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ได้หลายครั้ง ขวดแก้วที่สามารถล้างทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่และRecycle คัดแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ออกมาล้างทำความสะอาดเพื่อส่งกลับเข้าระบบรีไซเคิล เช่น กระป๋อง ขวดน้ำพลาสติก กล่องนม เพื่อให้ขยะเหล่านี้ไม่ถูกฝังกลบไปอย่างสูญค่า


3. ลดใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่จำเป็น หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์

เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดไฟฟ้า เบอร์ 5 บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรเลือกขนาดเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน หันมาใช้ไฟฟ้าผ่านพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด


4. ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ตรวจสภาพรถอยู่เสมอ

การใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยเฉพาะรถเครื่องยนต์ดีเซล ปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 2.7 กิโลกรัม ต่อลิตร ขณะที่เครื่องยนต์เบนซินจะปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ประมาณ 2.3 กิโลกรัมต่อลิตร ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวอาจเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เช่น แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าดูแลรักษาเครื่องยนต์ หรือหันมาใช้บริการขนส่งมวลชน

ด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) แม้จะช่วยในแง่ของการลดมลพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แต่ขณะเดียวกันยังมีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของแบตเตอรี่ลิเทียมที่ยังต้องหาทางออก


5. ร่วมมือประหยัดน้ำ และจัดการน้ำเสีย

ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ คือ ผลกระทบจากเอลนีโญ เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต การหันมาให้ความสำคัญกับคุณค่าของน้ำ โดยใช้น้ำประปาเท่าที่จำเป็น อาทิ การปิดน้ำขณะฟอกสบู่ ตอนถูแชมพูขณะสระผม หรือตอนที่ถูสบู่ขณะล้างมือ ไม่เปิดน้ำทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์จะสามารถประหยัดน้ำไปคนละ 9 ลิตร ต่อ 1 นาที เพื่อสงวนทรัพยากรน้ำไว้ใช้ยามขาดแคลน

นอกจากนี้ยังต้องร่วมบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการอุปโภคด้วยเพราะน้ำเสียก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ถ้าทุกครัวเรือนร่วมกันบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นก่อนปล่อยออกสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะจะสามารถช่วยเหลือสภาพแวดล้อมโดยรวม

ประเทศไทยซึ่งถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องหันมาดูแลสภาพแวดล้อมอย่างจริงจัง ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ลดการอุปโภค บริโภคทรัพยากรที่ไม่จำเป็นเริ่มตั้งแต่วันนี้ เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ให้เลวร้ายมากไปกว่านี้


https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_3821008

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม