ดูแบบคำตอบเดียว
  #7  
เก่า 03-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


"วาฬ-ช้าง-เต่า-พะยูน" สูญนับร้อยชีวิต



ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียสัตว์ป่า สัตว์ทะเล มากมายหลายชนิดและจำนวนมาก โดยเฉพาะสัตว์ตัวโตอย่าง ช้าง วาฬบรูด้า พะยูน เต่าทะเล ทั้งที่ตายเอง กับถูกมนุษย์ทำให้ตาย สร้างความบอบช้ำให้กับธรรมชาติจนกลายเป็นความสูญเสีย


"มาเรียม" กระตุกสำนึกรักทะเล

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) แจ้งว่า ตลอดปีนี้ "พะยูน" ตายไปแล้ว 23 ตัว ตัวเลขดังกล่าว ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า มากที่สุดในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2539 ที่พบพะยูนตายมากถึง 24 ตัว

การสูญเสียพะยูนมากผิดปกติ อาจส่งผลต่อจำนวนของพะยูนในอนาคต แต่ที่สร้างความทรงจำและสะเทือนใจมากที่สุดในปี 2562 ก็คือ ?พะยูนมาเรียม? ที่พลัดหลงแม่มาเกยตื้นบริเวณอ่าวทึง ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ในเดือน เม.ย.


ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามส่งมาเรียมกลับสู่ท้องทะเลครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่สำเร็จ เจ้าหน้าที่ตัดสินใจเคลื่อนย้ายมาเรียมไปอนุบาลในพื้นที่ธรรมชาติ ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง

ด้วยความน่ารักและขี้อ้อน ทำให้มาเรียมกลายเป็นขวัญใจคนไทยเกือบทั้งประเทศที่เฝ้าติดตามผ่านกล้อง CCTV


พบซากขยะเต็มท้อง

กว่า 4 เดือนที่มาเรียมฝึกใช้ชีวิตในทะเลเปิด ภายใต้การดูแลของทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่คอยป้อนนม สอนกินหญ้าทะเล และพาว่ายน้ำกับเรือแม่ส้มในทุกๆ วัน หวังปรับพฤติกรรมให้เข้ากับธรรมชาติ กระทั่งมาเรียมเจอพะยูนตัวโตเต็มวัยเข้ามาคุกคาม จนทำให้มีภาวะเครียด เจ็บป่วย และจากไปในเดือน ส.ค.

ผลการตรวจซากมาเรียม พบเศษถุงพลาสติกหลายชิ้นในทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ช็อกตายในที่สุด แต่การตายของมาเรียมไม่สูญเปล่า กลับปลุกกระแสให้สังคมเห็นความสำคัญของปัญหาขยะทะเลที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง


"วาฬบรูด้า" สัตว์ทะเลอีกชนิด ที่จบชีวิตลงในทะเลไทยมากถึง 3 ตัว ในปีเดียว แม้ล่าสุดมันได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประเมินว่า ในทะเลไทยมีพวกมันเพียง 50-70 ตัว


ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

"เจ้าปิ่น" วาฬบรูด้าตัวเมีย อายุประมาณ 2 ปี ลำตัวยาว 10.5 เมตร พบครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2560 ผ่านมาเพียง 2 ปี พบมันตายในทะเลอ่าวไทยตอนบน บริเวณบ้านแหลม จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 28 พ.ค.

ผลตรวจพบรอยอวนบาดตามลำตัวหลายแห่ง และกระแทกของแข็งไม่มีคมอย่างรุนแรง แต่ไม่พบขยะหรือเศษพลาสติกในท้อง สัตวแพทย์สันนิษฐานว่า เจ้าปิ่นน่าจะเข้ามาหากินและโชคร้ายติดอวนจากเรือประมง จนจมน้ำตาย

ส่วนวาฬอีก 2 ตัว ตายเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ตัวแรกเป็นวาฬตัวผู้ ความยาว 8.30 เมตร พบบริเวณป่าโกงกาง อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ สภาพซากเน่า ส่วนกะโหลกหายไป สรุปสาเหตุการตายไม่ได้

และอีกตัวก็เป็นเป็นตัวผู้ ความยาว 10.8 เมตร พบที่ทะเล จ.สุราษฎร์ธานี สภาพซากสมบูรณ์ แต่ส่วนหัวและหางพบรอยช้ำ คาดว่าอาจถูกอวนประมง หรือกะะแทกของแข็ง แต่ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุตายได้

ยังนับว่าโชคดีอยู่บ้าง ปลายปี 2562 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก พบวาฬบรูด้าคู่แม่ลูก เข้ามาหากินบริเวณชายฝั่ง ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ตรวจสอบอัตลักษณ์จากภาพถ่าย พบว่าเป็น "แม่วันดี" และลูกน้อยตัวใหม่ โดยนับเป็นลูกตัวที่ 3 ของแม่วันดี


"เต่าทะเล" ก็ตายลงมากเช่นกัน โดยข้อมูลจากศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ พบว่า เพียง 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.2562) พบเต่าเกยตื้นตายและยังมีชีวิต รวม 10 ตัว บางตัวติดเครื่องมือประมง บางตัวพบขยะพลาสติดในระบบทางเดินอาหาร และบางตัวป่วยตายธรรมชาติ

ล่วงมาถึงปลายปีสถานการณ์ไม่ดีขึ้น พบว่ามีเต่าทะเลตายเพิ่มอีกหลายตัว ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อ้างอิงการรายงานสัตว์ทะเลเกยตื้นของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่า ในช่วงเวลาเพียง 2 วัน (7-8 ธ.ค.2562) มีเต่าเกยตื้นตายมากถึง 13 ตัว เกือบทั้งหมดตายเพราะขยะทะเล



แม้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า เต่าทะเลเกยตื้นตายในปี 2562 จริงๆ มีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ แต่ภาพรวมสถานการณ์ตลอดทั้งปี พอจะประเมินได้ว่ามีมากกว่า 400 ตัว


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม