ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 07-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


คนกรุงฯ เสี่ยงเจอวิกฤตฝุ่น PM 2.5 อีกระลอก 7-10 ม.ค.นี้



วิกฤตฝุ่นพิษ PM 2.5 จ่ออีกระลอก กรมควบคุมมลพิษเตือน 7-10 ม.ค.นี้ เตรียมรับมือ เหตุความกดอากาศต่ำ บวกปริมาณรถยนต์วิ่งกว่าวันละ 10 ล้านคันใน กทม. ย้ำขอความร่วมมือคนกรุงฯ ลดใช้รถยนต์ส่วนตัว เพราะเป็นแหล่งต้นกำเนิดฝุ่นกว่าร้อยละ 75 วอนลดเผาพื้นที่โล่งแจ้ง

สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 เริ่มกลับมาเป็นปัญหาอีกระลอก ตามที่กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ โดยบรรยากาศจากจุดชมวิว ชั้น 84 ตึกใบหยกช่วงบ่ายวันนี้ (6 ม.ค.2563) แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ฝุ่นฟุ้งกระจายหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร

สอดคล้องกับข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ที่พบว่า วันนี้ปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน 15 พื้นที่ อยู่อยู่ในเกณฑ์ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากสถานีตรวจวัดที่มี 23 แห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ย่านใจกลางเมือง


12 หน่วย ถกแผนแก้ปัญหาฝุ่นร่วมกัน

ขณะช่วงบ่ายวันนี้ (6 ม.ค.63) มีการประชุมติดตามความก้าวหน้า "การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง" โดยมีนายนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นประธานประชุม ร่วมกับ 11 หน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพลังงาน, กรุงเทพมหานคร และ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ที่ได้ดำเนินการกันไปหลังจากตคั้งคณะอนุทำงานแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 จนถึงปัจจุบัน


3 ปัจจัยเสี่ยง เผชิญฝุ่นพิษ อีกระลอกสัปดาห์นี้

ในที่ประชุม ได้สรุปสถานการณ์ โดยมีข้อมูลพบว่า 3 ปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และ จังหวัดต่างๆ ยังต้องเสี่ยงต่อสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 มาจากแหล่งต้นกำเนิด 3 ส่วน คือ รถยนต์ , การเผาที่โล่แจ้ง และ สภาพความกดอากาศต่ำในสัปดาห์นี้ โดย คพ. ได้จ้างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) วิจัยพบว่า "รถยนต์" เป็นพาหนะที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษมากที่สุดร้อยละ 75.4 โดยนายประลอง ระบุว่า แต่ละวันในกรุงเทพมหานคร มีปริมาณรถยนต์สัญจรผ่านกว่าวันละ 10 ล้านคัน ซึ่งปัญหาที่เคยเกิดวิกฤตฝุ่นเมื่อช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 62 ทางกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกันหลายหน่วยงาน ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงการขอความร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้องลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่ปัจจุบันถือว่า ยังไม่สำเร็จ แม้เคยขอความร่วมมือแล้วก็ตาม



ส่วนมาตรการลดการเผาในที่โล่งแจ้ง ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมา คพ.ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ให้แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดลดการเผาไหม้ในพื้นที่โล่งแจ้ง และเคยขอให้ฝ่ายเกี่ยวข้องบังคับใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อเอาผิดกับผู้ก่อมลภาวะ ขณะที่การเผาไหม้ในกรุงเทพมหานคร ก็ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งและกำชับผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขตเพื่อขอให้ช่วยกันรับผิดชอบแต่ละพื้นที่ เพื่อลดการเผาไหม้ ซึ่งปลายปีที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือด้วยดี ส่วนพื้นต่างจังหวัดก็ได้รับความร่วมมือและเอาจริงเอาจังเช่นกัน แต่ก็เริ่มมีปรากฎการณ์เผาไหม้เกิดขึ้นอีกในช่วงต้นปีมานี้ ก็ยังต้องขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยกันดูแลพื้นที่ของตัวเอง

ขณะที่ความกดอากาศต่ำ ที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ จากการประชุมร่วมกันครั้งนี้ มีการประเมินว่า จะส่งผลทำให้ฝุ่นเกิดการสะสมในอากาศนิ่งมากขึ้น เมื่อรวมกับฝุ่นที่ประชาชนต้องเผชิญในชีวิตประจำวันจากปริมาณรถยนต์ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จะยิ่งทำให้สถานการณ์ฝุ่นที่ขณะนี้ก็สูงเกินค่ามาตรฐานอยู่แล้วถึง 15 พื้นที่ ยิ่งเพิ่มสูงและสะสมนานขึ้นอีก ในระหว่างวันที่ 7-10 มกราคม 63 นี้


ฝุ่นโรงงานดีขึ้น - ฝุ่นก่อสร้างต้องจับตา

ส่วนส่วนปัญหาจาก "โรงงาน" ที่ 3 เดือนก่อน เคยเป็นหนึ่งในแหล่งต้นกำเนิดฝุ่นด้วยเช่นกัน แต่ล่าสุดจาการติดตามสถานการณ์ครั้งนี้ , มาตรการการลดการเผาไหม้จากโรงงานไม่ได้สร้างปัญหา ส่วนหนึ่งเท่าที่กรมโรงงานรายงาน เป็นเพราะการลดใช้เชื้อเพลิง และอีกส่วนมาจากการลดสัดส่วนกำลังการผลิตจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนักของผู้ประกอบการ แต่ก็ยังต้องอยู่ในช่วงเฝ้าระวังและแจ้งข้อมูลให้โรงงานต่างๆ เข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ปริมณฑล เช่น จ.สมุทรปราการ และ จ.สมุทรสาคร

สำหรับโครงการก่อสร้าง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายเส้นทาง รวมถึงงานก่อสร้างที่พักอาศัยจากการลงทุนของบริษัทต่างๆ ได้กำชับให้ผู้อำนวยการเขตในกรุงเทพมหานคร คุมเข้มการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐาน ที่ต้องมีมาตรการป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจายจากการก่อสร้าง ในช่วงที่ปีนี้ (2563) ยังมีความจำเป็นที่ยังต้องเดินหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า และงานก่อสร้างต่างๆ ซึ่งแต่ละบริษัทจะรับทราบหลักเกณฑ์ที่ต้องปฎิบัติตามหลักรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่แล้ว แต่ขอให้แต่ละสำนักงานเขตเข้มงวดให้มากขึ้น รวมถึงเชื่อว่า ตัว พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็มีแนวทางการลดมาตรการฝุ่นในกรุงเทพฯ ช่วงที่ผ่านมาอยู่แล้ว



ส่วนงานก่อสร้างที่ยังต้องติดตาม คือ เส้นทางพระราม 2 ช่วงเขตบางขุนเทียน เชื่อม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เนื่องจากขณะนี้ยังคงมีงานก่อสร้างส่วนต่อขยายช่องทางจราจรกว่า 11 กิโลเมตร รวมถึงปีนี้ ยังมีการก่อสร้างทางด่วนทับซ้อนแนวเส้นทางที่กำลังก่อสร้าง รวมระยะทางอีก 25 กิโลเมตร ซึ่งทางจังหวัดและกรมทรวงหลวง รวมถึงหน่วยงานเกี่ยว อาจต้องหามาตรการร่วมกันในการช่วยกันลดฝุ่นที่จะเกิดขึ้นในช่วงความเสี่ยง 7-10 ม.ค.63 นี้ด้วย รวมถึงระยะยาวที่ในพื้นที่ยังคงมีงานก่อสร้างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีนี้


ยังคุมเวลารถบรรทุก - ตรวจจับควันดำ

ส่วนมาตรการคุมเข้มเวลาสัญจรของกลุ่มรถบรรทุกที่ผ่านเส้นทางเข้ากรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเส้นทางพระราม 2 และเส้นทางอื่นๆ ยังขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร กวดขันเวลาที่ห้ามรถบรรทุกวิ่งผ่านตามกฎหมายกำหนด เพื่อลดปริมาณการติดขัดสะสมของสภาพการจราจร รวมถึงขอให้ยังคุมเข้มมาตรการตรวจจับควันดำรถยนต์ส่วนบุคคล และ รถโดยสารสาธารณะ ที่ถือเป็นมาตรการที่ดำเนินการต่อเนื่องมา 3 เดือนแล้ว ตั้งแต่ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ซึ่งช่วงนั้นตรวจสอบควันดำได้กว่า 44,000 คัน โดยจำนวนนี้ร้อยละ 30 เป็นกลุ่มรถบรรทุก และร้อยละ 20 เป็นกลุ่มรถยนต์กระบะ


ลดวิกฤตฝุ่น ลดใช้รถยนต์ - ลดการเผา

เมินสถานการณ์ตอนนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 - 10 ม.ค.63 ค่าฝุ่นจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นอีก และจะดีขึ้นในวันที่ 11 ม.ค.63 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวิกฤตที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญฝุ่นพิษ PM2.5 เมื่อปลายปีที่แล้ว จะพบว่าประชาชนต้องเผชิญฝุ่นพิษต่อเนื่องถึง 14 วัน แต่คาดว่าปีนี้เท่าที่ประชุมร่วมกันกับหลายฝ่าย ประชาชนมีความเสี่ยงต้องเผชิญฝุ่นพิษในระยะ 7-8 วัน ซึ่งยืนยันว่า ตอนนี้ทุกหน่วยงานทำหน้าที่กันอย่างเต็มกำลัง จึงทำให้ช่วงปลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์ฝุ่นที่วิกฤตดีขึ้นได้ แต่ตอนนี้ก็ต้องเร่งทั้งการแจ้งเตือนประชาชน และการขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันทำหน้าที่ของตัวเองในการกำกับดูแลให้เข้มงวด และต้องขอความร่วมมือประชาชนลดใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อช่วยกันลดปริมาณฝุ่นด้วยเช่นกัน

ส่วนต่างจังหวัดและปริมณฑล ก็ขอให้ลดการเผาไหม้ในพื้นที่โล่งแจ้ง และหากมีปัญหาหรือพบเห็นการเผาไหม้ขอให้ติดต่อมาได้ที่กรมควบคุมมลพิษ หรือ ทางจังหวัดเพื่อจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาลดฝุ่นกระทบด้านฝุ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (7 ม.ค.63) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะรายงานความคืบหน้าแผนปฏิบัติการภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านฝุ่น ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย หลังจากวันนี้ได้รับฟังการรายงานข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษเมื่อช่วงเย็น รวมถึงขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลการวัดค่าฝุ่น จากแอพลิเคชั่น " Air4Thai" ของกรมควบคุมมลพิษเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน


https://news.thaipbs.or.th/content/287686

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม